เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ถ้าถามถึงสถานที่ท่องเที่ยวย่านพระนคร เราจะไม่พูดถึงภูเขาทองไม่ได้ ด้วยเป็นพุทธสถานที่โดดเด่น ตั้งอยู่สูงสง่าใจกลางเมืองใหญ่ มีเจดีย์สีทองอร่ามส่องประกายสะท้อนแสงวิบวับทั้งยามกลางวันและกลางคืนอยู่ด้านบนสุด กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของกรุงเทพฯ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต่างอยากมาเช็กอิน และสำหรับใครที่ยังไม่เคยไปเที่ยวชมเลยสักครั้ง หรืออาจจะไปเที่ยวมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่เคยรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของภูเขาทอง วันนี้เรามาทำความรู้จักกับที่นี่ไปด้วยกันค่ะ

ที่ตั้งของภูเขาทอง

ภูเขาทอง ตั้งอยู่ภายในเขตของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ติดกับคลองมหานาค ในพื้นที่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ 300 เมตร โลหะประสาทประมาณ 500 เมตร อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยราว ๆ 700 เมตร และอยู่ห่างจากบริเวณท้องสนามหลวงเพียงแค่ราว ๆ 1.5 กิโลเมตร

ความเป็นมาของภูเขาทอง หรือพระบรมบรรพต

ภูเขาทอง เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงมีดำริให้สร้างพระปรางค์ย่อมุมไม้สิบสองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระนคร แต่ด้วยพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นดินเลนโคลนทำให้รองรับน้ำหนักของโครงสร้างไม่ไหว องค์พระปรางค์จึงพังลงมา แต่ยังไม่ทันสร้างแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ 3 เสียก่อน

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าให้สร้างใหม่โดยเปลี่ยนรูปแบบให้กลายเป็นภูเขาจำลองสูง แล้วมีเจดีย์อยู่ด้านบนแทน มีบันไดเวียนขึ้น-ลง 2 ทาง พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง และเปลี่ยนชื่อจากภูเขาทองเป็นพระบรมบรรพต การก่อสร้างก็ยังไม่เสร็จสิ้นลงเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงเสด็จสวรรคต

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดเกล้าให้สร้างต่อจนเสร็จสมบูรณ์ รวมความสูงจากฐานจนถึงยอดพระเจดีย์ได้ 77 เมตร และมีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศอินเดียมาไว้ในองค์พระเจดีย์เมื่อพ.ศ. 2422 และได้เฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 วัน  7 คืน ในช่วงเทศกาลลอยกระทง มีการปฎิบัติสืบกันมาจนกลายเป็นประเพณีนมัสการพระบรมสารีริกธาตุภูเขาทอง หรืองานวัดภูเขาทองนั่นเอง

พระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระเจดีย์ บรรจุไว้ในผอบที่มีอักษรพรามี หรือเมาริยะจารึกไว้ว่า พระบรมสารีริกธาตุนี้เป็นของพระพุทธเจ้า (สมณโคดม) ตระกูลศากยราช ได้รับแบ่งปันในเวลาถวายพระเพลิงพุทธสรีระ มีการขุดพบเมื่อ พ.ศ. 2441 ณ เมืองกบิลพัศดุ์ ประเทศอินเดีย และทางรัฐบาลอินเดียก็ได้น้อมเกล้าน้อมถวายแด่รัชกาลที่ 5 และพระองค์ก็โปรดให้บรรจุไว้ที่พระบรมบรรพต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2442

การเที่ยวชมภูเขาทอง

– การจะขึ้นไปนมัสการองค์เจดีย์บนยอดภูเขาทอง จะต้องเดินขึ้นบันไดขั้นเล็ก ๆ ขึ้นไปทั้งหมด 344 ขั้น

– ทางขึ้นหลักจะอยู่ติดกับส่วนของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แต่จะมีประตูทางเข้าทั้งจากฝั่งถนนจักรพรรดิพงษ์และถนนบริพัตร สามารถเดินวนมายังทางขึ้นหลักได้

– บริเวณทางขึ้นจะมีดอกไม้ธูปเทียนจำหน่าย สามารถซื้อขึ้นไปไหว้พระได้

– ขาขึ้น ทางเดินช่วงแรกจะมีต้นไม้ให้ร่มเงาบ้าง แต่พอเลยขั้นบันไดราว ๆ 130 ขึ้นไป จะเป็นเปิดโล่ง ถ้าไปช่วงกลางวัน ควรใส่เสื้อแขนยาว ใส่หมวก หรือกางร่ม เพราะแดดร้อนมาก

– พอขึ้นไปถึงด้านบนจะเป็นส่วนของภายในพระบรมบรรพต มีพระประธาน คือ พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญบรมไตรโลกนาถ พระพุทธรูปปางทรงเครื่องจักพรรดิ์สีทองสว่างประดิษฐานอย่างสง่างามอยู่ด้านหน้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่สำคัญอีกหลายองค์ ในจุดนี้เป็นบริเวณในอาคาร อากาศจะเย็นสบาย สามารถมองเห็นวิวได้โดยรอบเช่นกัน

– สำหรับพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ประดิษฐานอยู่บนยอดพระเจดีย์สีทองใหญ่ด้านบนสุด จากบริเวณโถงใต้ฐานพระเจดีย์จะมีบันไดเล็ก ๆ ให้เดินขึ้น-ลงคนละฝั่ง

– ด้านบนสุดบริเวณฐานพระเจดีย์สีเหลืองทอง มีจุดให้นั่งไหว้พระขอพร เป็นพื้นที่เปิดโล่งกว้างเช่นกัน ถ้าไปช่วงกลางวันก็ต้องเตรียมเสื้อแขนยาว หมวก ร่ม ให้พร้อม

– โดยรอบของพระฐานเจดีย์จะสามารถชมวิวกรุงเทพฯ ได้แบบ 360 องศา มองเห็นเมืองได้ไกลสุดลูกหูลูกตา วิวสวยตลอดทั้งวัน ยิ่งถ้ามาช่วงแดดร่มลมตกลมก็จะพัดเย็นสบาย ได้เห็นวิวพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าด้วย

– ทางลงของภูเขาทองจะอยู่คนละฝั่งกับทางที่ขึ้นมา มองป้ายให้ชัดเจนก่อนที่จะเดินลง เพื่อที่จะไม่ไปสวนทางกับผู้ที่เดินขึ้น อาจจะเป็นอันตรายได้ในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

– ห้องน้ำของภูเขาทองจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับทางขึ้น แต่เมื่อเดินลงก็จะเจอกับบริเวณห้องน้ำพอดี

งานวัดภูเขาทอง

ได้ชื่อว่าเป็นงานวัดที่เก่าแก่มากที่สุดของกรุงเทพฯ เริ่มจัดครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับช่วงเทศกาลลอยกระทง โดยจะเป็นงานรื่นเริง มีมหรสพ ดนตรี ร้านค้า ร้านอาหาร มาออกร้านกันอย่างคับคั่ง บรรยากาศสนุกสนาน ไฮไลต์ของงานจะอยู่ที่การห่มผ้าแดงให้กับองค์พระเจดีย์และการเปิดให้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุจนถึงช่วงกลางดึก สามารถติดตามการจัดงานวัดภูเขาทองในแต่ละปีได้ที่เฟซบุ๊ก วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

การแต่งกายไปเที่ยวชมภูเขาทอง

ด้วยเป็นพุทธสถาน จึงต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย โดยควรสวมกระโปรงหรือกางเกงที่ยาวเลยเข่าลงไป เสื้อมีแขน ไม่รัดรูปจนเกินไปนัก

เวลาเปิด-ปิด

ภูเขาทอง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. แต่ช่วงเทศกาลสำคัญ ก็อาจจะขยายเวลาเปิดจนถึงกลางดึก

ค่าเข้าชม

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย ไม่มีค่าเข้าชม สามารถเข้าเที่ยวชมได้เลยฟรี ! แต่ถ้าเป็นชาวต่างชาติ จะมีค่าเข้าชมท่านละ 50 บาท

การเดินทาง

หน้าวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ด้านถนนจักพรรดิ์ ที่ป้ายรถเมย์ ภูเขาทอง 1 มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่าน ได้แก่ สาย 8, 8ปอ, 15, 47 และ 49 อีกฝั่งถนนที่ป้ายรถเมย์ ภูเขาทอง 2 มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่าน ได้แก่ สาย 8, 8ปอ, 15, 37, 47 และ 49

หรืออีกหนึ่งวิธีก็คือ การนั่งเรือมาตามคลองมหานาค จะไปขึ้นที่ท่าเรือคลองแสนแสบที่ประตู้น้ำก็ได้ หรือจะมาขึ้นที่ท่าเรือโบเบ๊ก็ได้เช่นกัน โดยจะมาลงที่ป้ายสุดท้าย คือ ป้านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แล้วเดินต่ออีกประมาณ 200 เมตร ส่วนถ้าใครขับรถยนต์ส่วนตัวมาก็สามารถจอดได้บริเวณลาดวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

วันหยุดใครอยากหาที่เที่ยวไหว้พระทำบุญ เสริมดวง เสริมบารมี พร้อมกับชมวิวกรุงเทพฯ มุมสูงสวย ๆ ก็ขอแนะนำที่นี่เลยค่ะ พอไหว้พระเสร็จแล้วก็ยังสามารถไปเดินเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ บริเวณโดยรอบได้ด้วย