ความอิจฉาริษยาคือ “ไม่พอใจหรือเจ็บใจที่เห็นคนอื่นได้ดีและอยากได้อยากมีอย่างเขาบ้าง” ความอิจฉาริษยาเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่สามารถทำลายชีวิตและความสุขของคนเราได้ ความอิจฉาอาจเกิดขึ้นได้อย่างไร? เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเริ่มมีนิสัยแบบนี้? และเราจะเอาชนะนิสัยนี้ได้อย่างไร?
สารานุกรมเล่มหนึ่ง (Encyclopedia of Social Psychology ) ให้ข้อสังเกตว่า ผู้คนมักจะอิจฉาคนที่มีอะไร ๆ เท่าเทียมกับตัวเอง ไม่ว่าจะอายุ ประสบการณ์ หรือฐานะทางสังคม เช่น พนักงานขายอาจอิจฉาเพื่อนพนักงานขายที่ประสบความสำเร็จมากกว่าเขา แต่เขาอาจไม่อิจฉานักแสดงที่มีชื่อเสียง
ตัวอย่างเช่น ข้าราชการระดับสูงหลายคนในอาณาจักรเปอร์เซียโบราณไม่ได้อิจฉากษัตริย์ แต่อิจฉาริษยาดานิเอลซึ่งเป็นข้าราชการที่ฉลาดหลักแหลม พวกเขาคงไม่มีความสุขแน่ ๆ เห็นได้จากการที่พวกเขาวางแผนจะฆ่าดานิเอล แต่ก็ไม่ สำเร็จ สารานุกรมที่อ้างถึงก่อนหน้านี้บอกว่า “ควรจำไว้ว่าความอิจฉาริษยาทำให้คุณอยากทำร้ายคนอื่น เหตุการณ์ที่รุนแรงหลายครั้งในประวัติศาสตร์จึงมักเกี่ยวโยงกับความริษยา”
ความอิจฉาริษยาสามารถทำให้คนเราหมดความยินดีและไม่เห็นค่าสิ่งดี ๆ ในชีวิต
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นคนขี้อิจฉา? ลองถามตัวเองว่า ‘ถ้าเห็นเพื่อนได้ดีฉันไม่มีความสุขไหม? ถ้าลูกพี่ลูกน้อง เพื่อนนักเรียนที่เก่ง ๆ หรือเพื่อนร่วมงาน ทำบางอย่างผิดพลาดล้มเหลว ฉันสะใจไหม?’ ถ้าคุณตอบว่า “ใช่” ก็แสดงว่าคุณเริ่มเป็นคนขี้อิจฉาแล้ว สารานุกรมยังบอกอีกว่า “ความอิจฉาริษยาสามารถทำให้คนเราหมดความยินดีและไม่เห็นค่าสิ่งดี ๆ ในชีวิต . . . นิสัยแบบนี้ทำให้ไม่ค่อยมีความสุข”
เราเอาชนะนิสัยขี้อิจฉาได้โดยพัฒนาความอ่อนน้อมถ่อมตนจากใจจริง คุณลักษณะนี้จะช่วยให้เรารู้สึกยินดีและเห็นคุณค่าความสามารถของคนอื่นรวมทั้งสิ่งดี ๆ ที่เขามี คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ไม่ทำอะไรด้วยน้ำใจชิงดีชิงเด่นหรือด้วยความถือดี แต่ให้ถ่อมใจถือว่าคนอื่นดีกว่าตัว”