เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

“อังคณา” ติงทหาร กรณีใช้อาวุธปืนเด็ดหัวโจรใต้ แนะควรใช้มาตรการจับกุมจากเบาไปหาหนัก โดยเริ่มเจรจากับผู้ต้องหา เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เข้ามอบตัว ชี้ ! การกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในหมู่สิทธิมนุษยชน

มีรายงานว่า นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมนายลุกมาน มะดิง อายุ 29 ปี ซึ่งเป็นบุคคลตามหมายจับ ป.วิอาญา หลายคดีที่มาหลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้านเลขที่ 163 ม.4 ต.บือมัง อ.รามัน จ.ยะลา ว่า เรื่องการจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือยุทธวิธีต่างๆของเจ้าหน้าที่ ทางกรรมการสิทธิฯเคยมีข้อเสนอแนะไปหลายครั้งว่า ต้องคำนึงถึงสัดส่วนการใช้อาวุธ อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการตกลงกันว่าให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการจับกุมจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากให้ผู้นำชุมชนหรือผู้นำศาสนาเข้าไปเจรจากับผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่และจะได้นำตัวมาสอบสวนขยายผลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หากไม่ได้ผลจริงๆจึงจะดำเนินการขั้นต่อไป

นางอังคณา กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีการวิสามัญฆาตกรรมนายลุกมานนั้น เบื้องต้นทราบว่ามีการปะทะ แต่ยังไม่มีข้อมูลอะไร ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการปะทะนั้นหมายถึงอะไร และเท่าที่ทราบในฝั่งของเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ เราพยายามสอบถามแต่ก็ยังไม่มีเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากในหมู่สิทธิมนุษยชน และสิ่งหนึ่งของการปะทะที่เป็นหลักสากลคือการได้สัดส่วนการใช้อาวุธ

นางอังคณา กล่าวถึงข้อซักถามว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังกว่า 50 นาย ในการเข้าปฏิบัติการจับกุมในครั้งนี้ถือว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ว่า เจ้าหน้าที่จะนำกำลังไปมากขนาดไหน ไม่เป็นไร เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าในพื้นที่จะมีผู้ถูกกล่าวหรือผู้ต้องหาอยู่มากกว่า 1 คนหรือไม่ คือเจ้าหน้าที่ไปเยอะไม่เป็นไร แต่การใช้อาวุธต้องได้สัดส่วน และเท่าที่ตนทราบที่แม่ทัพภาค 4 แถลงคือมีการต่อสู้ แต่ก็ยังไม่พบว่าฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมีความเสียหาย ทีนี้สิ่งที่ชาวบ้านพูดก็จะพูดออกไปอีกแบบหนึ่ง จึงมีความกังวลและอยากให้รัฐระมัดระวังเพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีเจ้าหน้าที่หน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปบันทึกภาพ นางอังคณา กล่าวว่า ภาพที่ออกมาเป็นภาพความเสียหายของตัวบ้านซึ่งผนังบ้านเป็นรูเต็มไปหมด ส่วนตนพยายามจะหาดูภาพศพของนายลุกมานก็ยังไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร และถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปในพื้นที่ แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เจ้าหน้าที่ควรจะอนุญาตให้ผู้นำชุมชุนหรือผู้นำศาสนาที่ชาวบ้านไว้ใจเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อเป็นพยานให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

“เรื่องนี้เป็นเรื่องนี้ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในเรื่องสัดส่วนของการใช้อาวุธ ซึ่งเราไม่ทราบข้อมูลว่ามีการนำผู้นำชุมชนเข้าไปร่วมด้วยหรือไม่ เรารับทราบข้อมูลจากการแถลงของแม่ทัพ และจากชาวบ้าน ซึ่งแม่ทัพบอกว่าคนที่เสียชีวิตมีหมายจับหลายหมายและมีการต่อสู้ ส่วนชาวบ้านก็มองว่าแค่คนคนเดียวทำไมถึงยิงถล่มแบบนี้ ส่วนการเสียชีวิตเราคิดว่าตำรวจก็คงต้องทำเรื่องไต่สวนการตาย โดยทั้งสองฝ่ายคงต้องนำพยานหลักฐานมาชี้แจงในศาลว่ามันได้สัดส่วนกันหรือไม่” นางอังคณา กล่าว

กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯนั้น ทางญาติของผู้เสียชีวิตยังไม่ได้เข้ามาร้องเรียน และบางครั้งเขาอาจไม่ติดใจการเสียชีวิต ทางกรรรมการสิทธิฯก็คงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งเราเคยมีข้อเสนอแนะกันไปแล้ว ในเรื่องการใช้กำลังให้ได้สัดส่วนและการใช้อาวุธ เจ้าหน้าที่จะเข้าไป 50-100 คน เราไม่ว่า แต่การใช้อาวุธมันต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความไว้วางใจที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติสุข