เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner
“นพดล ดวงพร” ได้เผยข่าวร้ายว่าแม้จะอยู่ในการรักษาของแพทย์ แต่ด้วยพยาธิสภาพของโรค ทำให้มีอาการทรุดลง และจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 4 ก.ค. เวลา 20.19 น.สิริอายุรวม 77 ปี 6 เดือน 19 วัน ขณะที่เฟซบุ๊ก “อรนุช โกศัลวัฒน์” ลูกสาวก็ได้โพสต์ข้อความอาลัย “หลับให้สบายนะคะ พ่อนพดล ดวงพร เหนื่อยมามากแล้ว ถึงเวลาได้พักสักที” นับเป็นการสูญเสียของวงการบันเทิงอีกครั้ง
นพดล ดวงพร เกิดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2484 มีชื่อจริงว่า ณรงค์ พงษ์ภาพ ที่บ้านท่าวังหิน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี บิดาเป็นหมอลำกลอน มารดาเป็นนักร้องเพลงโคราช ณรงค์ พงษ์ภาพ เคยเป็นเด็กในวงดนตรีคณะพิพัฒน์ บริบูรณ์ นานหลายปี ต่อมาได้เป็นลูกศิษย์และร่วมวงดนตรีจุฬารัตน์ของครูมงคล อมาตยกุล ซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อ นพดล ดวงพร ให้ ต่อมาได้แยกไปก่อตั้งวงดนตรี เพชรพิณทองที่โด่งดังในภาคอีสาน ในปี พ.ศ. 2514 ช่วงหลังเป็นนักแสดงภาพยนตร์และ ละครโทรทัศน์ ผลงานภาพยนตร์ -วิวาห์พาฝัน -ครูบ้านนอก (2521) – รับบทเป็น ครูใหญ่คำเม้า -หนองหมาว้อ (2522) -7 สิงห์ตะวันเพลิง (2522) -จับกัง กรรมกรเต็มขั้น (2523) – รับบทเป็น ด้วง -ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน (2523) – รับบทเป็น ไอ้จ้อย -นักสืบฮาร์ด (2525) -ครูข้าวเหนียว (2528) -คนกลางแดด (2530) -15 ค่ำ เดือน 11 (2545) – รับบทเป็น หลวงพ่อโล่ห์ ผลงานละคร -โคกคูนตระกูลไข่ -เพลงรักริมฝั่งโขง (2550) -เรไรลูกสาวป่า (2551) รางวัลเกียรติยศ -ได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532 -รางวัลสุพรรณหงส์ ประจำปี 2545 ผู้แสดงนำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง 15 ค่ำ เดือน 11 -ศิลปินมรดกอีสาน (ประเภทตลกอีสาน) ปี 2552 หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากนี้ นพดลยังได้เป็นผู้อำนวยการผลิตและสร้างสรรค์งานนำเอาประวัติศาสตร์เมืองอุบล และเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของเมืองอุบล มาบอกเล่าผ่านบทเพลง ในวาระที่เมืองอุบล ครบรอบ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อเฉลิมฉลองฉลอง ๒๐๐ ปีอุบลราชธานี โดยมีผู้ประพันธ์เพลง คือ ชลธี ธารทอง พงษ์ศัดิ์ จันทรุกขา ,ณรงค์ โกษาผล, สยาม รักษ์ถิ่นไทย ,ธนรรษต์ ผลพันธ์,ประพนธ์สุริยะศักดิ์ ,เฉลิมพร เพชรศยาม , นคร พงษ์ภาพ นับเป็นการระดมนักแต่ง นักร้อง คนเมืองอุบล และที่มีชื่อเสียง มาสร้างสรรค์เพลงเมือง รวม ๒๒ เพลง ซึ่งมีทั้งเพลงเก่าและเพลงใหม่ที่ตั้งขึ้น และบางเพลงได้มีการปรับปรุงแก้ไขใหม่ เช่นเพลงลูกแม่มูล ของครูพงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา เป็นต้น เหตุการณ์ที่เป็นความประทับใจไม่รู้ลืมของนพดลคือ ได้ยกวงไปแสดงที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น พอดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปที่นั่น และพระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่คล้ายกีตาร์ แต่ว่ามีเพียง 3 สาย ดีดได้ไพเราะมากๆ นั่นคือ พิณ ในหลวงทรงเห็นว่าเป็นของแปลกและมีเสียงที่ไพเราะมาก พระองค์ท่านทรงรับสั่งขอลองดีดดูอย่างสนพระทัยเป็นพิเศษ ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่นพดลเป็นที่สุด และสิ่งที่นพดลจำใส่เกล้าไว้ไม่มีวันลืมคือ ในหลวงทรงมีรับสั่งว่าให้รักษาศิลปะดนตรีพื้นบ้านอันนี้ไว้ให้ดีๆ นพดล ดวงพร ก้มลงกราบแทบพระบาทด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ นพดลถือว่านี่คือมงคลชีวิตที่ยิ่งใหญ่อย่างที่สุดแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อวงดนตรีตนเองเสียใหม่ จากวงนพดล ดวงพร เป็นวงเพชรพิณทอง เอาชื่อ พิณ ที่ในหลวงทรงโปรดมาเป็นมงคลนาม และหวังจะสนองพระราชปรารภของพระองค์ท่านด้วย นั่นจึงเป็นที่มาที่ไปของชื่อวง เพชรพิณทอง มาจนถึงทุกวันนี้ และสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของวง เพชรพิณทอง คือทองใส ทับถนน มือพิณอันดับหนึ่งของเมืองไทย ที่เล่นประจำอยู่กับคณะมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวง เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร คือนักรบทางวัฒนธรรมของภาค ที่เกิดขึ้นจากมันสมองและการสั่งสมประสบการณ์ของนพดล ดวงพร เป็นการมุ่งมั่น เด็ดเดี่ยวด้วยตัวของตัวเอง ไร้ผู้สนับสนุนจากหน่วยงานหรือบุคคล แต่เป็นความแน่วแน่ในอันจะจรรโลงและอนุรักษ์สิ่งดีงาม พร้อมๆ กับการผสมผสานของใหม่เข้าด้วยกัน
“แม่นแล้ว” “เบิ่งกันแหน่เด้ออาว” “น้อยทิง” “นางเอย” “เด้อนางเดอ เด๊อเด๊อนางเดอ ตึ้งๆ” อีก หลากหลายคำ อีกเป็นร้อยเป็นพันคำและวลีที่ติดหู ติดปากผู้คน ที่เพชรพิณทองไปหยิบจับจากท้องถิ่นที่อีสานเป็นและอยู่มาใช้ทำการแสดง ทำให้ผู้คนเห็นความสำคัญของคำและวลีที่ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการละเล่นแสดง ในภาคกลับมาอยู่ในความนิยม ทำให้เห็นความลึกและมิติของภาษา และนี่คือ อานุภาพของภาษา อานุภาพของวัฒนธรรม ความสำคัญอยู่ที่เกาะเกี่ยวเหนี่ยวพันคนเข้าด้วยกันด้วยภาษา เป็นทั้งเครื่องผูกพันและเป็นรหัสให้ผู้คนได้ใช้ในการปฏิสัมพันธ์กัน อาวุธสำคัญของวงดนตรีและของบุคคลผู้นี้คือการใช้ภาษาอีสาน ขณะที่สังคมอีสานกำลังเกิดความสับสนในอัตลักษณ์ของตัวเอง ท่ามกลางการดูถูกชาติพันธุ์ของสังคมไทยที่มีต่อคนลาว ต่อชาวอีสาน ซึ่งปรากฏการณ์อย่างนี้ได้ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมบนแผ่นดินอีสานตามมา คือ ได้เพาะเชื้อความรังเกียจกำพืดของตัวเอง ดูถูกตัวเอง เกลียดความเป็นลาวในสายเลือดตัว และพยายามหนีสุดชีวิตเพื่อให้พ้นไปจากความเป็นลาว เป็นคนอีสาน ด้วยการสร้างปมเขื่องให้กับตนเองด้วยการ “ไม่พูดภาษาอีสาน หรือภาษาลาว” ปรากฏการณ์อันน่าสยดสยองนี้เกิดขึ้นในทุกสังคมเมืองของอีสาน และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว แต่ท่ามกลางความเลวร้าย … เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพร ก็โผล่ออกจากเงามืด และออกมายืนท้าทาย ต่อสู้ฟาดฟัน และที่สุด นพดลและเพชรพิณทองก็ประสบชัยชนะ นำพาผู้คนในภาคและคนเชื้อสายลาวในจังหวัดอื่น แม้กระทั่ง คนลาวในต่างแดนและคนลาวในประเทศ สปป. ลาวเองก็ยังได้รับอานิสงส์และเก็บรับความภาคภูมิใจพร้อมกัน นพดล ดวงพร เป็นนักสู้ชีวิต และเป็นนักสู้ผู้ยืนหยัดในความเชื่อของตน เขาสร้าง “วงดนตรีพูดอีสาน” เพชรพิณทอง จนเป็นที่ยอมรับแก่ผู้คน สร้างศิลปินนักร้อง นักแสดงอย่างมากมาย ก่อให้เกิดรายได้ เกิดการสร้างงาน ตลอดจนมีการเผยแพร่และนำเอาศิลปะการแสดงแบบอีสานอย่างกว้างขวางและยาวนาน ตลอดจนการรับใช้สังคมโดยร่วมมือกับส่วนราชการอย่างต่อเนื่อง นพดลเป็นนักรบผู้กล้าแกร่ง และยืนหยัดต่อสู้ยาวนาน วงดนตรีเพชรพิณทอง เป็นวงดนตรีวงเดียวที่มีอายุมากที่สุด สามารถยืนระยะและเก็บรับความนิยมจากแฟนๆ ได้ยาวนานที่สุด นพดลได้ปั้นนักร้องขึ้นมาประดับวงมากมาย เช่น นกน้อย อุไรพร, วิเศษ เวณิกา, กำไล พัชรา, ชุติมา ดวงพร, นพรัตน์ ดวงพร, เทพพร เพชรอุบล ฯลฯ และทีมตลก ลุงแนบ หนิงหน่อง แท็กซี่ ใหญ่ หน้ายาน จ่อย จุกจิก อีเจ้ย ฯลฯ และมือพิณอันดับหนึ่งของประเทศ
 การก่อเกิด เป็นไป และดับไปของเพชรพิณทองถือว่าเป็นตำนาน ความประทับใจในการแสดงของเพชรเม็ดงามเม็ดนี้ยังจะตราตรึงในใจของชาวอีสานไป อีกนาน และคงอีกนานเช่นกันที่จะเกิดปรากฏการณ์อย่างที่ เพชรพิณทอง และนพดล ดวงพรได้สร้างไว้