นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีประเด็นการพิจารณามาตรการเยียวยาการลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 เป็นเวลา 3 เดือน วงเงิน 23,688 ล้านบาท ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบมาตรการช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชน ในการร่วมมือกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ด้วยการทำงานที่บ้าน
โดยหลังจากนี้จะมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนของประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าประเภทที่อยู่อาศัยจำนวน 22 ล้านราย โดยอาจจะต้องใช้งบประมาณ 23,688 ล้านบาท ในการดำเนินการ โดยจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อพิจารณาหามาตรการมารองรับให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบต่อไป
สำหรับมาตรการเยียวยาค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ในภารครัวเรือน ที่ประกาศออกมาเมื่อ 20 เมษายน นั้น จะมีการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่ม 1. ผู้ติดตั้งมิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์
– ผู้ติดตั้งมิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ จะได้ใช้ฟรี 150 หน่วย หากเกินก็จะได้รับการดูแลให้ใช้ฟรีเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มนี้จะใช้ไม่เกินปริมาณ 150 หน่วยเป็นปกติ และถือว่าใช้ไฟน้อย
กลุ่มที่ 2. สำหรับผู้ติดตั้งมิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ จะมีข้อกำหนดคือ
– หากใช้ไฟมากกว่าหน่วยในรอบบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์
– รายที่มีการใช้ค่าไฟเกิน 800 หน่วย แต่ไม่เกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ บวกกับส่วนที่เกิน 800 หน่วย แต่จะได้รับส่วนลดร้อยละ 50
– ขณะที่ในรายที่ใช้ไฟเยอะเกิน 3,000 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์ บวกกับส่วนที่เกิน 800 หน่วย ซึ่งได้รับส่วนลดร้อยละ 50 บวกกับส่วนเกิน 3,000 หน่วย โดยจะได้รับส่วนลดร้อยละ 30
ทั้งนี้ การลดหย่อนดังกล่าวจะมีการคืนค่าใช้จ่ายให้ในรอบบิลถัดไป ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้เริ่มแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ หรือแจ้งตรงมายังตนเองอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ศึกษาปัญหาและอุปสรรค ก่อนจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง
by TVPOOL ONLINE