เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ใครจะคาดคิดว่า ณ วันนี้ช่อง 3 จะย่ำแย่ลงขนาดนี้ ก่อนหน้านี้ เป็นที่รู้กันว่าช่อง 3 เป็นรองก็เพียงแค่ช่อง 7 แต่ทุกวันนี้โลกหมุนไปไกลแล้ว ผู้บริโภคมีช่องทีวีใหม่ๆ เป็นทางเลือกมากยิ่งขึ้น และด้วยดูเหมือนว่าคอนเทนต์ในทุกๆ หมวด พร้อมใจกันอยู่ในจุดวิกฤต เรตติ้งไม่ปังเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ตอนนี้ ช่อง 3 คงถึงขั้นวิกฤติจริงๆ

คงไม่มีใครคิดว่าช่อง 3 จากเคยมีรายได้นับหมื่นล้าน กลับขาดทุน และมีข่าวเลิกจ้างพนักงาน รวมไปถึงเรื่องราวของพี่น้องก่อนหน้านี้ ที่พี่ “ประวิทย์ มาลีนนท์” เลือกทิ้งหุ้นช่อง 3 หมดแล้ว แต่ก็เกิดขึ้น หลังจากมีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น จนปัจจุบันมีฟรีทีวีกว่า 20 ช่องให้ผู้ชมเลือกดู ตั้งแต่ปี 2557 รายได้ของช่อง 3 ก็ลดลงเรื่อยๆ จากกำไรก็กลายเป็นขาดทุน โดยเฉพาะปี 2560-2561 ที่ไตรมาส 4 ปี 2560 ขาดทุน 335 ล้านบาท ไตรมาส 1 ปี 2561 ขาดทุน 126 ล้านบาท และไตรมาส 2 ปี 2561 ขาดทุน 22.6 ล้านบาท แม้ไตรมาส 3 ปี 2561 จะมีกำไร 78.3 ล้านบาท แต่ 9 เดือนแรกของปี 2561 ก็ยังขาดทุน 70.2 ล้านบาท

ขณะเดียวกันราคาหุ้นของช่อง 3 (BEC) ก็ลดลงมาประมาณ 10 เท่า  จากที่เคยอยู่ในระดับราคา 51 บาท ในสิ้นปี 2557 มา ณ​ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2561 ราคาเหลือเพียง 5.35 บาทเท่านั้น

แน่นอนว่าเมื่อรายได้ลด ขาดทุน ก็ต้องลดต้นทุน ช่อง 3 มีโปรแกรมให้พนักงานสมัครใจลาออกตั้งแต่ต้นปี 2561 มาแล้วครั้งหนึ่ง จนล่าสุดเดือนนี้ช่อง 3 ประกาศเน้นให้พนักงานที่อายุเกิน 60 ปี สมัครโปรแกรมลาออก จากเดิมที่พนักงานกลุ่มนี้ อยู่ทำงานได้ไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้ ในระดับเจ้าของและผู้บริหารระดับสูง ที่นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2561 ก็ไม่มีชื่อของคนในบ้านทั้ง นายประวิทย์ มาลีนนท์ และลูกๆ ของนายประวิทย์ ถือหุ้นในช่อง 3 อีกเลย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของช่อง 3 ปัจจุบัน จึงมีน้องๆ และหลานๆ ถือหุ้นใหญ่ หลังจากนายประวิทย์ถอนหุ้น และไม่ได้บริหารมาระยะหนึ่ง น้องชายคนเล็กคือ นายประชุม มาลีนนท์ ก็นั่งบริหารแทน ขณะที่ นายประวิทย์ เข้าไปร่วมทำธุรกิจกับบริษัทที่รับผลิตรายการ และหนังให้ช่อง 3 อย่างเช่น ร่วมกับบริษัทเซิร์ช เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผลิตหนังเรื่องนาคี 2

เมื่อนายประชุมเข้ามาบริหารเต็มตัวตั้งแต่ต้นปี 2560 ก็มีดึงคนนอกเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงในสายงานสำคัญ ในระดับหัวหน้าคณะผู้บริหาร และหลายคนเมื่อครบวาระ 1 ปี ก็ไม่ได้ต่อสัญญาจ้าง หรือขอลาออกเอง เช่น ฝ่ายวิจัย ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ ฝ่าบริหารทรัพยากรบุคคล สายงานเทคโนโลยี และสื่อใหม่

หลายคนต่างตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับช่อง 3 ที่ถือเป็นแถวหน้าของทีวีดิจิทัล เมื่อรายใหญ่ยังต้องกัดฟันจัดโครงการเออร์ลี่รีไทร์พนักงาน แล้วทีวีดิจิทัลค่ายอื่น ๆ ล่ะ ?

แหล่งข่าวจากวงการทีวีดิจิทัลวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับช่อง 3 ว่า เป้าหมายหลักอยู่ที่เรื่องของการลดต้นทุน เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ทีวีดิจิทัลมีต้นทุนอยู่ 3 ก้อนใหญ่ คือ ค่าโครงข่าย คอนเทนต์ และบุคลากร
ที่สำคัญ ต้นตอหลักมาจากเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักไม่ได้โตขึ้น และจากพฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไป รวมถึงถูกสื่อออนไลน์แย่งความสนใจ และแย่งเรตติ้งไป จึงทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าโฆษณาได้ และส่งผลให้เม็ดเงินในสื่อทีวีที่แม้จะเป็นสื่อหลักกลดลงตามไปด้วย ซึ่งสวนทางกับจำนวนช่องที่มีมาก

สอดรับกับแหล่งข่าวจากธุรกิจทีวีดิจิทัลรายใหญ่อีกรายหนึ่งที่ยอมรับว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีมาตรการเยียวยามาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อกลางปีที่ผ่านมา แต่ถึงวันนี้สถานการณ์ทีวีดิจิทัลก็ยังไม่ดีขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี เม็ดเงินโฆษณาก็ไม่ได้โตขึ้น หรือยังคงมูลค่าเท่าเดิม คือ 60,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวหาร หรือจำนวนช่องเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้หลาย ๆ ค่ายต่างพยายามปรับลดต้นทุน ทั้งเรื่องการผลิตคอนเทนต์และบุคลากร

ขณะที่แหล่งข่าวจากมีเดียเอเยนซี่ระบุว่า ภาพรวมของโฆษณาทีวีไม่ได้โตขึ้น เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว สินค้าเปลี่ยนรูปแบบโฆษณา อีกทั้งพฤติกรรมการดูทีวีก็เปลี่ยนไป สะท้อนจากเรตติ้งทีวีปีนี้ที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องใหญ่ ทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่เรตติ้งแกว่งมาก ซึ่งทำให้ไม่สามารถขึ้นค่าโฆษณาได้มาหลายปีแล้ว ตรงกันข้ามกลับต้องลด แลก แจก แถม เพื่อดึงลูกค้าให้มาลงโฆษณา ซึ่งต่างจากช่วงก่อนมีทีวีดิจิทัลที่ช่องใหญ่สามารถปรับขึ้นโฆษณาเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง

แต่นั่นก็เป็นเสมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเม็ดเงินโฆษณาที่เป็นรายได้หลักของทีวีไม่ได้โตขึ้น แต่ช่องมากขึ้น สุดท้ายช่องทีวีก็ยังต้องสำลักกับปัจจัยลบที่เกิดขึ้นต่อ แบบไม่รู้จบ งานนี้ถ้าไม่ปรับตัวให้ได้ ช่อง 3 ที่เคยยิ่งใหญ่อาจจะมีข่าวคราวช็อกโลกให้กับคนไทยก็เป็นไปได้