เรียกว่าสับสนอลม่านกันไปหมด หลังจากกรณีข่าวที่มีผู้ผิดหวังจากการลงทะเบียน 5,000 www.เราไม่ทิ้งกัน.com ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อทวงถามความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การได้รับเงิน และมีหญิงรายหนึ่งระบุว่าจะแก้ผ้าประท้วง ปล่อยโฮด้วยความอัดอั้นตันใจ จนมีภาพ คุณป้า ผิดหวัง ร้องไห้ ออกมาผ่านโซเซียล และมีดารา อาทิ พลอย เฌอมาลย์ ถึงกับประกาศตามหา

ล่าสุดรายการ “เรื่องลับมาก (NO CENSOR)” ซึ่งมีพิธีกร “ดร. เสรีวงษ์มณฑา“ เปิดใจสัมภาษณ์ “คุณวรรณาธรรมสังวาลย์“ จากกรณีบุกกระทรวงการคลัง หลังถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5 พันจากพิษโควิด-19 มาพร้อม “ทนายรณณรงค์แก้วเพ็ชร“ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม

คุณวรรณา ก่อนหน้านี้ทำอาชีพอะไร?
วรรณา : “ขายตุ๊กตาค่ะ หยุดไป 18 มี.ค. รัฐบาลสั่งว่าให้หยุด เพื่อไม่ให้โรคระบาด”
รายได้เท่าไหร่?
วรรณา : “ขายออกมากก็ได้มาก ขายออกน้อยก็ได้น้อย บางครั้งก็ขายได้ 3000-4000 บาท”
ลงทะเบียนแล้วไม่ได้ ทำไมต้องไปบุก?
วรรณา : “ก็นอนอยู่บ้าน ของก็เต็มบ้าน รายได้ไม่มีแล้วที่เก็บไว้ก็หมด ที่บ้านอยู่ 5-6 คน กู้เขามากิน วันนั้นเป็นวันสุดท้ายเหลือเงินอยู่ 200 เมื่อวาน”
ไปกระทรวงจัดการกันยังไง ทำไมไปกันเป็นร้อย?
วรรณา : “หนูไปกับแฟนสองคนค่ะ คนเยอะๆ ไม่ทราบค่ะ หนูไปก็ไปเจอเขา”

ตอนนี้เขายืนยันมาหรือยังว่าไม่ได้?
วรรณา : “เขายืนยันมาแล้วค่ะ วันที่ 13 ช่วงเช้าหน่อยๆ เขาส่งมาว่าไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาตรงนี้ เป็นกากบาทแดง งานของคุณไม่กระทบ ป้าก็คิดในใจว่าทำไมไม่กระทบ ป้าจะไปหาคุณที่ไหน ป้าคนจน พอดีดูข่าวก็เลยชวนแฟนไปคลัง เพื่อเอากล้องที่เราถ่ายรูปนั่งขายของ ให้เขาเห็นว่าเราขายจริง ไม่ได้โกหก”
พูดกับปลัดกระทรวงการคลังยังไง?
วรรณา : “เราบอกว่าคุณคะ คุณตัดสินใจยังไงว่าป้าไม่ได้รับผลกระทบ ป้าขายก็กรอกแล้วว่าขายตุ๊กตาที่ตลาดนัด ผลกระทบคือรัฐบาลสั่งให้ปิดเราก็ร่วมมือแล้ว เพื่อไม่ให้โรคนี้ระบาด ค้าขายใครๆ ก็ให้ลง ทำไมถึงตัดสิทธิ์ป้าด้วยอะไร เขาก็บอกว่าให้รอลงอุทธรณ์ ถามว่าจะให้รอลงอุทธรณ์ยังไง ป้าความรู้ไม่มี ลงก็ไม่เป็น อาศัยคนลง อุทธรณ์เมื่อไหร่ป้าจะได้ ตอนนี้ป้าก็ไม่มีเงินจะกินแล้ว อุทธรณ์วันที่ 19 กว่าจะทำการก็ 7 วัน ป้ารอไม่ไหวแล้ว หลานป้าต้องกิน หลานลงมาขวบกับ 9 เดือนร้องอดตายๆ ความรู้สึกคนเป็นย่า (ร้องไห้) พ่อก็โดนพักงาน แม่ก็โดนพักงาน พักงานคือได้เงินเป็นรายวันก็ไม่มีกิน หาเช้ากินค่ำ”

เขาจะให้อุทธรณ์หนูรอไม่ได้ คิดอยากให้กระทรวงการคลังทำยังไง?
วรรณา : “อยากให้เขาไม่ต้องให้ลงแบบในระบบ ให้เขาเช็กเลยว่าบัญชีเงินฝากมีมั้ย ให้ช่วยทางนั้นดีกว่า บางคนจนไม่มีเงินฝากอยู่แล้ว เช็กข้อมูลได้ง่าย ดีกว่ามาใช้ AI ถ้าคนจนเขาจนจริงๆ เขาไม่มีเงินฝากจริงๆ”

ถ้ามันผิดพลาดตั้งแต่กระทรวงศึกษา กระทรวงการคลังอาจพ้นนะ?
รณณรงค์ : “ผมไม่รู้ว่าคนเขียน AI เขียนแบบไหน แต่พอมาใช้กับเมืองไทย บางคนเป็นชาวนา บางคนเป็นนักศึกษา แต่ต้องไปดูต้นทางว่ากระทรวงศึกษา กระทรวงเกษตร เขามีการนำเข้าข้อมูลเท็จหรือทำเอกสารเท็จมั้ย โดยเฉพาะคนที่เป็นชาวนา เกษตรกร ผมว่ามันตลก ในฐานข้อมูลที่เอามาเบิกจ่าย บอกว่าทางครอบครัวอาจเคยไปขึ้นทะเบียนเป็นชาวนา เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยาจากทางหลวง แต่พอวันนี้เราไม่ทิ้งกันฯ ไปเช็กมา บอกว่าข้อมูลไม่ตรงกัน บางคนยืนยันว่าไม่เคยลงทะเบียนชาวนาเลย”
แต่มีคนรับสารภาพว่าเขาเป็นเกษตรกรจริง มีรายชื่อในสมุดเขียวจริง แต่นอกฤดูทำนา เขาก็มาขับแท็กซี่เลยมีชื่อซ้อนกันอยู่ วันนี้เขาเอาสมุดเขียวมาให้ดู แม่ไปลงชื่อเป็นเกษตรกร และเอาชื่อลูกที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ใส่เข้าไปด้วย แต่กระทรวงการคลังบอกว่าถ้าโดนชื่อโดยพ่อแม่ใส่เข้าไปก็ยังอุทธรณ์ได้ จะต้องฟ้องมั้ย?

รณณรงค์ : “มันจะอุทธรณ์ทำไม ในเมื่อคนอื่นเอาชื่อเราไปยัด สมมติวันดีคืนดี มีคนเอาชื่อผมไปยัดเป็นนักศึกษา แล้วผมถูกตัดสิทธิ์ ผมว่าข้อมูลชุดนี้ไม่ควรเอามาใช้ตัดสิทธิ์ผม เพราะเป็นข้อมูลที่เป็นโทษกับผม แล้วคิดว่าคนเอาข้อมูลเข้าไปในระบบคือการทำเอกสารเท็จ”
คือพ่อแม่เขานะ?
รณณรงค์ : “ก็คนที่อนุมัติเข้าไปมีหน่วยงานราชการส่วนอื่นด้วย”
เขาให้พ่อแม่เป็นคนกรอก?
รณณรงค์ : “แต่ข้อมูลชุดนี้ใช้ตั้งแต่ปี 62 หรือเปล่า หรือใช้ตั้งแต่สมัยก่อนมา”
เขาบอกว่าเขาอัปเดตทุกปี?
รณณรงค์ : “ผมว่าเขาต้องเอามากางให้ดู ต้องตรวจสอบ โดยเฉพาะเคสที่ออกผ่านสื่อ ต้องเอาให้สังคมไม่เคลือบแคลงเลยว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ เพื่อให้คนหยุดวิจารณ์ AI ว่าเป็นยังไงบ้าง”

จำนวนคน 24 ล้านกว่า พอมีพื้นที่ให้ AI พลาดได้มั้ย?
รณณรงค์ : “ผมบอกเลยนะครับ ถ้าเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่มาจากฐานข้อมูลถูกต้องอยู่แล้วต้องไม่พลาด เราไม่เคยเห็นเครื่องคิดเลขบวกเลขผิดนะครับ ทีนี้การทำข้อมูลผิด แสดงว่าฐานข้อมูลที่เอามาใช้มันมีปัญหา”
แต่ไม่ใช่กระทรวงการคลังที่เดียว?
รณณรงค์ : “ผมเชื่ออย่างหนึ่ง ผมรู้ว่ามันแก้ได้ ถามว่าคนผลิต AI ทำไมไม่เขียนเผื่อไว้ ตอนนี้คนเดือดร้อนต้องได้รับเงิน 5 พันทันทีนะครับ ตรงไหนคลังคิดว่าไม่ตรงข้อมูล ไปฟ้องเอาคืนได้นี่”
ระหว่างให้ระบบแก้ไข กับฟ้องให้จ่ายตังค์ อยากแนะนำอะไร?
รณณรงค์ : “จ่ายตังค์ไปเลย 28 ล้านคน คนละหมื่นห้าจ่ายไปเลย กี่คนก็จ่ายไป เงินก้อนนี้เป็นเงินกู้นะ ทำไมไม่เยียวยาทุกคนหมด”
คนไม่ควรได้รับก็ต้องได้ด้วยเหรอ?
รณณรงค์ : “คนมีอำนาจก็ไปตรวจสอบ ฟ้องคืนย้อนหลังก็ทำได้ ทำไมเอาปัญหามาโยนให้ประชาชน ผมรอกินข้าวไม่ได้นะ อย่างที่น้องเขาว่าราชการลองรอเงินเดือน 3 เดือนมั้ย ราชการไม่เดือดร้อนนี่ เพราะหลวงจ่ายทุกเดือน แต่นี่สั่งเขาปิดงานมา 20 กว่าวันแล้ว ทำไมมาตรการเยียวยาออกมาช้า แล้วนี่ต้องให้รออุทธรณ์อีก 7 วัน ซึ่งไม่บอกว่าได้เงินด้วยนะ ขนาดคนที่ได้ไปรอบที่แล้ว สามีติดคุก เมียเอาชื่อไปเข้า AI จ่ายเงินเฉยเลย จะบอกว่าระบบตัวนี้เพอร์เฟกต์ผมว่าไม่ใช่”
เขาบอกว่าพยายามแก้เลยให้อุทธรณ์?
รณณรงค์ : “กำลังหาแพะอยู่ใช่มั้ย ก่อนโยนแพะว่าเป็น AI หรือหน่วยงานไหน แล้วความเดือดร้อนของเราล่ะ ต้องรอเหรอ แบบนี้เหมือนรัฐกำลังเลือกปฏิบัติ อาชีพกรรมกรก่อสร้างทำไมเป็นอาชีพที่เขาไม่จ่าย จะบอกว่าไซต์งานไม่ปิด แต่ระดับกลางๆ ล่างๆ ใครจะถูกจ้างทำงาน”

ให้จ่ายหมดเลย?
รณณรงค์ : “ถูกต้องครับ เรากู้มาแล้วจะรออะไร”
อยากให้กระทรวงการคลังทำอะไร?
วรรณา : “ให้ทำตามที่ท่านพูดว่าผลกระทบประชาชนจะไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง ณ วันนี้เราเหมือนถูกทิ้งแล้ว จ่ายเยียวยามาเลยเหมือนที่คุณทนายพูด ทุกคนเดือดร้อนหมด บางคนเป็นคนแก่ เขาลงไม่เป็น เขาก็โดนตัดสิทธิ์ด้วย ทุกอาชีพต้องได้เท่าเทียมกันหมด ทุกคนต้องกินข้าว มีการใช้จ่าย ไม่ใช่หยุดอยู่บ้านเคอร์ฟิวให้กินน้ำเปล่า มันไม่ใช่ (ร้องไห้) คนเดือดร้อนต้องได้ เช็กฐานข้อมูลทางธนาคารสิคะ”
รณณรงค์ : “ถ้าคิดว่าคนไหนไม่ควรได้ก็ไปตรวจสอบเขา ไม่ใช่รอให้เรามาอุทธรณ์”
by TVPOOL ONLINE

