เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

วันที่ 19 เมษายน 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR – T cell) ภายใต้มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน สามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวน 10 ราย ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายขนาน ยามุ่งเป้าหลายชนิด โดยทั้ง 10 รายหลังได้รับ CAR – T cell ตอบสนองจนโรคสงบทุกราย 100% โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา


ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะปัญญาของแผ่นดินมียุทธศาสตร์สำคัญหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนและร่วมพัฒนาประเทศ  สนับสนุนพันธกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการวิจัย ที่ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลิตผลงานนวัตกรรมต่าง มากมาย ภายใต้นโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการระหว่างสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้พร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อผลิตยาให้สามารถใช้ในประเทศไทยได้เอง ลดรายจ่ายในการดูแลสุขภาพ อีกทั้งยังลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ที่ในแต่ละปีประเทศไทยรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งในครั้งนี้เป็นความสำเร็จในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ ด้วยเซลล์และยีน หรือที่เรียกว่า CAR-T cell  ซึ่งปัจจุบันโรคนี้มีการดื้อต่อยาที่ใช้รักษามากขึ้น และต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาสูงมาก ผลงานวิจัยในครั้งนี้ได้เริ่มนำมาใช้จริงในผู้ป่วย และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี  ซึ่งจะเป็นอนาคตที่สำคัญของวงการแพทย์ไทย

 

 

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีพันธกิจในการผลิตบัณฑิต การจัดบริการรักษาผู้ป่วย รวมถึงวิจัยพัฒนานวัตกรรมการแพทย์อยู่เสมอ ปัจจุบัน นอกจากจะพัฒนาด้านระบบการให้บริการ นวัตกรรมกรรมใหม่แล้ว ยังมีการผลักดันเรื่องงานวิจัยยาซึ่งมีจำนวนมาก แต่ยังคงติดในเรื่องของการไม่สามารถเข้าสู่ Clinical Trial ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาได้เอง ดังนั้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการขยายความร่วมมือกับสถาบันอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนยา ซึ่งในการดำเนินการผลิตภัณฑ์ยา CAR – T cell นับเป็นการรวมพลังจากภาครัฐและภาคเอกชนในการผลักดันให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และผลิตใช้ได้จริง ตามมาตรฐานสากล EMA (European Medicines Agency) และขณะนี้กำลังนำผลิตภัณฑ์ยานี้เข้าสู่กระบวนการการศึกษาวิจัย ในขั้นตอน IND (Investigational New Drug) ของสำนักงาน อย. เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองตามมาตรฐานสากลต่อไป โดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และมูลนิธิรามาธิบดี ที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินโครงการครั้งนี้ และที่สำคัญ คือ บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ที่สนับสนับสนุนโครงการเข้ารับรองมาตรฐานการผลิตยาและอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ได้มีผลิตภัณฑ์ยารักษามะเร็งฝีมือคนไทย เพื่อคนไทยด้วยเทคนิควิธีการตามมาตรฐานสากล

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR – T cell) โดยทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มทำการวิจัยตั้งแต่ ปี .. 2557 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวน 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด บี เซลล์ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายขนาน ยามุ่งเป้าหลายชนิด ตลอดจนบางรายหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้วด้วยโดยทั้ง 10 รายหลังได้รับ CAR – T cell ตอบสนองจนโรคสงบทุกราย (100%) ทั้งนี้ ในขั้นตอนการดำเนินการเป็นการนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยหรือพ่อแม่พี่น้องผู้ป่วยมาทำการเพาะเลี้ยงและดัดแปลงพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วนำผลิตภัณฑ์ยา CAR – T cell มาให้ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ พบว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหมดไปไม่พบทั้งในเลือดและไขกระดูก

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมี บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ได้ลงทุนในห้องปฏิบัติการระดับ GMP (good manufacturing practice)  ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเมื่อ 18 มกราคม .. 2566 ตามมาตรฐานสากล EMA (European Medicines Agency) และขณะนี้กำลังนำผลิตภัณฑ์ยานี้เข้าสู่กระบวนการการศึกษาวิจัย ในขั้นตอน IND (Investigational New Drug) ของสำนักงาน อย. เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองตามมาตรฐานสากลอีกด้วย

 

 

ทำให้เพิ่มโอกาสคนไทยสามารถเข้าถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ เนื่องจากต้นทุนต่ำลงมาก ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทย100% ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุลแตกต่างชัดเจน โดยที่คุณสมบัติทำลายเซลล์มะเร็งยังได้ผลดีทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้สามารถเตรียมการผลิตโดยใช้เม็ดเลือดขาวของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง ทำให้มีโอกาสได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยหลายรายไม่มีเม็ดเลือดขาวเพียงพอที่จะนำมาผลิต  

CAR – T cell ที่ผลิตนี้นอกจากใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด บีเซลล์แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด บี เซลล์ได้ด้วย ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยมหิดลเองกำลังวิจัยผลิตภัณฑ์ยา CAR T-cell สำหรับมะเร็งมัยอิโลมา มะเร็งกระดูก มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมหมวกไต และอื่น อีกตามมา กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลได้วิจัยผลิตภัณฑ์ยา  CAR – T cell ที่เคยมีราคาสูง ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาและผลิตได้เองในประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำลงในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากลเป็นแห่งแรกในอาเซียน มีผลการรักษาในผู้ป่วยเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าจะนำไปใช้ในผู้ป่วยวงกว้างได้ในเร็ววันนี้ ปัจจุบันได้รับการติดต่อจากประเทศเพื่อนบ้านในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานกรรมการ บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งต่อประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันนี้ที่ต้องเผชิญกับโรคภัยที่มีความรุนแรง และยากที่จะรับมือขึ้นเรื่อยๆ  โครงการ CAR-T cell จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาสมัยใหม่ได้มากยิ่งขึ้น การได้มีโอกาสสนันสนุนต่อยอดการดำเนินงานด้านยีนบำบัดในประเทศไทยผ่านการลงทุนในบริษัท เจเนพูติก ไบโอ ในการพัฒนาต่อยอดงานวิจัย CAR-T Cell ของทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ให้สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ตามมาตรฐานสากล

ปัจจุบัน บริษัท เจเนพูติก ไบโอ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP ของโรงงานผลิต ผลิตภัณฑ์ CAR-T Cell จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยานับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ได้ผลักดันให้ประเทศไทย ได้มีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ด้านยีนบำบัดตามมาตรฐาน GMP แห่งแรกเกิดขึ้นในประเทศไทย ในขณะเดียวกัน บริษัท เจเนพูติก ไบโอจำกัด อยู่ระหว่างการนำผลิตภัณฑ์ยา CAR-T Cell นี้ เข้าสู่กระบวนการการศึกษาวิจัยทางคลินิคเพื่อขึ้นทะเบียนยาตามมาตรฐานสากลต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้มากขึ้น รวมทั้งเกิดการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศ  อันจะนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงเป็นทางเลือกการดูแลรักษาสุขภาพของคนไทยต่อไป