เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ผู้สื่อข่าวได้รับรายงาน  นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชน ที่บริโภคน้ำประปาในช่วงนี้มีรสผิดปกติและมีกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพหากบริโภคน้ำปะปา

โดยการประปานครหลวง (กปน.) ได้รายงานในเรื่องคุณภาพน้ำที่มีรสผิดปกติว่า ขณะนี้แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนเหลือน้อยมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการประปานครหลวงได้ร่วมมือกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่

โดยทางการประปานครหลวงเองพยายามสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหน่วยความเค็มเป็นหน่วย gram/liter ค่าที่เกิน 0.3g/l หรือ 300 ppm. จะเริ่มเป็นน้ำกร่อย (มาตรฐานน้ำดื่ม องค์การอนามัยโลก : WHO) โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ คนเป็นโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาช่วงนี้ และแนะนำให้ใช้น้ำกรองผ่านระบบ RO ด้วย นอกจากนี้ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลงในการใช้น้ำ เพื่อปรุงอาหารอีกด้วย

โดยล่าสุด พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำอุปโภคบริโภคได้เตรียมแผนรองรับภาวะแล้งฉุกเฉิน โดยคาดการณ์ว่าเดือน ม.ค.-พ.ค.นี้ เกือบทุกภาคของประเทศไทย จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับสภาพอากาศ หนาวเย็นและความชื้นต่ำ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น

จากแนวโน้มภัยแล้งดังกล่าวส่งผลให้เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในเขต กทม.และปริมณฑล ก่อให้เกิดภาวะน้ำประปาเค็ม ผู้ที่บริโภคน้ำประปาเป็นประจำอาจจะรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปจากปกติในบางครั้ง โดยความเค็มดังกล่าวมาจากเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือเกลือแกงที่ใช้ปรุงอาหาร

ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดค่าแนะนำเพื่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภคไว้คือในน้ำประปา ควรมีโซเดียมไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร และคลอไรด์ไม่เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ถ้าเจือปนในน้ำมากเกินไปจะทำให้น้ำมีรสกร่อยถึงเค็มได้ ซึ่งทางโภชนาการและการแพทย์แนะนำว่า มนุษย์ควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน