เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จากปัญหาวิกฤตฝุ่นละออง PM2.5 ทำให้อากาศแย่ทั่ว กทม. ดูเหมือนว่าปัญหานี้ยังไม่มีวี่แววคลี่คลาย แม้หลายฝ่ายหน่วยงานรัฐพยายามเร่งหามาตรการแก้ไข วิธีหนึ่งที่ทำทุกวันตลอดเกือบ 1 เดือน คือ การฉีดพ่นละอองน้ำ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ช่วยสักเท่าไหร่ เหมือนว่าเรายังแก้ปัญหาไม่ถูกทาง

เรื่องนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด นักวิชาการและอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้กล่าวว่า

“การฉีดน้ำไม่เป็นผลทางด้านวิทยาศาสตร์เต็มร้อย แต่เป็นผลทางด้านจิตวิทยา” อาจารย์อ๊อดให้ความเห็น และเริ่มอธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ ความกดอากาศว่า จากข้อมูลแอป Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษในแต่ละพื้นที่จะมีกราฟสูงต่ำของฝุ่น PM2.5 พบว่า

ค่า PM 2.5 จะสูงในช่วงเช้ามืด จนถึง 10.00 น. เนื่องจากความกดอากาศสูงจากด้านบน ทำให้ PM 2.5 เข้มข้นสูงบนภาคพื้นดิน หลังจากนั้นช่วงเวลา เที่ยง บ่ายๆ ก็จะเจือจางเพราะอากาศร้อนขึ้น เพราะอากาศขยายตัว ความกดอากาศสูงก็จะไม่แรง จะกระจายขึ้นไปข้างบนทำให้ ค่า PM 2.5 น้อยลง

ซึ่งการฉีดน้ำไล่ฝุ่นที่ผ่านมายังได้ผลไม่เต็มที่ หลังฉีดน้ำฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ยังอยู่ อาจารย์อ๊อดระบุว่า เป็นการทำที่ผิดวิธี 3 ข้อ ดังนี้

1. ฉีดน้ำผิดเวลา ที่มักทำตอนบ่ายไม่เหมาะสม แนะควรฉีดตอนเช้าเพราะเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีค่าสูง

2. ฉีดน้ำในระยะเวลาที่สั้น แต่ละจุดแค่ 2 นาที

3. ความสูงของน้ำไม่ถึงระดับจับฝุ่น PM 2.5

ซึ่งความสูงของน้ำไม่ถึงระดับจับฝุ่น PM 2.5 ได้นี้ อาจารย์อ๊อดอธิบายเพิ่ม ตามหลักวิทยาศาสตร์ โดยอ้างอิงผลงานวิจัยของวิศวกรชาวรัสเซีย ดร.อาซารอฟ (Azarov) ที่ใช้หลัก Water-spray System พบว่า หากฉีดน้ำ 1 หมื่นลิตรต่อนาที ด้วยแรงดันน้ำ 200 บาร์ขึ้นไป ที่ความสูง 100 เมตร น้ำแตกตัวฟุ้งเป็นละอองฝอย แล้วละอองความชื้นจะไปเหนี่ยวนำและจับฝุ่น PM 2.5 จะลด PM 2.5 ได้ 20% ในพื้นที่ รัศมี ไม่เกิน 100 ตร.กม.

ทั้งนี้การฉีดน้ำไล่ฝุ่นที่ กทม. ทำอยู่ ไม่สามารถลดฝุ่นได้เต็มประสิทธิภาพนั้นเนื่องจาก น้ำที่ฉีดไล่ฝุ่น ฉีดสูงได้ในระดับไม่เกินสะพานลอย ซึ่งเป็นการจับฝุ่น PM 10 ที่เป็นขนาดใหญ่ แทนฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 อีกทั้งรถฉีดน้ำดับเพลิงของไทยมีหัวฉีดมากสุด 10-40 บาร์

กทม. มีตึกสูงๆ เยอะมาก ถ้าสามารถฉีดน้ำบนตึกได้จะยิ่งดี ตอนนี้มีเอกชนบางเจ้าทำแล้ว แต่ฝุ่นก็ไม่มีวันหาย ฝุ่นจะหายไปเลยต้องให้อากาศเปิด ลมพัด การเคลื่อนไหวของลมจะช่วยพัดฝุ่นให้เจือจาง มีมรสุม ฝนตก อาจจะดีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.

รัฐต้องทำเชิงรุกในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพราะตอนนี้สาเหตุฝุ่น PM 2.5 หลักๆ มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ที่ใช้ความร้อนสูงและมีแรงดัน โดยเฉพาะเครื่องดีเซล ไม่มีหัวเทียน จุดระเบิดโดยใช้แรงดัน แรงอัดปุ๊บ กลายเป็นระเบิดเซลส์เพลิง ขับเคลื่อนรถยนต์ 

แล้วน้ำมันดีเซลเมืองไทยใช้ ยูโร 4 กับยูโร 3 ซึ่งความบริสุทธิ์ของน้ำมันต่ำมาก ประเทศที่พัฒนาใช้ยูโร 5 หรือยูโร 6 แล้ว ซึ่งมีความบริสุทธิ์ของน้ำมันสูง มาตรการรัฐ ฉีดน้ำ ห้ามข้าราชการใช้รถ ให้หันมาโฟกัสรถที่ใช้ดีเซลดีกว่า อาจารย์อ๊อดกล่าว

ลดฝุ่น 100 % ต้องใช้รถดับเพลิง 392 คัน ปริมาณน้ำทั้งสิ้นเกือบ 4 ล้านลิตร 

จากข้อมูลอาจารย์อ๊อดระบุไว้ หากฉีดน้ำ 1 หมื่นลิตรต่อนาที ด้วยแรงดันน้ำ 200 บาร์ขึ้นไป ที่ความสูง 100 เมตร จะสามารถ ลด PM 2.5 ได้ 20% ในพื้นที่ รัศมี ไม่เกิน 100 ตร.กม. ฉะนั้น หากต้องการจะลด PM 2.5 ให้ได้ 100% ในพื้นที่ 100 ตร.กม. จะต้องฉีดน้ำรวม 50,000 ลิตรต่อนาที ด้วยแรงดันน้ำ 200 บาร์ขึ้นไป ที่ความสูง 100 เมตร

อย่างไรก็ดี รถดับเพลิง ของ กทม. ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด คือ 1 คัน สามารถบรรทุกน้ำได้ 10,000 ลิตร และฉีดน้ำด้วยแรงดันน้ำสูงสุดได้เพียง 40 บาร์  นั่นเท่ากับว่า หากรถดับเพลิง กทม. จะฉีดน้ำ 10,000 ลิตร หมด จะต้องใช้เวลาประมาณ 50 นาที ต่อคัน

by TVPOOL ONLINE