คุณค่าของคนนั้น บางทีก็ไม่ได้วัดกันที่ การศึกษา หรือฐานะของครอบครัว เกรดเฉลี่ยของการเรียน บางทีก็ไม่อาจบอกได้ว่าแท้จริงแล้ว คนๆนั้นอาจจะมีดีมากกว่าตัวเลขที่อยู่บนกระดาษใบนึงซะอีก อย่างเช่นหนุ่มคนนี้
มังกรหยก หรือคุณชายผักสลัด เด็กชายที่หัวทึบที่สุดในโรงเรียน ที่ผู้เป็นพ่อบอกว่าลูกของเขาที่หนึ่งนะ แต่เป็นที่หนึ่งจากข้างหลัง หยกจบ ม.6 ด้วยเกรด 1.7 ซึ่งไม่สามารถใช้เป็นใบเบิกทางเรียนต่อที่ไหนได้เลย แต่เด็กหนุ่มฉลาดพอที่จะค้นพบทางเดินของตัวเองตั้งแต่วันที่เขาเดินออกจากรั้วโรงเรียน เขารู้ว่าเขามีต้นทุนอะไร และจะนำต้นทุนนั้นมาต่อยอดอย่างไร
ต้นทุนที่หยกมี มาจากสิ่งที่พ่อของเขาใช้เวลา 17 ปี เท่ากับอายุของเขา แต่ทำไม่สำเร็จ สิ่งนั้นคือการควบคุมคุณภาพและการทำตลาดผักสลัดที่จะปลูกขายเป็นอาชีพ แต่ความล้มเหลวของผู้เป็นพ่อนั่นเอง ที่ทำให้เด็กชายผู้เติบโตมากับความไม่ได้เรื่องในสายตาของคนรอบข้าง บอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าตัวเองจะโง่งมอย่างไร เขาจะไม่มีวันทำให้พ่อกับแม่ต้องผิดหวังกับตัวเขาอีก ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การเติบโตมากับผักสลัด นอกจากจะทำให้เด็กชายรู้ว่า ผักสลัดนั้นเขาปลูกกันอย่างไรแล้ว มันยังทำให้ ในวันที่เพื่อน ๆ เดินออกจากรั้วโรงเรียน สู่สถาบันอุดมศึกษา เด็กหนุ่มรู้ว่า ฝันของเขาคืออะไร
หยกค้นพบว่า เขาตกหลุมรักและมีความสุขกับการปลูกผักสลัด นอกจากนั้นเขายังค้นพบว่า สิ่งที่พ่อของเขาทำไม่สำเร็จนั้น ต้องแก้อย่างไร จากการเรียนรู้ สังเกต และทดลองลงมือทำด้วยตัวเอง
หลังเดินออกมาจากรั้วโรงเรียน ขณะที่เพื่อน ๆ รอเปิดเทอมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า หยกใช้เวลา 4 เดือน สร้างกิจการผักสลัดอินทรีย์ของตัวเองที่มีออเดอร์เบื้องต้นเดือนละ 1 ตัน กับ 200 กิโล ซึ่งทำให้เขามีรายรับเดือนละแสนกว่าบาท เงินที่ใช้ลงทุนทั้งหมด มาจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ที่ได้มาจากการเปิดอบรมให้ความรู้ผู้ใหญ่ เกี่ยวกับการปลูกผักสลัด แต่กับเด็ก ใครก็ได้ที่สนใจ นอกจากจะสอนฟรี เขายังแจกตำราที่เขียนด้วยตัวเอง พร้อมทั้งเมล็ดพันธุ์ให้ฟรี “ผมเคยขาดมาก่อน และรู้ดีว่ารสชาติของความด้อยและการถูกปฏิเสธนั้นเป็นอย่างไร” เขาบอก “มีคนเคยบอกว่า สติปัญญาของผมนั้นราคาวันละ 20 บาทยังแพงเกินไป แต่ผมไม่เคยใช้คำดูถูกดูแคลนมาเป็นแรงขับ เพราะนั่นเท่ากับผมรับเอาสิ่งนั้นมาไว้ในใจ ผมไม่สนใจ ผมใช้ฉันทะ ใช้ความรัก…”
ปัจจุบัน หยกนอกจากจะขยายพื้นที่ปลูก หยกยังกำลังทดลองหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง เขามีสูตรทำดิน ปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดแมลง รวมทั้งเคล็ดลับในการดูแลผักสลัดของตัวเอง ผักของเขาได้รับใบรับรองมาตรฐานอินทรีย์จากหน่วยงานของรัฐ เขาหาตลาดเอง บริหารการปลูก ไปจนเก็บเกี่ยวเอง ทำการตลาดเอง
“…ผมยังไม่ได้ทำอะไรสำเร็จ ผมเพิ่งเริ่มต้น…” คุณชายผักสลัดบอก
ที่มา – FB Suthipong Thamawuit
by TVPOOL ONLINE