กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) เมื่อปี 2492 และในปี 2494 เริ่มเก็บสถิติอุณหภูมิร้อนหนาวอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะวันที่ร้อนสุดในไทยนั้น ถูกบันทึกไว้ว่า “44.5 องศาเซลเซียส” ณ จ.อุตรดิตถ์ ในวันที่ 27 เมษายน 2503 ตั้งแต่นั้นมาไม่เคยมีวันไหนทำลายสถิตินี้ได้ จนกระทั่งเมื่อ 28 เมษายน 2559 สถานีตรวจวัดอากาศภาคเหนือได้บันทึกว่า แม่ฮ่องสอนมีอุณหภูมิสูงสุด “44.6 องศาเซลเซียส” สูงกว่า 0.1 องศาเซลเซียส
ดาวเทียมตรวจสอบสภาพอากาศของนาซา 2 ดวง ยืนยันข้อมูลตรงกันว่า แม่ฮ่องสอนร้อนถึง 44.6 องศาฯ จริง และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ปี 2559 หลายประเทศในอาเซียนทำลายสถิติวันที่ร้อนสุด เช่น กัมพูชา เมื่อช่วงสงกรานต์วันที่วันที่ 15 เมษายน 2559 จากสถิติที่บันทึกไว้ว่าร้อนสุด 41.4 องศาฯ ก็พุ่งเป็น 42.6 องศาฯ สูงขึ้นกว่า 1.2 องศาฯ เช่นกัน
“แม่ฮ่องสอนถูกบันทึกว่าทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในไทยที่ 44.6 องศาฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่หุบเขามีภูเขาสูงล้อมรอบ แต่เดือนเมษายนปีนี้กรุงเทพฯ ไม่ร้อนเท่าไร เฉลี่ยเพียง 39 องศาฯเท่านั้น หลังจากนี้ไปช่วงเดือนพฤษภาคมจะเริ่มมีฝนในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอีสานและภาคกลางตอนล่างกับภาคใต้อากาศไม่ร้อนนัก ยกเว้นภาคกลางตอนบนกับภาคเหนือยังมีอากาศร้อนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปีนี้สังเกตได้ว่า พายุฤดูร้อนค่อนข้างรุนแรง มีลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ เพราะเมื่ออากาศร้อนจัดสะสมมานาน พายุเข้ามาเกิดการปะทะของอุณหภูมิที่แตกต่างเป็นฝนฟ้าคะนอง”
“ดูจากแผนที่แบบจำลองเห็นชัดว่า อุณหภูมิเฉลี่ยปี 2558 มีช่วงที่เป็นสีแดงอยู่บริเวณภาคกลาง ผ่านไป 20 ปี พ.ศ.2578 สีแดงเพิ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง และถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลง อีก 40 ปี หรือ 2598 อุณหภูมิเฉลี่ยจะเป็นสีแดง คือสูงเกิด 28.7 องศาฯ เกือบทุกภาคในประเทศไทย เราคาดไว้ว่าน่าจะ 2 องศาฯ แต่ถ้าเลวร้ายสุดก็จะสูงถึง 4 องศาฯ โดยเฉพาะแถบ จ.บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี มีแนวโน้มจะร้อนมากกว่าพื้นที่อื่น หากเป็นแบบนั้นจริงสภาพแวดล้อมและมนุษย์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”
หลายคนสงสัยว่า อากาศเพิ่มหรือลดเพียงแค่ 2 องศาฯ ทำไมส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งแวดล้อมมากมาย?
นักวิชาการข้างต้นอธิบายว่า อุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 2 องศาฯ ทำให้ขาดแคลนน้ำได้ในหลายพื้นที่ เพราะความร้อนสะสมในพื้นดินมากขึ้น โดยเฉพาะภาคกลางของไทยที่มีลักษณะเป็นที่ราบ เกษตรกรที่เคยทำนากลางแจ้งในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว อาจไม่รู้สึกว่าร้อนเท่าปีนี้ แต่ถ้าเปรียบเทียบกว่าคนที่ทำงานในห้องแอร์ ชาวไร่ชาวนาจะปรับตัวได้ดีกว่าเพราะค่อยๆ เจออากาศร้อนขึ้นทุกปี แต่คนในออฟฟิศเมื่อเดินออกมาจะเจอแดดร้อนระอุ ยิ่งทำให้รู้สึกว่าร้อนมากขึ้นกว่าเดิม
เมืองไทยเผชิญอากาศร้อนจนทำลายสถิตินั้น กลายเป็นตัวอย่างสอดคล้องกับข้อมูลของเครือข่ายเฝ้าระวังภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศแปรปรวน
เนื่องจากมีรายงานวิจัยว่า หากโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาฯ จะทำให้น้ำกินน้ำใช้ของมนุษย์หายไป 10 เปอร์เซ็นต์ และหากอุณหภูมิเพิ่มเป็น 2 องศาฯ น้ำจะหายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และแหล่งปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีจะลดลงถึง 2 เท่าตัว ดังนั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2558 ประชุมคอป 21 มีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก โดยวันที่ 22 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก 175 ประเทศเข้าร่วมลงนามใน “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) โดยตัวแทนจากประเทศไทยที่ไปร่วมลงนาม คือ พล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ
หากเรียงลำดับข้อมูลประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการสำคัญทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกส่งผลให้โลกร้อนนั้น อันดับ 1 ได้แก่ จีน 1 หมื่นล้านตันต่อปี อันดับ 2 อเมริกา 5,000 ล้านตันต่อปี ส่วนประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าอยู่ในอันดับที่ 27 ของโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปีละ 250 ล้านตัน
หากคนไทยไม่ร่วมมือกันทำวันนี้ อีก 40 ปีข้างหน้าพวกเราอาจได้เปลี่ยนเวลาทำงานจากกลางวันเป็นกลางคืน !?!
ที่มา – http://updatenews.sayhibeauty.com/
by TVPOOL ONLINE