กสทช.กับ ทีวีดิจิตอล
ภาระหน้าที่ของแต่ละคน
แม้จะมีคนพูดให้เข้าหูตลอดมาว่า ทีวีบ้านเราเยอะเกินไปไม่รู้จะดูช่องไหน ทีวีดิจิตอลที่เกิดใหม่ 24 ช่องก็ลานตาไปหมดไม่รู้จะเลือกดูช่องใดบ้าง ในที่สุดก็ต้องกลับมาวนเวียนดูช่องเคยชินคือ 3-5-7-9 ดั่งเดิม
แต่ในความเป็นจริงของวงการทีวีแล้ว 1 ปีกว่าๆ เกือบ 2 ปี ที่มีทีวีดิจิตอลขึ้นมา บริษัทสำรวจทางการตลาดระบุชัดเจนว่าปริมาณผู้ชม ทีวีอนาล็อกเดิม (3-5-7-9-NBT-TPBS) มีปริมาณเรทติ้งลดลง (แม้จะมีเรทติ้งดีกว่าทีวีดิจิตอล) แต่ทีวีดิจิตอลหลายช่องก็มีปริมาณคนดูมากขึ้น ขายโฆษณาได้ราคามากกว่าเดิมทุกปี
หลายช่องมีผลประกอบการกำไร มีตัวเลขสูงขึ้นในทุกไตรมาสนั่นแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ที่น่าสังเกตก็คือในทีวีอนา ล็อกที่เรทติ้งยังยืนแกว่งอยู่ ขายโฆษณาได้ราคาดีอยู่คือรายการละครเท่านั้น
ครับ…ย้ำว่า “ละครเท่านั้น” เพราะรายการ อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวาไรตี้-เกมโชว์และข่าวสารสาระ ทีวีดิจิตอลทำรายการได้ไม่แพ้เลย
ไม่ว่าช่องไทยรัฐ, ช่องเวิร์คพอยท์ ช่องเนชั่น ช่องTNN24, ช่องทรู 4 ยู ฯลฯ… ทุกสถานีมีแฟนคลับของตัวเองค่อนข้างแข็งแรง
พฤติกรรมผู้บริโภคหรือผู้ชมทีวีในเมืองไทย 90% ไม่ว่าในกทม. หรือต่างจังหวัดต่างดูทีวีผ่่านกล่องเคเบิ้ลทีวีไม่ว่าจะแบรนด์ใดๆ ทั้ง TRUE VISION, PSI, IPM, CTH หรือเคเบิ้ลทีวีท้องถิ่นตามแต่ละภูมิภาค ทั้ง เจริญเคเบิ้ล, ทั้งบางละมุง ฯลฯ
เหตุเพราะเคเบิ้ล-ดาวเทียม ออกอากาศด้วยระบบดิจิตอล HD. ภาพใสแจ๋วคมชัด…ที่สำคัญคือสามารถทำให้ดูทีวีอนาล็อกเดิมได้ชัดแจ๋วขึ้น-เพราะ ทีวีอนาล็อกคือระบบแมนนวล-ที่ล้าสมัย แต่ถูกเคเบิ้ลทีวีแปลงสัญญาณให้ออกเป็นดิจิตอลในกล่องเคเบิ้ลได้ ทำให้เคเบิ้ล-ดาวเทียมสามารถขายสมาชิกได้ง่ายขึ้น
ในกทม.ติดจานเคเบิ้ล-ดาวเทียม สาเหตุหลักคืออยากดูช่องทีวีอนาล็อก (3-5-7-9) ชัดขึ้น-แพ็คเกจการขายของเคเบิ้ลบางเจ้าที่ขายดีคือแพ็คเกจปกติ-ไม่ใช่แพ็คเกจแพงๆ ที่ต้องไปดูรายการแปลกๆ อะไรเลย
คนไทยเกือบทั้งประเทศดูทีวีจากกล่องเคเบิ้ล-ดาวเทียมไม่ใช่ดูจากเสาก้างปลา-แผงหนวดกุ้ง…การเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อก มาเป็นดิจิตอลจึงเป็นไปได้ลำบาก
กสทช. จะแจกคูปองกล่องดิจิตอล ในราคา 690 บาท ในความเป็นจริงแล้ว กล่อง 690 บาทดูไม่เสถียร ต้องมีออฟชั่นเสริมอีกมากมาย ถ้าอยากดูกล่องดิจิตอลจริงๆ ต้องจ่ายเพิ่มอีกมาก-ลองไปเปลี่ยนเองดูนะครับ จะเห็นว่ามันโคตรยุ่งยาก…
คนที่มีกล่อง TRUE-PSI, CTH อยู่แล้ว เขาก็ดูในกล่องเดิมดูได้มากช่องกว่า คมชัดกว่า แล้วจะเปลี่ยนทำไม มีคือเรื่องราวที่วุ่นวายอยู่ระยะหนึ่ง…จำได้ใช่มั้ยครับ ที่สุดชาวบ้านก็ดูผ่าน ช่องทางเดิมที่เคยดูมา-ไม่สนใจกล่องของ กสทช.
ก่อนประมูลทีวีดิจิตอลช่องเวิร์คพอยท์,ช่องทีวีพูล, ช่อง VOICE, ช่องเนชั่น, ช่อง TNN 24…ฯลฯ ก็ผลิตรายการออกเคเบิ้ลทีวีอยู่แล้วเมื่อประมูลทีวีดิจิตอลได้ ก็สลับสวิทช์เป็นทีวีดิจิตอลเลย โดยใช้คอนเทนต์เดิม พนักงานเดิม ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้มากขึ้น-มากขึ้นคือเงินประมูลที่จ่ายให้กับกสทช. เท่านั้นเอง
เวิร์คพอยท์เป็นสถานีอันดับ 1 ของทีวีดิจิตอล-เพราะเอารายการเก่าๆ จากการที่เป็นผู้ผลิตรายการใหญ่มาออนแอร์ เรียกว่าดังเป็นอันดับ 1 ตั้งแต่เป็นเคเบิ้ล มาเป็นดิจิตอลก็ลงทุนเพิ่มนิดเดียว
หน้าที่ของทีวีดิจิตอล คือ ทำคอนเทนต์ตัวเองให้ดีๆ ซึ่งแต่ละช่องก็ทำกันอยู่แล้ว จนเห็นว่าทีวีดิจิตอลหลายๆ ช่องมีคุณค่ามหาศาล ใครจะบอกว่า ทีวีดิจิตอลจะอยู่ได้ไม่เกิน 4-5 สถานี แต่ผมยังยืนยันว่า “ทุกช่องอยู่ได้” ถ้า…
ถ้า…กสทช. ใช้อำนาจที่ตัวเองมีให้เป็น และวิสัยทัศน์ในการพาระบบโทรทัศน์ให้เติบโตได้ในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่ต่างคนต่างมา คิดไปคนละทิศละทาง ไม่รู้ใครใหญ่จริง ไม่รู้ใครมีอำนาจในการสั่งการทำให้ทีวีดิจิตอล ซึ่งมีมูลค่าหลายหมื่นล้าน ต้องผูกชะตาไว้กับกลุ่มบุคคลที่คิดไปคนละทาง ทุกปัญหาไม่เคยแก้ได้สักอย่างเดียว
มีอย่างเดียวที่ว่าทำดีที่สุด คือตามเรียกเก็บเงินผู้ประมูลแต่ไม่เคย ถามตัวเองว่าสิ่งที่กลุ่มทีวีดิจิตอลประมูลไปได้พวกเขาเผชิญชะตากรรม เช่นใดบ้าง
แค่แก้เรื่องทีวีอนาล็อก- ที่มีสัญญาสัมปทานค้างอยู่ถึงปี 2563 กับการจะให้เขาอยู่แบบไหน อย่างไร จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานก็ทำไม่ได้ จึงส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านอนาล็อกมาดิจิตอลจึงเป็นอยู่อย่างที่เห็นกันในปัจุจบัน-ไม่ต้องรวมเรื่องการแจกกล่อง เรื่องโครงข่ายอีกสารพัด
เพียงแค่กสทช.เข้าใจอำนาจตัวเอง ใช้อำนาจตัวเองเป็นและเข้าใจศึกษาวิจัยธุรกิจโทรทัศน์ก่อนมารับงาน หาทางออกให้เป็น ไม่ใช่ให้ชาวบ้านมองว่าหน่วยงานเดียวกัน แต่คนทำงานแบ่งเป็นพรรคเป็นพวก พายเรือคนละมุมเรือ มันจึงวนอยู่ในอ่าง ไปไม่ถึงไหนเลย
บทบาทของกสทช.-กสท.ในวันนี้ อาจไม่ได้สรุปจบในแบบที่ท่านคิดก็ ได้ เอาว่าเกมธุรกิจไม่มีใครโง่กว่าใครอย่างแน่นอน ขอให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้รู้จักภาระหน้าที่ของตัวเอง ก็จะรู้ว่าผู้สร้างปัญหาคือใคร
Tony Aigner
by TVPOOL ONLINE
