เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ทีมแพทย์ชาวอเมริกันประสบความสำเร็จผสมเทียมทารก ด้วยการโอนถ่ายนิวเคลียส ทำให้เด็กที่เกิดมามีดีเอ็นของ 3 คน ทั้งพ่อ แม่ และผู้บริจาคไข่ซึ่งนับเป็นรายแรกของโลกโดยวิธีนี้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองไมอามี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ว่า ทีมแพทย์นำโดยนายจอห์น จาง จากศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากนิวโฮปเฟอร์ทิลิตี ในนครนิวยอร์กของสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือคู่สามีภรรยาชาวจอร์แดนในการมีบุตร ด้วยวิธีการที่ทำให้ทารกที่เกิดมามีดีเอ็นเอของทั้งพ่อ แม่ และหญิงผู้บริจาคไข่ เรียกได้ว่าเป็นผลผลิตทางพันธุกรรมของทั้ง 3 คน ซึ่งนับเป็นรายแรกของโลกโดยวิธีนี้

ทีมแพทย์เตรียมเผยความสำเร็จดังกล่าวอย่างเป็นทางการในการประชุมสมาคมเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์อเมริกัน (American Society for Reproductive Medicine) ที่รัฐยูทาห์ของสหรัฐในเดือนหน้า ขณะที่บทคัดย่อของงานวิจัยครั้งนี้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารด้านการแพทย์เฟอร์ทิลิตี แอนด์ สเตอริลิตี (Fertility and Sterility) และมีการรายงานในวารสารนิวไซแอนทิสต์ (New Scientist) เช่นกัน

คู่สามีภรรยาชาวจอร์แดนให้กำเนิดทารกเพศชายเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ที่ประเทศเม็กซิโก เนื่องจากวิธีการดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐ รายงานระบุว่า หญิงชาวจอร์แดนผู้เป็นมารดา มีดีเอ็นเอที่จะทำให้ทารกที่เกิดมามีอาการของโรคลีห์ (Leigh syndrome) หรือความผิดปกติทางระบบประสาทขั้นรุนแรงที่มักทำให้เด็กที่เกิดมาเสียชีวิตภายในไม่กี่ปี ซึ่งลูก 2 คน ก่อนหน้านี้ของเธอก็เสียชีวิตลงด้วยวัยเพียง 8 เดือน และ 6 ปี และเธอยังมีประวัติการแท้งบุตรอีก 4 ครั้ง

เทคนิคดังกล่าวคือการดึงเอาดีเอ็นเอที่ปกติของแม่จากส่วนของนิวเคลียสของไข่ เหลือทิ้งไว้เพียงดีเอ็นเอที่ผิดปกติในส่วนที่เรียกว่าไมโทคอนเดรีย (Mitocondria) ซึ่งอยู่นอกนิวเคลียส จากนั้นจึงนำดีเอ็นเอที่ปกติดังกล่าวย้ายไปใส่ในไข่ของผู้บริจาค ก่อนจะนำไปผสมกับอสุจิของพ่อ ซึ่งแม้ตัวอ่อนจะมีดีเอ็นเอของผู้บริจาค แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก รายงานระบุว่า ตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ของผู้เป็นแม่ซึ่งมีอายุ 36 ปี เป็นไปอย่างราบรื่น โดยไข่ที่ได้รับการผสม 1 จาก 5 ฟอง สามารถนำไปใช้ได้

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้วอังกฤษเป็นประเทศแรกที่มีอนุญาตให้ใช้วิธีที่มีลักษณะคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในครั้งนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเรื่องความปลอดภัย ซึ่งยังคงต้องติดตามผลเฝ้าดูอาการของเด็กจากนี้ต่อไปอีกหลายปี แม้จะเป็นกรณีแรกของทารกที่มีดีเอ็นเอจากผู้ให้กำเนิด 3 คน ด้วยวิธีการนี้ แต่เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 เคยมีกรณีทารกจากการผสมเทียมที่มีดีเอ็นเอของ 3 คน เช่นกัน แต่ด้วยเทคนิคที่ต่างออกไป

http://www.dailynews.co.th/