เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ยอดวันที่ 2 เมษายน 2563 อยู่ที่ประมาณ 23 ล้านราย โดยกระทรวงการคลังจะเร่งตรวจสอบข้อมูลเพื่อส่งข้อความแจ้งผลผ่านทางโทรศัพท์มือถือที่ได้ลงทะเบียนไว้ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่ โดยอย่างเร็วที่สุดภายใน 7 วัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง แจ้งว่าผู้ที่ได้รับเงินช่วย 5,000 บาทแน่นอน มี 4 อาชีพ คือ คือ มัคคุเทศก์ คนขับรถแท็กซี่ ผู้ค้าสลาก และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ส่วนอาชีพอื่นๆอยู่ระหว่างตรวจสอบและคัดกรอง ซึ่งจะมีการเผยแพร่ต่อไป

ขณะที่กลุ่มอาชีพที่จะไม่ได้รับเงินช่วย 5,000 บาท คือ ผู้ได้รับผลกระทบจนทำให้ต้องทำงานที่บ้านแต่เงินเดือนยังได้ครบ กลุ่มที่ยังทำงานแต่ยังได้รับเงินเดือนครบเหมือนเดิม กลุ่มที่ตกงานมาเป็นปี หรือตกงานมานาน ก็จะไม่ได้สิทธิ์ รวมถึงกลุ่มที่ทำงานในร้านค้าที่ปิดมาก่อนในช่วงที่มีการระบาดของโตวิด-19 ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ

นายอุตตม สาวนายน รมว การคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่า กระทรวงการคลังจะเร่งกระบวนการตรวจสอบข้อมูลของผู้ที่ลงทะเบียนอย่างเร็วที่สุดตามที่ได้กำหนดไว้ คือ 7 วันทำการ และจะส่งเงินให้ถึงมือผู้เดือดร้อนที่ผ่านเกณฑ์โดยเร็วที่สุด

สำหรับ กรณีที่มีผู้มาลงทะเบียนบางรายมีความคลาดเคลื่อนในข้อมูลในการลงทะเบียน โดยจะมีการส่งจนท.ลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สศค จะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้

วิธีการคัดกรอง ผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ

โดยนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระบวนการตรวจสอบ ว่า ความยากคือเอาคนที่ไม่ใช่ออกจาก 23 ล้านคนให้มากที่สุด การคัดกรองจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม

-สีเขียว ได้ชัดเจนแน่นอน
-สีแดง ไม่ผ่านแน่ๆ เช่น อายุ ไม่ถึง 18 ปี อยู่ในประกันสังคม ม.33
-สีเทาๆ ยังไม่รู้จะเขียวหรือแดง จะมีขั้นตอน สื่อสารไปถึงตัว เช่น ค้าขาย จะให้ส่งรูปภาพหน้าร้านมา ว่า ค้าขายจริง ถ้าดูแล้วผ่านจะกลายเป็นเขียว แต่ถ้ายังไม่กระจ่างอีก จะส่งเจ้าหน้าที่ไปดู จะใช้เวลาเร็วที่สุด โดยกระจายจนท.กระทรวงการคลังลงไปเช็กให้อีกทางหนึ่ง และอีกทาง จะส่งข้อมูลให้ไปรษณีย์ ช่วยตรวจสอบด้วยอีกทาง และจะกลั่นกรอง

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีผู้กรอกข้อมูลเท็จ จะมีการดำเนินการทางกฎหมายอย่างไร และหากเป็นการให้ข้อมูลเท็จโดยมิได้มีเจตนา จะมีการดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่
1.ในกรณีการกรอกให้ข้อมูลเท็จและตรวจสอบพบภายหลังว่าเป็นผู้ไม่มีสิทธิในการรับเงินช่วยเหลือจากมาตรการฯ ภาครัฐมีสิทธิสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการฯ โดยผู้ได้รับเงินเยียวยาที่ไม่มีสิทธิในมาตรการฯ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายเงินชดเชย ที่ได้รับไปแล้วคืนให้แก่รัฐภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับสิทธิดังกล่าว ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังหรือผู้จัดทำระบบให้กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ ในกรณีที่รัฐได้ดำเนินการข้างต้นแล้ว รัฐอาจใช้สิทธิในการที่จะดำเนินคดีทางแพ่งหรือทางอาญาต่อไป
2.ทั้งนี้ ในกรณีการให้ข้อมูลเท็จโดยเจตนา ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในกรณีที่เป็นการให้ข้อมูลเท็จโดยมิได้มีเจตนาและถูกดำเนินการทางกฎหมาย ในชั้นศาลจะมีกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป

ตามที่ได้มีการเผยแพร่ว่า หากให้ข้อมูลเท็จมีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกง ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท นอกจากนี้ จะเข้าข่ายความผิดฐานแจ้งความเท็จ โทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน ปรับสุงสุดไม่เกิน 100,000 บาท เป็นความจริงหรือไม่
การให้ข้อมูลเท็จโดยเจตนา ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 3 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถือเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ