เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 19 มิ.ย. 59 นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากเห็ดพิษ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-6 มิ.ย. 59 ว่า พบผู้ป่วยจำนวน 13 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

สามารถแยกเป็นรายจังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา ไม่พบผู้ป่วย บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 5 ราย สุรินทร์ พบผู้ป่วย 3 ราย และจังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 5 ราย เมื่อเทียบกับปี 2558 พบว่า ในเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 91 ราย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วย 8 ราย บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 8 ราย สุรินทร์ พบผู้ป่วย 59 ราย และชัยภูมิ พบผู้ป่วย 16 ราย

ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปี จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตเนื่องจากกินเห็ดพิษ ซึ่งเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ มีลักษณะใกล้เคียงกันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด สำหรับเห็ดที่ทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง เห็ดพิษชนิดนี้มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกดีแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้ นอกจากเห็ดระโงกพิษแล้วยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลือง และเห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็กของบ้านเรา ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อน ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่

ทั้งนี้ อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้วจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน โดยจะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษ เบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

 

ที่มา – http://www.thairath.co.th/