เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ความเครียดเรื้อรังในการทำงาน ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบเป็นตัวการสำคัญให้วัยทำงาน เกิดภาวะ BURNOUT SYNDROME หรือภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งหากปล่อยไว้สะสมนานวันเข้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้

BURNOUT SYNDROME ภาวะการหมดไฟคืออะไร?

ภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือคำฮิตที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยว่าอาการ BURNOUT SYNDROME คือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียด จนบางครั้งรู้สึกมีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ เบื่อหน่าย ไม่หยิบจับทำอะไร รู้สึกสูญเสียพลังงานทางจิตใจ มองงานที่กำลังอยู่ในเชิงลบ ขาดความสุข สนุกในเนื้องาน หมดแรงจูงใจประสิทธิภาพการทำงานต่ำลง บางรายอาจรู้สึกเหินห่างจากเพื่อนร่วมงาน จนทำให้ความมีความรู้สึกหมดเรี่ยวแรงในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มอาการ ยังไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่หากปล่อยไว้และอยู่ในสภาพแวดล้อม และสภาพอารมณ์ลักษณะนี้เดิมๆ อาจส่งผลต่อการทำงาน เช่น อาจขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง อาจคิดเรื่องลาออกในที่สุด หรือนานวันเข้าก็อาจเกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้เสมอไป

สาเหตุของภาวะ BURNOUT SYNDROME มาจากอะไร?
     กลุ่มอาการ BURNOUT SYNDROME มักเกิดจากงานที่ทำ เช่น ภาระงานหนัก และปริมาณงานมาก รวมถึงงานมีความซับซ้อน ต้องทำในเวลาเร่งรีบ มีปัญหาการเรียงลำดับความสำคัญของงาน ขาดอำนาจในการตัดสินใจ ทำงานที่ไม่ถนัด ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวคนเดียวโดยขาดที่ปรึกษา รู้สึกไร้ตัวตนในที่ทำงาน หรือไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีมไม่ได้รับการตอบแทน หรือรางวัลที่เพียงพอต่อสิ่งที่ทุ่มเทไป มีปริมาณงานไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากร ระบบบริหารในที่ทำงานที่ขัดต่อคุณค่า และจุดมุ่งหมายในชีวิตของตนเอง

ใครบ้างที่เสี่ยง BURNOUT SYNDROME
จากที่กล่าวมาอาจมองว่าเป็นกลุ่มอาการที่เกิดวัยทำงาน หนุ่มสาวออฟฟิศ หรือหัวหน้า ผู้บริหารที่ที่แบกรับหน้าที่หนักจนเกินไปเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วกลุ่มอาการ BURNOUT SYNDROME สามารถเกิดได้ทุกวัย ทุกเพศ เช่น แม่บ้านที่ต้องดูแลบ้าน เลี้ยงลูก ที่ใช้ชีวิตอยู่ในรูปแบบเดิมๆ ต้องวุ่นวายกับงานบ้าน ทำอาหาร ดูแลลูก ดูแลสามี แบบไม่มีวันหยุด รวมไปถึงเป็นคนที่จริงจังเกินไป ขาดความยืดหยุ่น งานทุกชิ้นต้องดี ไม่มีที่ติ ยึดติดในความสมบูรณ์แบบ (Perfectionism) ความคาดหวังสูง ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง และพยายามควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปตามต้องการ สามารถเกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน

BURNOUT SYNDROME กับวิธีแก้ไขป้องกัน
1. นอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา อย่าเสียเวลาไปกับความกังวลในเรื่องงานของคุณ และพยายามพัฒนาทักษะในการจัดการปัญหา
2. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ
3. ลดความเครียดลง โดยการหากิจกรรมทำนอกเวลา ฟังเพลง ดูหนัง ออกกำลังกาย เป็นไปได้ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั่นๆ
4. ปรับทัศนคติในการทำงาน ทำความเข้าใจในเนื้องาน และองค์กรที่ทำงานด้วย
5. เปิดใจให้กับคนรอบข้าง อย่าลังเลที่จะปรึกษาเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน พยามหลีกเลี่ยงกับคนที่มีความคิดในแง่ลบ ยอมรับความแตกต่างของคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน
6. เปลี่ยนลักษณะการทำงานที่เป็นอยู่ ที่เจอมาเป็นประจำทุกวัน อาจจะมองหางานใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม

แม้ภาวะหมดไฟในการทำงานจัดอยู่ในกลุ่มอาการ ไม่รุนแรงถึงขึ้นโรคซึมเศร้า เพียงแต่เป็นอาการเบื่องาน หมดแรงจูงใจ แต่เมื่อใดที่รู้สึกอึดอัด หดหู่ เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว รู้สึกทุกข์ทรมานกับการใช้ชีวิต หรือมีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้า และควรปรึกษาจิตแพทย์โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจ้านายมาเห็นสภาพลูกน้อง ฉลองปีใหม่กันแบบหมดสภาพ

หนุ่มเมาหมดสภาพ เจอเพื่อนรุมแกล้งอย่างหนัก ขนาดลุกยืนยังไม่ไหว