รำลึก 14 ตุลา ครบรอบ 48 ปี วันมหาวิปโยค สงครามที่ประชาชนชนะ กับเบื้องหลังที่ยังไม่ลืม
14 ตุลา 64 เป็นวัน ครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนกว่า 5 แสนคน รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการมานานเกือบ 15 ปี
เพิ่มเติม
- เกิดอะไรขึ้นในเหตุการณ์มหาวิปโยค 6 ตุลาคม 2519
- น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จย่า ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 ตุลาคม
ทั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย กับการ ชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งของรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ 14 – 15 ตุลาคม พ.ศ.2516 จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก
สำหรับ สาเหตุ เกิดจากหลายเหตุการณ์ที่เดิดขึ้นก่อนหน้านี้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร การถ่ายโอนอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศนานเกือบ 15 ปี
นอกจากนี้ยังมี การรัฐประหารตัวเอง พ.ศ.2514 ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อ ศุกร์ 5 ตุลาคม 2516 นาย ธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยสมาชิกประมาณ 10 คน เปิดแถลงข่าวที่บริเวณสนามหญ้าท้องสนามหลวงด้านอนุสาวรีย์ทหารอาสา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้
- เรียกร้องให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยเร็ว
- จัดหลักสูตรสอนอบรมรัฐธรรมนูญสําหรับประชาชน
- กระตุ้นประชาชนให้สํานึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพ
วันอาทิตย์ 14 ตุลาคม 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดํารัสผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเวลา 19.15 น. ความตอนหนึ่งว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค… เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนคร ถึงขั้นจลาจล… มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิต”
นับแต่หลังเที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมประท้วงกันมาหลายวันหลายคืน ก็มารวมกันอยู่บริเวณหน้าสวนจิตรลดาอย่างแน่นขนัด เวลาประมาณตี 5 ขณะที่มีการเริ่มสลายตัวของฝูงชน ก็เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวัน จันทร์ 15 ตุลาคม 2516นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนยังคงยืนหยัดชุมนุมกันหนาแน่นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คําประกาศเตือนและขู่ของรัฐบาลหาเป็นผลไม่ กลับมีคนออกจากบ้านมาร่วมชุมนุมไม่ขาดระยะ รัฐบาลมีประกาศหยุดราชการในวันนี้เป็นกรณีพิเศษ และมีประกาศปิดธนาคารทุกแห่ง
ขณะเดียวกัน นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนก็ยืนหยัดต่อสู้อย่างเด็ดเดียว มีการลุกฮือเป็นจุด ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร และในบางท้องที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะที่กองบัญชาการตํารวจนครบาลผ่านฟ้า และสถานีตํารวจนางเลิ้ง นักเรียนและประชาชนพยายามต่อสู้บุกเข้ายึดและเผาตลอดคืนจนรุ่งเช้า
อนึ่ง แม้จอมพลถนอม กิตติขจร จะลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ และก็ยังปรากฏว่า การปราบปรามนักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนยังดําเนินอยู่ต่อไป พร้อมกับมีแถลงการณ์ว่า มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ส่งพลพรรคมีอาวุธร้าย แรงสวมรอยเข้ามา ยิ่งทําให้เห็นว่าเป็นการสร้างความเท็จ สร้างความโกรธแค้นและเกลียดชังยิ่งขึ้น ทําให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชนเกิดพลังในการต่อสู้ต่อไปแม้จะบาดเจ็บล้มตายเป็นจํานวนมากก็ตาม
จากการปราบปรามอย่างรุนแรงและไร้มนุษยธรรม ใช้ทั้งรถถัง เฮลิคอปเตอร์ อาวุธสงครามหนัก ทหารและตํารวจจํานวนร้อย ทําให้เกิดความขัดแย้งในวงการรัฐบาลอย่างหนัก มีทหารและตํารวจที่ไม่เห็นด้วย พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบก เองก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงนี้ ทางด้านทหารอากาศและ ทหารเรือก็เห็นด้วยกับทางฝ่ายของผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นแรงผลักดันให้จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องลาออกจากตําแหน่ง และท้ายที่สุด คณาธิปไตยทั้งสาม ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไป เหตุการณ์ทั้งหมดจึงสงบลงโดยพลันทันที่ที่มีการประกาศว่าบุคคล ทั้ง 3 ได้เดินทางออกนอกประเทศ แล้วเมื่อ 18.40 น.
สรุปเหตุการณ์เดือนตุลาคม พุทธศักราช 2516 มีผู้เสียชีวิต 71 คน บาดเจ็บ 857 คน หนุ่มสาวและประชาชนออกจากบ้าน บางคนได้รับบาดเจ็บ บางคนพิการ บางคนโชคดีที่ไม่เป็นอะไร ซึ่งบางคนก็เสียชีวิต สูญหาย ไม่ได้กลับบ้านอีกเลย แต่พวกเขาทุกคนคือวีรชนที่พาประเทศไทยเดินไปสู่่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ทางการเมือง
by TVPOOL ONLINE