เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

คุณจิรานุช กองเงิน ผู้จัดการโครงการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก องค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ระบุว่า จากการสำรวจใน 166 หมู่บ้าน จาก 9 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย มีเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนประมาณ 13,000 คน พบว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่แต่งงานมีสัดส่วนถึง 65.1% และช่วงอายุที่น้อยที่สุดที่แต่งงานคือ 11 ปี ซึ่งมีทั้งการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็กและเด็กกับผู้ใหญ่ สาเหตุโดยทั่วไปก็มาจากการที่เด็กมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และผู้ใหญ่ก็แก้ปัญหาโดยการให้เด็กแต่งงานกันตามประเพณี รวมทั้งการที่ผู้ใหญ่กระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก และจบปัญหาด้วยการแต่งงาน

 

แม้ในบางสังคมจะเชื่อว่าการแต่งงานเมื่ออายุน้อยจะส่งผลดีคือ “มีลูกทันใช้” แต่การมีลูกทันใช้นั้นกลับมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล ทั้งในด้านร่างกายของเด็กผู้หญิงเอง และด้านสังคม โดย นพ.สุรพันธ์ แสงสว่าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์และคลอดลูก ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดมากกว่าผู้ชาย และโดยเฉพาะผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย ความสูงก็จะหยุดทันที ทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะคลอดลูกก่อนกำหนด ทำให้เด็กที่เกิดมามีร่างกายไม่สมบูรณ์ หรืออาจจะเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เนื่องจากแม่อายุน้อยขาดประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็ก

“เราพบว่าเด็กที่คลอดจากแม่ที่อายุน้อยหรือเป็นวัยรุ่น จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตในช่วงขวบปีแรกสูงกว่า สาเหตุก็มาจากอาการปอดบวม ปอดอักเสบ เนื่องจากแม่ดูแลลูกไม่ดีพอ” นพ.สุรพันธ์กล่าว ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของคุณจิรานุช ที่ระบุว่า สังคมมักจะมองว่าคนที่แต่งงานแล้วไม่ใช่เด็กอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ก็ต้องเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาดูแล ส่งผลให้เด็กต้องแบกภาระความเป็นเมียและความเป็นแม่ต่อไป

ความเป็นเมียและความเป็นแม่เป็นภาระอันหนักหน่วงของผู้หญิงเลย ถ้าท้องก็จะมีปัญหาตามมาเพราะเด็กไม่รู้วิธีดูแลตัวเอง หรือการเลี้ยงลูกที่ถูกต้อง เหมือนเด็กเลี้ยงเด็ก หรือเด็กที่คลอดออกมาอาจจะพิการ ในพื้นที่ของเราก็จะเจอเด็กพิเศษหรือเด็กพิการ เพราะว่าแม่ยังอายุน้อยอยู่” คุณจิรานุชกล่าว

และไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านร่างกายเท่านั้น การแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย ไม่ว่าจะแต่งงานกับเด็กวัยเดียวกันหรือกับผู้ใหญ่ สามารถส่งผลกระทบต่อครอบครัวและสังคมได้ โดยคุณจิรานุชกล่าวว่า ด้วยความที่เด็กยังขาดวุฒิภาวะ เมื่อแต่งงานใช้ชีวิตร่วมกันและต้องเผชิญปัญหาในชีวิตจริงอย่างเรื่องเศรษฐกิจ การทำมาหากิน อาจส่งผลให้เกิดความไม่เข้าใจกัน จนอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวได้ และผลกระทบนั้นอาจจะยิ่งบานปลาย เมื่อทั้งคู่ตัดสินใจเลิกรากัน

“ถ้าเลิกราขณะที่ยังไม่มีลูก ปัญหาที่ตามมาอาจจะไม่มากเท่ากับการที่มีลูกแล้ว เด็กบางคนพ่อแม่เลิกกันแล้วทิ้งลูกไปเลย ต้องอยู่ในชุมชนไปตามยถากรรม หรือถ้าแม่พาลูกไปด้วยแล้วแต่งงานใหม่ การอยู่ในครอบครัวใหม่ แม่จะไม่สามารถปกป้องคุ้มครองลูกได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับสามีใหม่ด้วย บางทีเราเจอหลายๆ เคส ที่เด็กถูกพ่อเลี้ยงทุบตี ถูกข่มขืน หรือถูกละเลย ไม่ได้รับการดูแลเหมือนลูกแท้ๆ เด็กก็จะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ถ้ากรณีที่มีปู่ย่าตายายดูแล ก็จะมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย และรุ่นปู่ย่าตายายก็จะไม่ค่อยเข้าใจวิธีการเลี้ยงเด็กแบบสมัยใหม่ แล้วก็ไม่สามารถช่วยสนับสนุนด้านการศึกษาให้เด็กได้”

“แม่ที่มีอายุน้อยก็จะมีปัญหาในอนาคต เนื่องจากเขาออกจากระบบการศึกษา ก็จะเลือกงานได้ไม่ดี และจะมีภาวะพึ่งพิงสามี ถ้าเลิกกับสามีหรือสามีเสียชีวิต ชีวิตเขาก็จะมีปัญหา ลูกของแม่ที่เป็นวัยรุ่น ก็อาจจะกลายเป็นแม่ที่เป็นวัยรุ่นอีก” คุณจิรานุชสรุป

TV Pool Online