มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษา ที่มีคำสั่งมาตรา 44 เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เป็นการใช้กฎหมายที่เป็นยาแรงอีกด้านหนึ่ง
รัฐบาลระบุว่า เป็นมาตรการทางกฎหมายเพื่อช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน ของนักเรียนนักศึกษา
พร้อมลดความเดือดร้อนของประชาชนและสังคมที่อาจได้รับผลกระทบ
มุ่งให้นักเรียนนักศึกษาตระหนักรู้มากขึ้นว่า หากตนเองกระทำผิด พ่อแม่ผู้ปกครองจะเดือดร้อน
เพราะพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ต่อการกระทำของเด็กด้วย
การใช้มาตรการที่กำหนดขึ้นนี้ รัฐบาลเองระบุว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ ปลายทาง
โดยเชื่อว่าจะหยุดยั้งพฤติกรรมความรุนแรงของนักเรียนนักศึกษา ให้รู้จัก เข็ดหลาบ
แต่ขณะเดียวกันต้องดำเนินการควบคู่กับต้นทางของปัญหาด้วย คือสถาบันครอบครัวที่ต้องสร้างความรักความอบอุ่นและความเข้าใจ
ส่วนสถาบันการศึกษาต้องช่วยปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้อง ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ และดูแลเอาใจใส่ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
รวมทั้งภาคีเครือข่ายและคนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เป็นต้น
แนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะกลางและระยะยาวดังกล่าวนี้ดูเหมือนเป็นแนวทางที่หน่วยงานต่างๆ พยายามกันมาโดยตลอด
แต่เรื่องสำคัญในอีกจุดที่จะส่งเสริมได้ แต่ยังปฏิบัติไม่เพียงพอ คือการใช้กลไกทางการเมืองในการกระจายอำนาจ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิทธิชุมชน ไม่ให้คนมากระจุกแต่ในเมืองใหญ่
เพราะการสร้างความอบอุ่นในครอบครัวนี้ต้องอาศัยปัจจัยทางเศรษฐกิจเกื้อหนุน ให้พ่อแม่ลูกมีเวลาอยู่ด้วยกัน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นความเหินห่างและแตกร้าว
กระทั่งสร้างสมาชิกที่เป็นปัญหาและย้อนกลับมาทำร้ายสังคม
ที่มา – http://www.khaosod.co.th/
by TVPOOL ONLINE