เรื่องราวนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในคลับ “HerKid รวมพลคนเห่อลูก” โดยคุณแม่น้องข้าวฟ่าง คุณแม่ HerKid ได้ออกมาแชร์อุทาหรณ์จากประสบการณ์ที่ตนเองได้เจอว่า น้องข้าวฟ่างป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา และมีอาการตาบวมจนน่าตกใจ สุดท้ายหมอบอกว่า ไซนัสลงตาหากมาช้ากว่านี้น้องอาจตาบอดได้!!! ไปฟังประสบการณ์ของคุณแม่น้องข้าวฟ่างกันเลยค่ะ
คุณแม่น้องข้าวฟ่าง “อยากมาแชร์ประสบการณ์ที่เราเจอมาค่ะ คือเรื่องมีอยู่ว่า ลูกเราเป็นไข้หวัดธรรมดา ซื้อยามากินก็ไม่ดีขึ้น จากนั้นเริ่มมีน้ำมูกสีเขียว น้ำตาเริ่มไหล จึงคิดว่าลูกคงไม่สบายตัว พอตอนเย็นมาตาเริ่มบวมแดง แต่ไม่มาก จึงคิดว่าไม่มีอะไร น้องคงเอามือถูตา แต่น้องเล่นได้ กินข้าวได้ ไม่งอแง
พอวันที่2 ยังมีไข้ มีน้ำมูก ตาเริ่มบวมเยอะขึ้น เราคิดว่าคงไม่ดีแน่ถ้าปล่อยไว้ เราเอาลูกไปคลีนิค หมอให้ยาแก้อักเสบ ยาลดบวมมาให้ ตกตอนกลางคืน น้องเริ่มซึม ตาไม่ดีขึ้น กินนมไม่ได้ เราจึงไปโรงบาลตอน 5ทุ่ม พอไปถึงหมอให้แอดมิดนอนโรงบาลเลยค่ะ หมอบอกว่าอันตรายมากถ้ามาช้าหรือรออาจทำให้ตาบอดได้
พอหมอตรวจเสร็จ หมอบอกว่า น้องติดเชื้อไซนัสอักเสบลงตา ทำให้น้องตาบวม ต้องล้างจมูกโดยใช้เครื่องล้าง ต้องฉีดยาฆ่าเชื้อ พอนอนโรงบาลหมอฉีดยาฆ่าเชื้อให้ค่ะ แต่ยังไม่ดีขึ้น หมอจึงเปลี่ยนยาเป็นอีกตัว ตาน้องเริ่มยุบลงแต่ไข้ไม่ยอมลด หมอจึงให้ยาฆ่าเชื้อแบบแรง
น้องมีอาการดีขึ้น ตายุบลง ไข้ก็หายแล้ว หมอจึงให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือวันละ 3เวลา เช้า กลางวัน เย็น ตอนนี้นอนโรงพยาบาล 15วันแล้วค่ะ ฝากเตือนแม่ๆการล้างจมูกสำคัญจริงๆค่ะ น้องได้ 1ขวบ 5เดือน”
การล้างจมูกคืออะไร? (ศูนย์ หู คอ จมูก โรงพยาบาลสุขุมวิท)
การล้างจมูก คือ การทำความสะอาดโพรงจมูกโดยการใส่หรือหยอดน้ำเข้าไปในจมูก การล้างจมูกจะช่วยชะล้างมูก คราบมูก หรือหนองบริเวณโพรงจมูก และหลังโพรงจมูกออก ทำให้โพรงจมูกสะอาด น้ำที่ใช้แนะนำให้ใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวของน้ำมูก และทำให้เชื้อโรคไม่เจริญเติบโต
การล้างจมูกมีประโยชน์อย่างไร?
ช่วยล้างมูกเหนียวข้นที่ไม่สามารถระบายออกได้เอง ทำให้โพรงจมูกสะอาด
อาการหวัดเรื้อรังดีขึ้น
ป้องกันการลุกลามของเชื้อโรคจากจมูกและไซนัสไปสู่ปอด
ช่วยลดจำนวนเชื้อโรค ของเสีย สารก่อภูมิแพ้และสารที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อสารก่อภูมิแพ้
ให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุจมูก
บรรเทาอาการคัดแน่นจมูก ทำให้หายใจโล่งขึ้น
บรรเทาอาการระคายเคืองในจมูก
การล้างจมูกก่อนใช้ยาพ่นจมูกจะทำให้ยาพ่นจมูกมีประสิทธิภาพดีขึ้น
ควรล้างจมูกเมื่อไร?
เมื่อมีน้ำมูกเหนียวข้นจำนวนมาก
ก่อนใช้ยาพ่นจมูก
วิธีล้างจมูก
ควรอุ่นน้ำเกลือก่อนการล้างจมูกเสมอ โดยให้มีอุณหภูมิพอเหมาะกับเยื่อบุจมูก การใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกหลังการล้างได้ การอุ่นน้ำเกลือสามารถทำได้โดยต้มน้ำประปาให้เดือดในหม้อต้ม ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่สามารถใส่ขวดน้ำเกลือเพื่อลงไปอุ่นได้ หลังจากนั้นปิดไฟ แล้วนำขวดน้ำเกลือใส่ลงไปแช่ในน้ำเดือดประมาณ 5 นาที (ขวดน้ำเกลือที่ซื้อมาจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา สามารถทนความร้อนได้) แล้วนำขวดน้ำเกลือนั้นขึ้นมาเทน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาด หรือเทน้ำเกลือจากขวดน้ำเกลือใส่ถ้วย หรือภาชนะสะอาดแล้วนำไปอุ่นในเตาไมโครเวฟ ก่อนนำน้ำเกลือที่อุ่นแล้วนั้นมาล้างจมูก ควรทดสอบกับหลังมือเสียก่อน น้ำเกลือควรจะอุ่นในขนาดที่หลังมือทนได้
สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูกและบ้วนเสมหะเองไม่ได้
1.ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด
2.เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา หรือใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม
3.ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
4.ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันการสำลัก
5.จับหน้าให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2 –3 หยด หรือค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้างโดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิด ด้านบนของรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ ครึ่ง (0.5) ซีซี (หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการหยด หรือฉีดน้ำเกลือดังกล่าวข้างต้นได้)
6.ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูกลึกประมาณ 1 – 1.5 ซม. ค่อย ๆ ปล่อยมือที่บีบออกช้าๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดง บีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู
7.ทำซ้ำหลายๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
8.ในกรณีที่รู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออก ให้สอดลูกยางแดงลึกถึงประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นให้ไอ และทำการดูดเสมหะเหมือนที่กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยระหว่างดูดเสมหะ ให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก
สำหรับเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้
1.ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย
2.ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น และค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 – 1 ซีซีหรือเท่าที่เด็กทนได้ (หรืออาจใช้น้ำเกลือในรูปสเปรย์พ่นจมูกซึ่งมีจำหน่าย พ่นเข้าไปในจมูกเด็ก แทนการฉีดน้ำเกลือ) พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง
3.สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง (ไม่ควรอุดรูจมูกอีกข้าง)
วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูก
ล้างอุปกรณ์ที่ใช้ล้างจมูกให้สะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง ด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาล้างจาน ล้างด้วยน้ำประปาจนหมดน้ำสบู่ ผึ่งให้แห้ง
ควรล้างจมูกบ่อยแค่ไหน? อย่างน้อยวันละ 2 ครั้งช่วงตื่นนอนตอนเช้า และก่อนเข้านอน หรือเมื่อรู้สึกว่ามีน้ำมูกมาก แน่นจมูก หรือก่อนใช้ยาพ่นจมูก แนะนำให้ทำในช่วงท้องว่าง เพราะจะได้ไม่เกิดอาการอาเจียน
เมื่อลูกรักป่วย คุณพ่อคุณแม่อย่านิ่งนอนใจนะคะ ให้รีบพาไปหาหมอดีที่สุด ขอขอบคุณประสบการณ์ที่มีประโยชน์จากคุณแม่น้องข้าวฟ่างด้วยค่ะที่ออกมาเตือนแม่ๆให้ระวังกัน
ที่มา – herkid
by TVPOOL ONLINE