เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเราไม่ทิ้งกัน จ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 5,000 บาท ข้อมูลเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2563 มีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 15 ล้านคน จ่ายเงินไปแล้ว 14.2 ล้านคน อยู่ระหว่างจ่ายเงิน 7 แสนคน ภายในสัปดาห์นี้ แต่ยังมีกลุ่มโอนเงินไม่สำเร็จ 1 แสนคน ซึ่งคลังขอให้ไปผูกบัญชีเงินฝากพร้อมเพย์กับเลขที่ประชาชน เพื่อที่จะได้รับเงิน 5,000 บาท

“ตอนนี้โครงการเราไม่ทิ้งกันสำเร็จไปแล้ว 99% ส่วนที่เหลือ 1% คลังกำลังเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสิ้นเดือนนี้” นายลวรณ กล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า ในส่วน 1% ที่ดำเนินการจ่ายเงินอยู่มีจำนวน 2.4 แสนคน ที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 ผู้ขอทบทวนสิทธิ 8 หมื่นราย จะได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิเพื่อนัดหมายยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้

กลุ่มที่ 2 ประมาณ 1 แสนราย เป็นผู้ขอทบทวนสิทธิซึ่งเคยได้รับการติดต่อจากทีมผู้พิทักษ์สิทธิแล้ว แต่ไม่สามารถนัดพบได้หรือที่อยู่จริงในปัจจุบันไม่ตรงกับที่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนขอทบทวนสิทธิ ทำให้ผู้พิทักษ์สิทธิไม่สามารถเจอตัวได้

กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่ผู้พิทักษ์สิทธิได้พยายามติดต่อไปหาแล้วหลายครั้งแต่ติดต่อไม่ได้จำนวน 6 หมื่นราย

ดังนั้น ในกลุ่มผู้ขอทบทวนสิทธิในกลุ่มที่ 2 และ 3 หรือ 1.6 แสนราย กระทรวงการคลังจะมีการส่ง SMS แจ้งให้ทราบอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (22พ.ค.) เมื่อได้ SMS แล้วให้ไปติดต่อที่สาขาธนาคารกรุงไทยที่สะดวกที่สุดเพื่อยืนยันตัวตนและการประกอบอาชีพ โดยนำบัตรประชาชนตัวจริง ไปแสดงพร้อมหลักฐานการประกอบอาชีพได้จนถึงวันที่ 29 พ.ค. 2563 นี้เท่านั้น เพื่อที่กระทรวงการคลังจะได้ปิดโครงการเราไม่ทิ้งกัน

นายลวรณ กล่าวว่า หลังจากปิดโครงกาเราไม่ทิ้งกันจ่ายเงินให้กับผู้มีได้รับสิทธิ์ 15 คนแล้ว กระทรวงการคลังก็จะมาพิจารณามาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ 1.7 ล้านคน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอีก 2 ล้านคน ในมาตรการที่เหมาะสมอีกต่อไป

สำหรับการเยียวยากลุ่มเปาะบางเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการมีจำนวน 13 ล้านคน ประกอบด้วยเด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งในวันนี้จะเสนอให้คณะกรรมการกลั่นกรองที่มีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบมาตรการเยียวยา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยจะต้องตรวจสอบไม่ให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อนกับมาตรการเราไม่ทิ้งกัน การช่วยเหลือเกษตรกร การช่วยเหลือของกองทุนประกันสังคม ส่วนรูปแบบการเยียวยาจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเสนอของกระทรวง พม.