เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันนี้ (14 ก.ย.65) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เรื่องผลกระทบจาก ลองโควิด ว่า…

เมื่อวานนี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิดเพิ่ม 373,989 คน ตายเพิ่ม 1,035 คน รวมแล้วทั้งโลกติดเชื้อโควิดแล้ว 614,587,375 คน เสียชีวิตรวม 6,519,058 คน โดยจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.38 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 69.66

ล่าสุด องค์การอนามัยโลก ภูมิภาคยุโรป ออกประกาศเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 สาระสำคัญคือ ประเมินว่าตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2564 มีผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วประสบปัญหาลองโควิด (Long COVID) ใน 53 ประเทศ อย่างน้อย 17 ล้านคน ซึ่งคาดว่ามีจำนวนไม่น้อยที่จะมีอาการผิดปกติยาวนาน

พร้อมเตือนให้แต่ละประเทศวางแผนรับมือปัญหา Long COVID อย่างจริงจัง และลงทุนทรัพยากรเพื่อทำการศึกษาวิจัย และจัดระบบบริการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพให้แก่ผู้ป่วยที่เป็น Long COVID

ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID หลังจากติดเชื้อ จะมากขึ้นหากติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล, เพศหญิงพบเกิดภาวะ Long COVID ได้ราว 1 ใน 3 และเพศชายพบได้ราว 1 ใน 5

ทั้งนี้ ความรู้ทางการแพทย์จากงานวิจัยทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับ Long COVID มากขึ้น ทั้งในเรื่องกลไกที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์สนับสนุน ได้แก่ การตรวจพบเชื้อ และ/หรือชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสในเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงในเลือด, เซลล์ของระบบต่างๆ ของร่างกายถูกทำลายจากการติดเชื้อ, การพบสารบ่งชี้กระบวนการอักเสบต่อเนื่องในร่างกาย ตลอดจนการกระตุ้นเชื้อไวรัสอื่นที่มีการติดเชื้อแฝงอยู่ เช่น EBV และ VZV

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความผิดปกติได้ในแทบทุกระบบของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นภาวะติดเชื้อในเซลล์สมอง นำไปสู่ภาวะเนื้อสมองฝ่อ (Cortical atrophy) และความเสื่อมถอยด้านความจำ (Cognitive decline) โดยพบว่าผู้ที่ประสบปัญหาทางสมองนั้น จะมีสมรรถนะการคิดเสื่อมถอยลง จะใช้เวลาในการคิดวิเคราะห์นานขึ้นราว 30%

สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ Omicron ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหา Long COVID ด้านสมอง ระบบประสาท และจิตเวช ไม่ต่างจากเดลต้า หรือสายพันธุ์ก่อนหน้า

นอกจากนี้ปัญหาเรื่องหัวใจและหลอดเลือดก็ได้รับการพิสูจน์ให้เห็นว่าพบความเสี่ยงเพิ่มกว่าปกติยาวนานไปถึงอย่างน้อย 12 เดือนหลังติดเชื้อ และอาจนานกว่านั้น

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นก็พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน สูงขึ้น ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

ดังนั้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ชี้ติดโควิด กักตัว 5 วันไม่เพียงพอ เสี่ยงแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง

ด่วน “ราชกิจจานุเบกษา” ประกาศ ห้ามชุมนุม-มั่วสุมเสี่ยงแพร่โควิด ฝ่าฝืนโดนคุก2ปี