เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ช้างป่า เป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สาเหตุหลักมาจากการทำลายพื้นที่อาศัยตามธรรมชาติ การรบกวนถิ่นอาศัย และถูกฆ่า จากความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น จนประชากรของช้างป่าลดลงในทุกแหล่งการกระจาย

ปัจจุบันในประเทศไทยมีช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติเพียงประมาณ 3,000 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ 69 แห่ง และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง จากพื้นที่อนุรักษ์ในรูปเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ ที่มีในประเทศไทยทั้งหมด 160 แห่ง แต่ละพื้นที่มีจำนวนช้างป่า จากที่มีน้อยกว่า 10 ตัว จนถึง 200 ? 300 ตัว รวมพื้นที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ทั้งหมด 56,270 ตารางกิโลเมตร


อย่างไรก็ตาม สภาพถิ่นที่อาศัยของช้างป่าในเกือบทุกแห่งที่เหลืออยู่มีขนาดลดลงจากเดิมนอกเหนือจากที่มีลักษณะถูกแบ่งแยกและตัดขาดออกจากกัน เนื่องจากการขยายตัวของชุมชนเพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ในการ ทำเกษตรกรรม การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เส้นทางลำเลียงแก๊สที่ผ่านผืนป่าสมบูรณ์ การก่อสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ การรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ การล่าสัตว์ การเผาป่า การปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่เป็นที่อาศัยของช้างป่า มีผลให้ถิ่นที่อาศัยของช้างป่าลดน้อยลง เกิดความเสื่อมโทรม หรือพื้นที่ที่ยังคงเหลือเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่าขาดความเหมาะสม อีกทั้งประชากรช้างป่าโดยรวมยังคงถูกล่าเพื่อต้องการงา ลูกช้าง หรือนำไปใช้ประกอบทำเครื่องรางของขลังตามความเชื่อ

สภาพถิ่นที่อาศัยที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาถึงขนาดพื้นที่ ความลาดชันสูง ความสมบูรณ์ของดิน การขาดแคลนแหล่งน้ำ ที่เกิดขึ้นทั่วไปโดยเฉพาะในฤดูแล้ง เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เกิดการผลักดันให้ช้างออกมาจากป่า การปลูกพืชเกษตรที่ส่วนใหญ่กระทำในพื้นที่ราบซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสมบูรณ์และเคยเป็นที่อยู่อาศัยของช้างป่ามาก่อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งน้ำรอบพื้นที่ป่าที่มีช้าง จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการดึงดูดให้ช้างออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น ปัญหาช้างป่าออกมาทำลายพืชผลเกษตรของราษฎรนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว จนถึงปลายฤดูร้อน ในเกือบทุกพื้นที่ที่มีช้างป่าอาศัยอยู่ ขณะที่บางพื้นที่ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ประกอบกับทัศนคติของคนในประเทศที่มีต่อช้างป่าว่ามีความสำคัญกว่าสัตว์ป่าชนิดอื่น จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่ามีความซับซ้อนมากขึ้น

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการจัดการประชุม สัมมนา เพื่อแก้ไขปัญหาช้างของประเทศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันปัญหาช้างได้รับการแก้ไข ทั้งช้างป่าและช้างเลี้ยงโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาช้างป่าดูเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจสังคม บางส่วนพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น บางส่วนออกมาอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สิน จนประชาชนต้องการให้หน่วยงานย้ายช้างป่าออกไปจากพื้นที่ สภาพปัญหาดังกล่าวหากมิได้ดำเนินการจัดการระดมความคิดเห็นอาจทำให้การแก้ไขปัญหาช้างป่าของประเทศไร้ทิศทาง เนื่องจากยังขาดข้อสรุปทางวิชาการ คณะวนศาสตร์ โดยศูนย์วิจัยป่าไม้ มีภารกิจหลักด้านการศึกษาวิจัย การบริการวิชาการ เห็นสมควรได้มีการจัดการประชุมเพื่อระดมความเห็นในการจัดการช้างป่าของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อเสนอผลการระดมความเห็นทางวิชาการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถนำไปอนุรักษ์ช้างป่าของประเทศให้คงอยู่ตลอดไป