เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 13 เม.. 63 ..ทัศชล เทพกำปนาท ที่ปรึกษากรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เขียนเล่าเรื่อง เรื่องเล่าสู่กันฟังเรื่อง บางแง่บางมุมของนางสงกรานต์

ระบุว่า เป็นที่ทราบกันว่านางสงกรานต์ไม่ได้มีตัวตนจริง แต่เป็นคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน ตำนานสงกรานต์ซึ่งเป็นโบราณอุบายให้คนสมัยก่อนที่ไม่รู้หนังสือได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ อันเป็นวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนสู่ราศีเมษ ที่สมัยก่อนถือเป็นวันปีใหม่นั้น ตรงกับวันเวลาใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ เพื่อให้จดจำได้ง่าย

เรื่องเกี่ยวกับนางสงกรานต์นี้ พระยาอนุมานราชธน (นามปากกาเสฐียรโกเศศ) นักปราชญ์คนสำคัญของไทย ได้เคยเขียนวิจารณ์ในบางแง่บางมุมไว้อย่างน่าสนใจ จึงขอนำบางเรื่องมาเล่าให้ฟัง ดังนี้ ท่านกล่าวว่า นางสงกรานต์เป็นนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดของเมืองฟ้า มีด้วยกัน 7 คนเป็นพี่น้องกันทั้งหมด

ที่เรียกจำนวนว่ามี 7 คน ไม่เรียก 7 องค์ เพราะนางสงกรานต์เป็นนางฟ้าชั้นสามัญ ไม่ใช่เทวี หรือเทวดาผู้หญิงโดยตรงเป็นบาทบริจาริกา (แปลว่านางบำเรอแทบเท้าหรือสนม) ของพระอินทร์จอมเทวราช เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม โดยมีนาม ดอกไม้ เครื่องประดับ อาหาร อาวุธและพาหนะประจำแต่ละนาง คือ

วันอาทิตย์ ชื่อ นางทุงษะ ดอกไม้ คือ ดอกทับทิม เครื่องประดับ ปัทมราค (พลอยสีแดง /ทับทิม) อาหาร อุทุมพร(มะเดื่อ) อาวุธมีจักร และสังข์ พาหนะ คือ ครุฑ

วันจันทร์ ชื่อนางโคราคะ ดอกไม้ คือ ดอกปีบ เครื่องประดับ มุกดาหาร (ไข่มุก) อาหาร น้ำมัน อาวุธ คือ พระขรรค์และไม้เท้า พาหนะ คือ พยัคฆ์ (เสือ)

วันอังคาร ชื่อ นางรากษส (อ่านว่า รากสด) ดอกไม้ คือ ดอกบัวหลวง เครื่องประดับ คือ โมรา อาหาร คือ โลหิต อาวุธคือ ตรีศูล ธนู พาหนะ คือ วราหะ (หมู)

วันพุธ ชื่อ นางมณฑา ดอกไม้ คือ ดอกจำปา เครื่องประดับ ไพฑูรย์ อาหาร นมเนย อาวุธ คือ ไม้เท้าและเหล็กแหลมพาหนะ คือ คัทรภะ หรือคัสพะ (แพะหรือลา)

วันพฤหัสบดี ชื่อ นางกิริณี ดอกไม้ คือ ดอกมณฑา เครื่องประดับ คือ แก้วมรกต อาหาร คือ ถั่ว งา อาวุธ คือ ขอช้างและปืน พาหนะ คือ กุญชร (ช้าง)

วันศุกร์ ชื่อ นางกิมิทา ดอกไม้ คือ ดอกจงกลนี (บัวคล้ายบัวเข็ม) เครื่องประดับ บุษราคัม อาหาร คือ กล้วยน้ำ อาวุธพระขรรค์และพิณ พาหนะ คือ มหิงส์ (ควาย)

วันเสาร์ ชื่อว่า นางมโหทร ดอกไม้ คือ ดอกสามหาว (ผักตบ) เครื่องประดับ นิลรัตน์ อาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธ คือจักรและตรีศูล พาหนะ คือ นกยูง

นอกจากนี้ สัตว์พาหนะ คือ ครุฑ พยัคฆ์ วราหะ คัสพะ กุญชร มหิงสะ และนกยูง ท่านก็ตั้งข้อสงสัยว่าล้วนเรียกเป็นคำศัพท์เกือบทั้งหมด ซึ่งน่าจะให้ฟังดูขลัง อย่างหมู หรือสุกร ก็เรียกเป็น วราหะ ลา ก็เรียกว่า คัสพะ แต่ก็แปลกที่ไม่เรียกนกยูงว่า มยูร และสัตว์ทั้งหมดยกเว้น ครุฑ แล้ว ต่างก็เป็นสัตว์ธรรมดาในเมืองมนุษย์ทั้งสิ้น และการทรงพาหนะมาของนางสงกรานต์นั้น

สำหรับในปี 2563 นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ประกาศสงกรานต์ไว้ดังนี้ ประกาศสงกรานต์ปีพุทธศักราช 2563

ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็นอธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 20 นาฬิกา 48 นาที

นางสงกรานต์ ทรงนามว่าโคราคะเทวีทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร น้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธนูหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆะ เป็นพาหนะ

วันที่ 16 เมษายน เวลา 09 นาฬิกา 24 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราช ใหม่ เป็น 1382 ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็น ธงชัย, วันอาทิตย์ เป็น อธิบดี, วันพุธ เป็น อุบาทว์, วันอังคาร เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 250 ห่า นาคให้น้ำ 1 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหาร แลเกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

โดยมีรายงานด้วยว่า ภาพนางสงกรานต์ตามจินตนาการของชาวเน็ตนั้น ดัดแปลงให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 โดยให้ชื่อว่าโคโรนาเทวีพระพักตร์สวมหน้ากากอนามัย พระหัตถ์ถือปรอทวัดไข้และเจลแอลกอฮอล์ ทรงหลังค้างคาว

โดยบางความคิดเห็นก็บอกว่าเสด็จมาจากเมืองอู่ฮั่น จนทำให้ภาพนี้ถูกแชร์ต่อๆ กัน ก่อนที่ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังจะประกาศชื่อนางสงกรานต์ปีนี้ว่าโคราคะเทวีพระหัตถ์ขวาทรงธนูหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆ์ (นอนลืมตามาบนหลังเสือ)

ที่มาของชื่อนางสงกรานต์ปีนี้ ..ทัศชล บอกว่า เป็นความบังเอิญที่วันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันเข้าสู่ปีใหม่ที่ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ในปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 13 เมษายน พอดี ตามความเชื่อจึงเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ที่ชื่อโคราคะเทวีซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับโคโรนาไวรัสแต่อย่างใด

 

by TVPOOL ONLINE