เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

     นิตยสาร National Geographic เปิดเผยการค้นพบที่น่าตื่นเต้นในโลกสิ่งมีชีวิตตัวปล้อง ในรายงานเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2559 โดยการค้นพบนี้ถูกรายงานอย่างเป็นทางการในวารสาร ZooKeys เป็นผลงานการสำรวจสิ่งมีชีวิตในสกุล Scolopendra หรือตะขาบ ทุกสปีชีส์ทั่วเอเชีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติในกรุงลอนดอน ดอกเตอร์เกรกอรี่ เอดจ์คอมเบ และลูกศิษย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแมลงจากประเทศไทยของเรา ดอกเตอร์วรุฒ ศิริวุฒิ จากการสำรวจจำแนกแยกประเภทโดยละเอียดครั้งนี้ ทำให้ได้ค้นพบ ตะขาบสายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ซึ่งถูกตั้งชื่อเรียกว่า “Scolopendra cataracta” (cataracta เป็นคำภาษาละติน แปลว่า น้ำตก)

     จุดเริ่มต้นของการพบตะขาบพิศวงที่อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี 2001 (พ.ศ. 2545) ตอนที่นักกีฏวิทยา จอร์จ เบคคาโลนิ จากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ กรุงลอนดอน ได้เดินทางมาฮันนีมูนที่ประเทศไทย เขาพลิกดูใต้หินก้อนหนึ่งที่ข้างลำธาร ก็ได้เจอตะขาบตัวใหญ่ ผิวมันเลื่อมสีเขียวเข้มจนดำ แอบอยู่ใต้หิน มันรีบหนีมนุษย์ไปตามสัญชาตญาณ แต่แทนที่มันจะเผ่นหายเข้าไปในป่า กลับดำลงไปในน้ำ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับเบคคาโลนิเป็นอย่างมาก เขาได้ตามจับตะขาบตัวนั้นไว้ได้ เเละนำมันมาใส่ภาชนะที่มีน้ำ ก็ปรากฏว่าเจ้าตะขาบตัวนี้ว่ายน้ำได้ ตัวมันสะบัดพลิ้วเป็นลูกคลื่นในแนวระนาบอย่างคล่องแคล่ว

     ตะขาบว่ายน้ำได้ตัวดังกล่าวถูกเบคคาโลนินำกลับไปยังพิพิธภัณฑ์ในลอนดอน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยจำแนกระบุสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตัวปล้องหลายขานี้ ทว่าก็ไม่ได้คำตอบที่แน่ชัด แม้จะอยู่ในสกุล Scolopendra แต่ก็ไม่เคยปรากฏว่าจะมีตะขาบตัวไหนที่อยู่ในน้ำได้เลย

     จนกระทั่ง ล่าสุดมีผลการสำรวจสิ่งมีชีวิตสกุล Scolopendra อย่างละเอียด จึงได้มีการแยกสายพันธุ์ตะขาบว่ายน้ำได้นี้ออกเป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ Scolopendra cataracta ซึ่งเบคคาโลนิสันนิษฐานว่า ตะขาบสายพันธุ์ Scolopendra cataracta ได้พลิกแพลงการหากินให้ได้เปรียบกว่าเพื่อนตะขาบพันธุ์อื่นๆ คือแทนที่จะแย่งกันหาอาหารบนบก มันกลับลงหาเหยื่อในน้ำแทน โดยคาดว่ามันน่าจะออกหากินในน้ำในเวลากลางคืน ล่าพวกสัตว์น้ำหรือครึ่งบกครึ่งน้ำไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร สำหรับ Scolopendra สามารถเติบโตได้เต็มที่มีขนาดถึง 20 เซนติเมตร

ที่มา – National Geographic , ZooKeys , soccersuck.in.th