เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

โดยล่าสุด ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)หรือ ศบค. ถึงมาตรการดูแลสถานการณ์ของไทย ที่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง และดีกว่าในต่างประเทศ ว่า มาตรการที่เราดำเนินการมาจากชุดข้อมูลของหลายส่วนนำมาประกอบกัน โดยมาจากระบบบริหารจัดการสูงสุดระดับประเทศ ลงไปถึงระดับจังหวัด ที่เป็นชุดปฏิบัติการ สั่งการไปถึงระดับบุคคล รวมถึงประชาชนกว่า 60 ล้านคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และต้องภูมิใจในระบบสาธารณสุขที่วางไว้ ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณทุกคนที่ได้รับรางวัลของความสำเร็จนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นแต่ละจังหวัดสามารถประกาศผ่อนคลายมาตรการได้เอง หรือต้องรอความชัดเจนจากศบค.เท่านั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การตัดสินใจจะอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.ที่จะรับฟังข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ และนำเข้า ครม.เพื่อประกาศใช้ในภาพใหญ่ทั้งประเทศ จากนั้นแต่ละจังหวัดจะนำไปพิจารณาเพื่อออกเป็นของแต่ละจังหวัดต่อไป

ซึ่งในส่วนนี้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจภาคเอกชน ที่มีการปรึกษาจากหลายภาคส่วนก่อนที่จะกำหนดมาตรการอะไรออกมา และเมื่อออกมาแล้วต้องไม่กระทบต่อการแพร่ระบาดของโรค หลายคนบอกว่า เรามีเงินไม่พอแล้ว แค่ตอนนี้เรายังต้องกู้มา เราจะเกิดการระบาดระลอก 2 ระลอก 3 ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะจะเกิดความสูญเสียจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เราสูญเสียไม่ได้อีกแล้ว

ในการรักษา เวลานี้เรามีคนป่วยกว่า 2-3 พันคน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2-3 พันล้านบาทที่เสียไป และตอนนี้หลายคนบอกว่าเรามีเงินไม่พอและต้องกู้เงินมาแล้ว ดังนั้นถ้าปล่อยและตัวเลขออกมาติดเชื้อเป็นหลักหมื่นหลักแสนคนจะใช้จำนวนเงินเท่าไหร่ จึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบทางเศรษฐกิจกับตัวเลขในการรักษา

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินให้ใครอยู่ใครไปและไม่อยากให้เกิดภาพสะเทือนใจดังกล่าวขึ้นเหมือนต่างประเทศ มีคนบอกว่า เรื่องของเงินทองจะคิดมากก็ไม่ดี จะเสียบ้างก็ต้องเสีย แต่เราเสียเงินดีกว่าเสียชีวิตจากเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นญาติเรา เราก็ไม่ยอม ถึงแม้จะสูงอายุ เราไม่มีสิทธิจะให้ใครอยู่ใครไป เหมือนในต่างประเทศ ที่ต้องมาตัดสิน เพราะการคิดหน้าคิดหลังคิดให้รอบคอบ เป็นสิ่งที่ต้องทำในสถานการณ์แบบนี้

“พี่น้องประชาชนต้องเข้าใจ เราจะต้องผ่านจุดวิกฤตไปอย่างไร บางคนบอกว่า เบาใจได้แล้ว ติดเชื้อแค่ 13 คน 15 คน ขายของกันเถอะ สบายๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน คือ เผลอนิดเดียวตัวเลขผู้ป่วยขึ้นจากหลักพันเป็นหลักหมื่นกว่า นั่นคือการสูญเสียทรัพยากรไป ถ้า 1 คน เท่ากับ 1 ล้าน หมื่นคนก็คือหมื่นล้าน มันเยอะมาก เพราะฉะนั้น ต้องระมัดระวังในการตัดสินใจร่วมกัน แต่เชื่อว่าคนไทยสามัคคี เราต้องคิดและตัดสินใจร่วมกัน”

เมื่อถามถึงปัญหาการแจกของให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะนี้สามารถทำได้อยู่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ รวมถึงชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอนก็จะมีการบริจาคด้วย ฉะนั้นการบริจาคข้าวของเครื่องใช้ และอาหาร เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแออัด ขอยกตัวอย่างวัดระฆังโฆสิตาราม ที่มีการจัดการโดยจัดระเบียบตั้งแต่ในชุมชน มีการแบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆเพื่อไปรับแจกของในช่วงเวลาที่ต่างกัน เพื่อลดความแออัด หากใครประสงค์จะแจกขอให้ประสานหน่วยงานราชการในแต่ละเขต แต่ละจังหวัดเพื่อช่วยในการจัดระเบียบและจัดหาพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยทั้งคนแจกและผู้รับ