สายตาคนรักดวงดาวห้ามพลาด! คืนวันศุกร์ที่ 3 มกราคม 2568 ตั้งแต่เวลา 02:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันเสาร์ที่ 4 มกราคม 2568 จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกควอดรานติดส์” ซึ่งเป็นหนึ่งในฝนดาวตกสำคัญช่วงต้นปี ที่คนไทยสามารถชมได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ
ศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกควอดรานติดส์จะอยู่ระหว่าง กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules), กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ (Boötes), และกลุ่มดาวมังกร (Draco) โดยเริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปีนี้คาดการณ์ว่าฝนดาวตกจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 80 ดวงต่อชั่วโมง และเนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน ท้องฟ้าจะมืดสนิท เหมาะแก่การสังเกตการณ์
จุดเด่นของฝนดาวตกควอดรานติดส์
ฝนดาวตกควอดรานติดส์เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 28 ธันวาคม – 12 มกราคม โดยเฉพาะคืนวันที่ 3 – 4 มกราคม จะเป็นช่วงที่มีการตกหนาแน่นที่สุด สาเหตุเกิดจากโลกโคจรตัดผ่านสายธารเศษอนุภาคที่หลงเหลือจากดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) ซึ่งเดินทางผ่านเข้ามาในระบบสุริยะทุก 5.5 ปี เศษฝุ่นและหินเหล่านี้ถูกแรงดึงดูดของโลกดูดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ เผาไหม้จนเกิดแสงวาบที่เรียกว่าดาวตก
ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป เพราะจะตกเป็นกลุ่มในทิศทางเดียวกัน โดยมีจุดศูนย์กลางการกระจายที่เรียกว่า Radiant ซึ่งในกรณีนี้คือจุดที่เคยเป็นตำแหน่งของกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือกลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ แม้กลุ่มดาวนี้จะถูกยกเลิกในแผนที่ดาวปัจจุบัน แต่จุดศูนย์กลางยังคงอยู่ระหว่างกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส คนเลี้ยงสัตว์ และมังกร
คำแนะนำการชมฝนดาวตกควอดรานติดส์
- เลือกสถานที่ที่มีท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน
- หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อจับตาแสงวาบของฝนดาวตก
- ไม่จำเป็นต้องใช้กล้องส่องทางไกล เพราะสามารถชมได้ด้วยตาเปล่า
เตรียมตัวให้พร้อม แล้วอย่าพลาดโอกาสชมปรากฏการณ์สุดพิเศษนี้ในคืนวันศุกร์ที่จะถึง รับรองว่าคุณจะได้สัมผัสความงดงามของฟากฟ้าในช่วงต้นปีใหม่อย่างน่าประทับใจ! 🌠
ข่าวที่น่าสนใจ
เพื่อนแท้ไม่เคยห่างหาย!! แอน ทองประสม โผกอด นัท มีเรีย กิ๊ก สุวัจนี พร้อมข้อความซึ้งใจ
วงการบันเทิงสุดช็อก! โก๊ะตี๋ ประกาศจบรัก 12 ปี หลังแต่งงานได้เพียงปีเดียว
by TVPOOL ONLINE