เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เงินเยียวยาเด็ก กลุ่มเปราะบาง พ่อแม่ถาม…ลูกจะได้อีกหรือเปล่า?

เงินเยียวยาเด็ก กลุ่มเปราะบาง 3,000 บาท สำหรับเด็กแรกเกิด ถึง 6 ขวบ กว่าล้านคน บางคนอาจสงสัยว่า พ่อแม่เคยได้รับเงินเยียวยาจาก “เราไม่ทิ้งกัน” หรือ “เยียวยาเกษตรกร” ไปแล้ว ลูกจะยังได้รับเงินส่วนนี้อยู่หรือไม่ จากกรณีรัฐบาลประกาศมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง เพื่อรับเงินช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 จำนวน 3,000 บาท ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับเงินส่วนนี้ ก็คือเด็กจากครัวเรือนยากจน ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ จำนวน 1.45 ล้านคน

แต่พ่อแม่หลายคนก็ยังสงสัยว่า จะได้รับเงินนี้อย่างไร ต้องลงทะเบียนที่ไหน และหากพ่อแม่เคยได้รับเงินเยียวยาจากรัฐในกลุ่มอื่นๆ แล้ว อย่าง เราไม่ทิ้งกัน หรือ เยียวยาเกษตรกรไปแล้ว ลูกจะยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับเงินในส่วนนี้อีกไหม ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 กรมประชาสัมพันธ์ ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์แจกเงินเยียวยา 3,000 บาท สำหรับกลุ่มเด็กแรกเกิด ไว้ว่า “หลักเกณฑ์แจกเงินเยียวยา 3,000 บาท สำหรับเด็กแรกเกิด – 6 ขวบ จำนวน 1,394,756 คน จะใช้ฐานข้อมูลจากเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กฯ 600 บาท ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 “ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่” แม้ว่าพ่อแม่จะได้เงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน หรือเงินเยียวยาเกษตรกร เดือนละ 5,000 บาท มาแล้วก่อนหน้านี้ เด็กก็จะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทนี้ เพราะเป็นเงินคนละส่วนกัน สรุปคือ เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กฯ 600 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2563 จะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาท นี้ทุกคน โดยจะโอนเงินเข้าบัญชีเดียวกับที่ รับเงินอุดหนุนเด็กฯ ส่วนวันโอนเงินน่าจะเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคมนี้”

3 กลุ่มเปราะบาง รับเงินเยียวยา เด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด จำนวน 1,394,756 ราย ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จำนวน 4,056,596 ราย คนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวน 1,330,529 ราย

เงื่อนไขสำคัญ กลุ่มเปราะบาง รับเงินเยียวยา ทั้ง 3 กลุ่ม ต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ การช่วยเหลือเยียวยา จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) โดยส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย และอยู่ในครอบครัว ที่ประสบภาวะทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะว่างงานของสมาชิกครอบครัว ที่เป็นกำลังแรงงาน กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ยังเป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานข้อมูลของพม. ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนอยู่แล้ว ทำให้กลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ต้องลงทะเบียน เพื่อขอรับสิทธิ์ช่วยเหลือเยียวยา ตามมาตรการนี้ ซึ่งนางพัชรี ย้ำว่า อย่าไปหลงเชื่อผู้ไม่หวังดี หลอกให้ลงทะเบียนใดๆ

ส่วนการจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นไว้แล้ว ซึ่งจะต้องยืนยันในรายละเอียดอีกครั้ง หากเริ่มจ่ายได้ทันในเดือนมิถุนายน จะจ่าย 2 รอบ รวมทั้งหมดจำนวน 3,000 บาทต่อราย โดยจ่ายเงินรอบแรกในเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 2,000 บาท (ของเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน) และจ่ายรอบที่สองในเดือนกรกฎาคม 2563 จำนวน 1,000 บาท

ช่องทางจ่ายเงินเยียวยา กรมบัญชีกลาง โอนเงินช่วยเหลือเยียวยาโดยตรงไปยังบัญชีธนาคารของกลุ่มเป้าหมาย ที่เคยได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนผ่านบัญชีธนาคารอยู่เดิม กรมบัญชีกลาง โอนเงินไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำจ่ายเป็นเงินสด ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย ที่แต่เดิม รับเงินอุดหนุนรายเดือน เป็นเงินสดอยู่แล้ว จำนวนเงินที่จะได้รับ ถ้ามีการจ่ายเงินเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน กลุ่มเด็กแรกเกิด กลุ่มนี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ “เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด” เดือนละ 600 บาท ถ้าหากได้รับ เงินเยียวยาเด็ก ก็จะได้รับเงินรวมกัน เดือนมิถุนายน 2,600 บาท เดือนกรกฎาคม 1,600 บาท

กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มนี้ปกติจะได้รับเงินช่วยเหลือในโครงการ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จำนวน 600-1,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับอายุ หากได้รับเงินเยียวยาด้วย ก็จะได้รับเงินรวมกันไปเช่นเดียวกัน เดือนมิถุนายน 2,600-3,000 บาท เดือนกรกฎาคม 1,600-2,000 บาท อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้สูงวัยได้ไปลงทะเบียนใช้สิทธิ ในโครงการเราไม่ทิ้ง รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 งวดแล้วนั้น จะไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา 3,000 บาทแต่อย่างใด

กลุ่มคนพิการ กลุ่มนี้ ปกติจะได้รับเงินช่วยเหลือ “เบี้ยยังชีพผู้พิการ” 800 บาท ต่อเดือน หากได้รับเงินเยียวยาด้วย ก็จะรับเงินรวมกับเงินช่วยเหลือเดิมที่ได้อยู่แล้ว เดือนมิถุนายน 2,800 บาท เดือนกรกฎาคม 1,800 บาท นอกจากนี้ กลุ่มคนพิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการอีก 1.99 ล้านราย จะได้รับเงินอีก 1,000 บาท จากกองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แบ่งเป็น คนพิการ ที่รับเบี้ยความพิการผ่านบัญชีธนาคาร กรมบัญชีกลางโอนเงิน 1,000 บาท เข้าบัญชีคนพิการโดยตรง จำนวนกว่า 1,600,000 คน ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 คนพิการ ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล และ อบต.) จ่ายเป็นเงินสด ให้กับคนพิการ จำนวนกว่า 300,000 คน