เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

หลังจากประเทศไทยมีไอเดียสร้างทางม้าลายในรูปแบบ 3 มิติ ที่โรงเรียนอนุบาลอุตรดิตถ์ เพื่อช่วยลดปัญหารถยนตร์ไม่จอดให้คนข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งก็มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงที่ตั้งคำถาม โดยฝ่ายที่ตั้งคำถาม เห็นว่าคิดว่าจะทำให้คนขับรถตกใจ อาจทำให้การเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะชนท้ายเพิ่มมากขึ้น เพราะรถเบรคกะทันหันหรือหยุดรถเพื่อพิจารณา

จึงน่าคิดว่า จริง ๆ แล้วทางม้าลาย 3 มิตินี้จะสามารถแก้ปัญหาไม่จอดรถให้คนข้ามที่ทางม้าลายได้จริงหรือ?
และยังมีอีกหลายวิธีที่ในต่างประเทศใช้กัน เราจะพาไปดูกันว่ามีรูปแบบไหนบ้าง…

ในต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นฯลฯ ที่บริเวณทางม้าลายจะมีปุ่มให้ผู้ข้ามกด ซึ่งจะมีหน้าตาแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเมื่อกดปุ่มแล้ว รอสักพักหนึ่ง สัญญาณไฟจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว ผู้ข้ามก็สามารถข้ามได้

14647759121464776644l

ขณะที่ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ นอกจากมีปุ่มกดแล้ว เมื่อถึงสัญญาณไฟให้คนข้ามได้ จะมีเสียงสัญญาณดังในขณะนั้นด้วย

ส่วนในญี่ปุ่นในบางแยกถึงแม้จะไม่มีปุ่มกด แต่เมื่อสัญญาณไฟอนุญาตให้ข้ามปรากฏ จะมีสัญญาณดังด้วยเช่นกัน

ส่วนในอังกฤษ เกือบทุกแยกที่มีทางม้าลายจะมีไฟให้กด ส่วนแยกที่ไม่มีไฟให้กด บางที่จะมีเสาไฟสีเหลืองกลม ๆ กะพริบ ๆ อยู่ 2 ฝั่งถนน ซึ่งทางม้าลายแบบนี้หากมีคนจะข้าม รถต้องหยุดให้ทันที รวมถึงมีเส้นซิกแซกอยู่ที่สองข้างทางก่อนถึงทางม้าลาย เพื่อห้ามไม่ให้ผู้ใช้รถจอดรถบริเวณนั้น เพราะจะบดบังคนที่กำลังจะข้ามถนนด้วย

14647759121464779091l

ขณะที่ในสิงคโปร์ก็มีปุ่มกดเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่ที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2552 คือโครงการกรีนแมน โดยจะมีบัตรให้แตะที่เครื่องอ่านบริเวณจุดข้าม เพื่อช่วยขยายเวลาข้ามถนนให้กับผู้ที่เดินช้าอย่างผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ใช้รถวีลแชร์ เป็นต้น

14647759121464776657l

ส่วนในอินเดียนั้นมีการวาดภาพทางม้าลายแบบ3 มิติ ทำให้พื้นถนนดูคล้ายกับพื้นต่างระดับหรือลูกระนาด เมื่อผู้ขับขี่เห็นก็จะชะลอความลงเร็วเมื่อถึงจุดดังกล่าว ซึ่งสามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้

14647759121464777344l

ขณะเดียวกันในประเทศเหล่านี้ยังมีกฎหมายที่เข้มงวดและบังคับใช้อย่างจริงจังทั้งกับผู้ขับขี่และผู้ข้ามถนนโดยมีโทษค่อนข้างรุนแรงตั้งแต่ปรับยึดใบอนุญาตขับขี่และจำคุกเช่น ในสิงคโปร์ ต้องข้ามถนนในที่ที่ให้ข้ามเท่านั้น หากข้ามในที่ห้ามข้ามถือว่าผิดกฎหมาย รวมถึงข้ามในที่ให้ข้ามแต่สัญญาณไฟยังไม่ให้ข้าม ก็ถือว่าผิดกฎหมาย โดยมีโทษปรับเป็นเงิน 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 13,000 บาท) หากทำผิดซ้ำ 2 อาจถูกจำคุก 3 เดือน และหากยังทำผิดซ้ำอีกมีโปษปรับ 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 51,000 บาท) และจำคุก 6 เดือน เป็นต้น

ส่วนกฎหมายในประเทศไทยนั้น พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ระบุไว้ชัดเจนว่ากรณีที่ผู้ใช้รถไม่จอดหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายว่ามีความผิดตามกฎหมาย มาตรา 21 “ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง หรือที่พนักงานเจ้าหน้าที่ แสดงให้ทราบ สัญญาณจราจร เครื่องหมายจราจรและความหมายของสัญญาณจราจร และเครื่องหมายจราจร ให้อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีรูปตัวอย่างแสดงไว้ในประกาศด้วย”

ส่วนโทษมีการกำหนดไว้ตามมาตรา152“ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับไม่เกิน1,000บาท” เพราะทางม้าลายนับเป็นเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้หรือทำให้ปรากฏในทาง แถมยังมีความผิดมาตรา 70 (ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ) ด้วย นอกจากนั้นมีการระบุด้วยว่า ห้ามจอดรถทับทางม้าลายหรือในระยะ 3 เมตร ผิดตามมาตรา 57 ลงโทษตามมาตรา 148 ปรับไม่เกิน 500 บาท ขณะที่มาตรา 104 ระบุไว้ว่า ภายในระยะไม่เกิน 100 เมตร นับจากทางข้าม ห้ามมิให้คนเดินเท่าข้ามทางนอกทางข้าม หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

สุดท้ายนั้นนอกจากจะพัฒนารูปแบบของทางม้าลาย นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ รวมถึงมีกฎหมายแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนมีวินัย เคารพกฎหมาย ผู้ใช้รถหยุดให้เสมอเมื่อมีคนข้าม ส่วนผู้ข้ามเองก็ข้ามในที่ให้ข้าม ข้ามอย่างระมัดระวัง และไม่อ้อยอิ่งขณะข้ามทางม้าลาย

 

ที่มา – http://www.prachachat.net/