ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้! จากเด็กพาร์ทไทม์ก้นครัวสู่เชฟสุดฮอต “แพท ไนลันด์”
ทลายทุกเป้าหมายของชีวิต! ขึ้นแท่นตำแหน่งงานสำคัญใน 3 บริษัทใหญ่
หากคุณมีเป้าหมายที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้อย่างแรงกล้า แต่ดูเหมือนว่าระหว่างทางที่จะไปถึงหลักชัยนั้นมันไม่ค่อยเป็นใจเท่าไหร่ แถมยังผ่านความเหนื่อย และท้อเป็นตัวฉุดรั้งอีก วันนี้เรามีแรงบันดาลใจดีๆ จากบุคคลที่ผ่านอุปสรรคมาหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ในช่วงวัยทีน แต่กลับเติบโตมาอย่างมั่นคงในตอนนี้ด้วยอายุเพียง 27 ปี พร้อมกับจุดยืนในชีวิตที่ไม่เคยเปลี่ยนของเขาคนนี้ เชฟ (Chef) ผู้มากความสามารถ “แพท ไนลันด์ (Pat Nylund)” ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Corporate Executive Chef ให้กับ Exotic Food บริษัทของ “ซอสศรีราชาห่านบิน (Flying Goose)” ที่ส่งออกต่างประเทศกว่า 80 ประเทศทั่วโลก และตำแหน่ง Interior Design ห้องครัวให้กับ บริษัทสหสแตนเลสสตีล (Saha Stainless Steel) รวมถึง Corporate Executive Chef โรงแรมเอรินารา ภูเก็ต ควบ 3 ตำแหน่งสำคัญกับ 3 บริษัทใหญ่ขนาดนี้ การันตีได้เลยว่าประสบการณ์ด้านอาหารของ “เชฟแพท” ย่อมไม่ธรรมดา แต่กว่าจะมาจุดนี้ได้เจ้าตัวผ่านอะไรมาบ้าง “เชฟแพท” เริ่มเล่าจุดเริ่มต้นของตัวเองให้เราฟังแบบน่าสนใจเลยทีเดียว
“ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ14 ตั้งแต่ล้างจาน ล้างห้องน้ำ ต้องบอกว่าคุณพ่อเป็นคนฟินแลนด์ ซึ่งคนฟินแลนด์จะมีการเลี้ยงลูกที่ค่อนข้างอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่คนไทย เขาคืออายุ 15 ต้องเริ่มเก็บเงิน ทำพาร์ทไทม์เพื่อให้เรียนรู้ชีวิต เพื่อให้ได้เจอหลายๆ สิ่ง ซึ่งพอ 15 ปุ๊บคุณพ่อเลิกให้เงินละ ให้แค่ไปโรงเรียนไป-กลับ ถ้าอยากได้อะไร อยากซื้อขนมไม่มี แค่ให้ใช้ชีวิตวันหนึ่งอยู่ได้ นั่นคือคอนเซ็ปต์การเลี้ยงครับ คืออยากให้โตขึ้นไปใช้ชีวิตของเราได้เองเลย คุณพ่อเดินทางรอบโลกเหมือนกันครับ ท่านเป็นวิศวะเคมี อยู่บนเรือขนส่งเคมีภัณฑ์ ปีหนึ่งได้เจอ 3 เดือน ที่เมืองไทย เรือมันจะเทียบท่าไปเรื่อยๆ”
เชฟเติบโตที่เมืองไทย พร้อมวิธีเลี้ยงแบบฟินแลนด์
“ครับ เชฟเติบโตเมืองไทยครับ มีไปฟินแลนด์บ้าง แต่หลักๆ เติบโตที่เมืองไทยครับ แต่ได้รับการเลี้ยงดูแบบฟินแลนด์ ผสมกับไทย การเลี้ยงดูหลักคือคุณแม่ครับ คุณแม่เป็นคนเพชรบูรณ์ มีความบ้าน มีความไปถึงแก่นของ local จิ้มข้าวเหนียวกันไป พอเริ่มเทิร์นที่ 15 อย่างที่บอกคุณพ่อก็ให้เริ่มทำพาร์ทไทม์ แต่ความอายุ 15 การหางานทำในฟินแลนด์กับบ้านเรามันไม่เหมือนกัน บ้านเขามันเปิดโอกาสให้ทำงานเยอะมาก บ้านเราไม่พ้นเด็กเสิร์ฟกับล้างจาน ซึ่งไม่มีทางเลือก เราก็เริ่มจากตรงนั้นครับ โดยที่เราไม่ได้ชอบเลย ก็เริ่มที่ล้างจาน เป็นเด็กเสิร์ฟ 4-5 เดือน จังหวะหนึ่งเราก็ไปสมัครบริษัทหนึ่งที่เป็น Chain ที่เกี่ยวกับอาหาร ก็ไปเริ่มเหมือนเดิมเลยครับ ล้างจาน เด็กเสิร์ฟ ในครัว ได้รายชั่วโมง ถ้าจำไม่ผิดตอนนั้น 36 บาทต่อชั่วโมง พอไปทำงานแล้วเรารู้สึกไม่ได้อยากหยุดที่ล้างจาน อยากทำอย่างอื่นบ้าง เวลาเลิกงานกะตัวเอง ก็จะไปขอทำงานอย่างอื่น ไปยืนเรียนรู้กับเขา จนเราได้ความรู้หลายๆ อย่างในห้องครัว เช่นเรื่องทำแป้งพิซซ่า ทำพาสต้า ด้วยความที่เราเป็นลูกครึ่งเราก็ได้เปรียบเรื่องภาษาเยอะ เพราะบางทีลูกค้าต่างชาติมา เราก็เป็นคนประสานงานให้ ก็จะเป็นที่รักของผู้จัดการ (หัวเราะ) เราทำหมดทุกอย่าง แต่ต้องบอกว่ามันโตค่อนข้างเยอะในการทำงานที่นั่น”
จากการทำงานเพราะเพื่อให้ได้เงิน สู่ความชอบจุดเริ่มมันคือตรงไหน
“ทำงานได้สักหนึ่งปี ทำทุกตำแหน่งในร้าน จนเรารู้สึกว่าเราชอบ ก็เลยเริ่มทำไปเรื่อยๆ และในระหว่างนี้ก็เรียนไปด้วย ตอนนั้นบ้านผมอยู่ที่ลำลูกา คลอง 10 เรียนสตรีวิทยา2 ที่ลาดพร้าว ตี4 ออกจากบ้าน เดินทางหลายต่อหลายทอดกว่าจะถึงโรงเรียน และเลิกงานบ่าย 3 โมง ผมนั่งรถกลับไปลำลูกาเพื่อไปเป็นกะสุดท้ายของร้านอาหาร และปิดร้าน ทำแบบนี้จนจบมัธยม 4-5 และตอนอายุ 18 ปีก็ได้ทำงานกับ BreadTalk เป็นเด็กปั้นขนมปัง อบขนม จนมาถึงจุดหนึ่งเราทำไปเรียนไปจนเราจบมัธยมปีที่ 6 แล้วจังหวะชีวิตตรงนั้นทางเลือกว่าจะไปทางไหน ระหว่างมหาวิทยาลัยที่ไหน เพราะเราเองก็อยากทำ Interior Design ชอบการออกแบบดีไซน์ ที่นี้ด้วยความที่บ้านไม่ซัพพอร์ตรวมไปถึงการทำอาหารด้วย แต่ก็อาศัยหาทุนการศึกษา เอา อาศัยประสบการณ์ทำงานไปยื่นทุนจากมหาวิทยาลัย
ก็จะมีทุนกยศ. อีกที โชคดีที่เราทำงานมาแต่แรก ในโปรไฟล์ก็จะชัดเจนว่าเรามาสายนี้จริงๆ มหาวิทยาลัยก็เลยให้ทุนให้โอกาส ก็ได้เข้าไปที่ “วิทยาลัยดุสิตธานี”
ซึ่งก่อนที่จะไปเรียนร้านขนมปังก็บอกว่าเขามีอีกสาขาหนึ่งข้างซีคอน เราจะทำต่อไหม เราก็โอเคไปทำ ตอนนั้นทำในตำแหน่ง Master Baker เป็นคนสอนปั้นขนมละ พร้อมการไปทำงานอีกที่หนึ่งเป็นครูสอนพิเศษแต่งหน้าเค้ก ของโรงเรียนทำขนมที่อีกหนึ่ง สรุปทำงานพร้อมกันสองที่ และเรียนไปด้วย หมายความว่าตั้งแต่เรียนม.3 จนถึงมหาวิทยาลัยเชฟไม่เคยเที่ยวเลย ไม่มีเพื่อนที่แฮงค์เอ้าท์ กินเหล้ากัน เรื่องพวกนั้นเชฟไม่มีเลย โฟกัสแค่เรื่องงาน รู้อนาคตแล้วว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เลี้ยงดู มันคือฟิกซ์พ้อยต์ของการเติบโตมาที่เราต้องเลี้ยงดูตัวเอง แต่ต้องเล่าก่อนว่าการเลี้ยงดูตัวเองในความของฝรั่ง ในยามที่คุณพ่อคุณแม่แก่ตัว เราไม่ต้องเลี้ยงดูท่าน คือตัวใครตัวมัน ยูต้องเลี้ยงดูตัวเองยืนหยัดด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องยืนหยัดด้วยเงินเก็บ และสวัสดิการต่างๆ ที่เขามีเช่นกัน อันนี้คือหลักการเขา มันทำให้เราไม่ได้ติดหนี้เขา และเขาไม่ได้ติดหนี้เรา มันทำให้รู้ว่าพอจบมหาวิทยาลัยเราต้องดูแลตัวเอง 100% ครับ”
มาในสายงานที่ชอบแล้ว แต่ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับ “เชฟแพท” คือได้ร่วมรายการเกี่ยวกับอาหารชื่อดัง
“พอเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 ก็มี MasterChef India มาถ่ายทำที่ไทยเป็น EP พิเศษ ซึ่งเขาก็ถามหาเด็กฝึกงานที่จะเข้าไปร่วมกับ MasterChef แต่มันก็ข้อจำกัดที่ตั้งมาว่าจะสมัครได้ต้องฝึกงานแล้ว ต้องเป็นเรียนอยู่ปี 3 ขึ้นไป หรือเรียนจบแล้ว ซึ่งตอนนั้นอายุเรา 18-19 ต้องมีอาจารย์เซ็นต์รับรองว่าคนนี้สามารถทำตรงนี้ได้ เพราะมันเป็นภาษาอังกฤษหมด ความรู้เกี่ยวกับอาหารไทยต้องรู้ แล้วเชฟไม่มีสิ่งนั้นสักอันเลย แต่เราก็ไปยื่นก็มีโปรไฟล์ที่เราเคยทำอะไรมาบ้าง คิดว่าในตัวเรามีประสบการณ์มากกว่าคนฝึกงาน แต่ก็โดนตีกลับมาว่าไม่ผ่าน ด้วยความที่คุณพ่อเคยสอนว่า “โอกาสไหนถ้ามันเป็นโอกาสที่มันจะไม่มีมาอีกแล้ว เราต้องหาทางให้มันได้ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง” เราก็คิดหาทางว่ามันจะมีทางไหนให้เราได้เข้าร่วม ก็เลยมีเข้าพบอธิการบดี “อาจารย์กาญจนา” ซึ่งต้องบอกว่าอาจารย์เป็นคนเปลี่ยนชีวิตเชฟเลย การที่ท่านให้เข้าพบ ให้เรายื่นโปรไฟล์ อาจารย์ท่านน่ารักมาก อาจารย์พร้อมให้โอกาสเข้าไปสัมภาษณ์ ต้องบอกตามตรงว่าอาจารย์ก็ไม่ได้เชื่อมั่นในตัวเรา ด้วยความที่อายุเราน้อย แต่อาจารย์ก็ให้ไปสัมภาษณ์กับทีมงาน แล้วเขาก็เลือกเรา 1 ใน 5 MasterChef Intern พอเราได้เข้าไปก็มีการได้พูดคุยกับทีงานสิงคโปร์ต่างๆ ด้วยความที่เราโตมาด้วยเนเจอร์ไทยกับฝรั่ง ทีมงานส่วนใหญ่จะเป็นคนต่างชาติเราก็จะเข้าใจได้ง่าย ก็เลยได้มีโอกาสเป็นหลีด เป็นเวลา 2 เดือน พอจบจากรายการนี้ เราก็เริ่มมองแล้วว่ามันอีกสายงานหนึ่งของเชฟที่น่าสนใจ แล้วมันไม่ได้มีให้ทำได้ง่ายๆ
ทีนี้ “พี่คริต-ชาคริต แย้มนาม” เขาทราบว่าผมไปรายการนี้มา ก็ให้ไปคุยกับ “คุณหนุ่ม-กิตติกร เพ็ญโรจน์” เจ้าของสิทธิ์รายการ MasterChef Thailand และ Iron Chef Thailand หรือ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ก็ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ แล้วก็มาเป็นผู้ช่วยในรายการ ตอนนั้นทำงานกับ “เชฟอาร์ท ประสพโชค” ในเชฟกระทะเหล็กไทย และด้วยความที่เราอยู่กันในกองถ่ายเราก็อยู่กับเชฟหลายๆ ท่านที่อยู่ตรงนั้น แล้วเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จ และเราเองก็ชอบขอไปทำนั่นนี่ช่วยเหลือพี่ๆ อย่าง “พี่กอล์ฟ เอกรินทร์” Food Stylist อันดับต้นๆ ของประเทศไทย ก็มีโอกาสเป็นผู้ช่วยหลายๆ งาน และได้เรียนรู้การเป็น Food Stylist พอทำรายการซีซั่นแรกจบกลายเป็นเราได้ประสบการณ์เยอะมาก ในหนึ่งปีนั้นเราได้เรียนรู้โปรดัคชั่นทีวี ได้เรียนรู้ Food Stylist เรื่องของอาหารที่ได้เรียนรู้จากเชฟหลายคนมาก อย่างเช่น เชฟอาร์ท เชฟเอียน เชฟบุญธรรม และ เชฟชุมพล นั่นคือหนังสือที่เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้เลย ทำให้เรามองอาหารเป็นมุมกว้าง ไม่เจาะจงอาหารประเภทเดียว ตัวเชฟเองไม่ได้ตีว่าตัวเองถนัดครัวประเภทไหน แต่มองว่าเชฟเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อ Cuisine ที่หลากหลายรวมกัน ครอบคลุมได้ทุกอย่าง และนั่นคือจุดเริ่มต้นครับ กับ ณ ตำแหน่งตอนนี้เราเรียกตัวเองว่า Corporate Executive Chef Chef (ยิ้ม)”
ตอนนี้เชฟฮอตมาก ทำงานในหลายที่ ช่วยเล่าเจาะลึกงานที่เชฟรับผิดชอบให้ฟังได้ไหม
“กับตำแหน่ง Corporate Executive Chef ให้กับ Exotic Food เป็นบริษัทของ “ซอสศรีราชาห่านบิน (Flying Goose)” ที่ส่งออกต่างประเทศกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ตัวเชฟเองดูแลในเรื่องของ Marketing department ดูในเรื่องของการออกงาน ออกอีเว้นท์ คิดคอนเซ็ปต์ คุยกับลูกค้าที่นำซอสของเราไปเผยแพร่ในประเทศนั้นๆ และทุกๆ ในที่เป็นอีเว้นท์ ยกตัวเองในประเทศไทยจะมีงาน THAIFEX เป็นงานอาหารประจำประเทศที่ทุกประเทศจะจัด ซึ่งๆไทยเราก็มี เชฟก็จะแพลนอาหาร และคอนเซ็ปต์ในงานนั้นทั้งหมด
ถัดมาที่งานสายที่สองทำ Interior Design ห้องครัวให้กับ บริษัทสหสแตนเลสสตีล (Saha Stainless Steel) เป็นบริษัทผลิตห้องครัวแบบมืออาชีพให้กับโรงแรมห้าดาว และร้านอาหารมิชลิน เรามี “เชฟเอียน” เป็นแบรนด์เอมบาสเดอร์ ทำสองงานนี้ไปพร้อมกัน อีกงานหนึ่งที่แทรกมาด้วยก็จะทำคอนเซ็ปต์ให้กับลูกค้าที่เป็นร้านอาหารต่างๆ อยากจะเปิดครัวเมนูใหม่ อยากทำอีเว้นท์ไปเปิดตัวที่ไหน เชฟเป็นคนกลางที่เชื่อมต่อให้ และที่สามอย่างที่ทราบกันก็ของ โรงแรมเอรินารา ก็เป็น Cooperate Executive Chef เหมือนกันก็ดูมุมกว้างของอาหารทั้งหมด ก็ไปทุกเดือนเพื่อดูแลครับ ตอนนี้เจาะจงดูที่ห้องอาหารเดอะบีช อย่างของเดอะบีช เชฟก็เป็นคนร่างแบบเองทั้งหมด วางระบบการทำงาน แล้วก็คิดเมนูร่วมกับ “เชฟจั๊ม” ที่เป็น Executive Chef อันที่สี่ทำ MC ให้กับอีเว้นท์งานต่างๆ ที่เกี่ยวกับอาหาร มันเป็นอีกสิ่งที่เชฟเอาไปอุดรู เพราะคนทำอาหารจะพูดไม่ค่อยเก่ง จะมีปัญหาแบบพิธีกรไม่รู้จะถามอะไร คนทำก็ไม่รู้จะตอบอะไร บางเรื่องต้องมีความชำนาญเฉพาะทางถึงจะเข้าใจ อีกอย่างคนเป็นเชฟจะจริงจังมาก จะพูดไม่ได้ เพราะสมาธิหลุด แต่สำหรับเชฟทำไปพูดไปได้ (หัวเราะ)”
กับทางซอสศรีราชา “เชฟแพท” มีส่วนร่วมอะไรตรงไหนบ้าง
“อย่างที่ทราบกันดีว่าซอสศรีราชามีมาอย่างยาวนาน ตัวสูตรจะพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จะพัฒนามาจากข้อมูลที่ว่าประเทศนี้อยากได้รสอะไร ต้องบอกว่า “ซอสศรีราชาห่านบิน (Flying Goose)” มีมากกว่า 30 รสเลยทีเดียว ศรีราชาห่านบินจะมีจุดเด่นที่ว่าเอาไปแตกหลากหลายรสชาติมาก มีรสต้มยำ รสกิมจิ รสวาซาบิ แต่ละตลาดทั่วโลกก็จะไม่เหมือนกัน ล่าสุดมีคอลแลปกับบาเลนไทน์วิสกี้ซอส เป็นศรีราชาวิสกี้ ตอนนี้ที่อเมริกาเริ่มขายของ เขาเอาไปผสมกับดริ๊งค์เลย เป็นดิฟกินกับของทอด เป็นรสชาติวิสกี้ที่กินกับของสโมค เป็นแบรนด์ที่ฉีกแนว อย่างที่อเมริกาจะมีซอสศรีราชาด้วย แต่เป็นของเวียดนาม ซึ่งไม่เหมือนกับเราแน่นอน เพราะซอสเราผลิตจาก อ.ศรีราชา เป็นพริกเม็ดใหญ่จากที่นั่น เราให้เกษตรกรปลูก และส่งเข้าโรงงานผลิต ส่วนของในประเทศไทยก็มีที่ทำซอสศรีราชา แต่ก็จะเป็นแบรนด์อื่นๆ ต้องอธิบายว่าศรีราชามันคืออำเภอ แต่ซอสศรีราชามันคือชื่อชนิดของซอสไม่ใช่ยี่ห้อ มันมาจากพริกศรีราชาครับ ยกตัวอย่างซอสมะเขือเทศ ก็จะมีหลากหลายแบรนด์ ซึ่งซอสศรีราชาก็จะแบบนั้นเลย”
และที่มาที่ไปของซอสศรีราชาที่เลื่องลือคือเริ่มจากตรงไหนอยากให้เชฟช่วยเล่าให้เราฟังกันหน่อย
“ตัวซอสพริกศรีราชาแต่ก่อนที่ได้ข้อมูลมา แต่ก่อนมันมีน้ำพริกศรีราชา ซึ่งคือพริกตำในครก ไม่ได้เป็นซอส เพราะมันไม่มีเครื่องปั่น ก็จะตำแหลกๆ และพัฒนาจนมาเป็นซอส และบังเอิญที่ว่าเวียดนามบ้านเขาก็มีซอสพริกของเขาเหมือนกัน แต่มันไม่ได้ชื่อศรีราชานะ เขาก็มีชื่อเรียกของเขา เอาไว้กินกับเฝอ แต่ของบ้านเราเหมือนชาวเวียดนามเขาหนีสงครามมา แล้วบังเอิญไปต่อเรือที่ศรีราชา เพื่อไปอเมริกา เรือ
ที่ไปส่งชื่อศรีราชา ก็เลยเป็นที่มาว่าเขาเอาชื่อไปใส่ ตอนที่ทำอาหารให้คนที่นั่นกินและมีซอสในนั้น แต่เขาไม่รู้จะเรียกว่าก็เลยนึกถึงเรือที่นั่งมา จริงแท้ไม่แน่ใจนะครับ เพราะเป็นเรื่องที่เล่าต่อๆ กันมา แต่ที่เขาอพยพจากเวียดนามมาบ้านเรา แล้วไปต่ออเมริกานี่คือเรื่องจริง”
แบบนี้ซอสที่นั่นจะรสชาติเหมือนกับที่ผลิตที่ไทยไหม
“พริกที่เขาใช้ที่อเมริกามันก็ไม่ใช่พริกศรีราชา สัดส่วนมันจะไม่เหมือนของไทยเลย ถามว่ามันเป็นซอสพริกไหมเป็น แต่รสชาติไม่เหมือน แต่เขาเอาชื่อศรีราชาไปใช้ มันเลยทำให้คนสับสนว่าศรีราชาของอเมริกาเหรอ หรือของเวียดนามเหรอ ไม่ใช่ศรีราชาคือชื่ออำเภอของไทย จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่นั่น บางบริษัทก็มีที่ไม่ได้ผลิตที่ศรีราชา แต่เขาก็เรียกแบบนี้เพราะมันคือสไตล์ของซอส “สไตล์ของศรีราชา” แต่ความต่างที่มันทำให้ต่างของ “ซอสศรีราชาห่านบิน (Flying Goose)” คือเราจะมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพที่ค่อนข้างสูง ถ้าเปรียบเทียบกันของเราส่วนผสมสัดส่วน พริกอยู่ที่ 61% ที่อื่นจะอยู่ที่ 20-30% และจะเป็นแป้ง เป็นน้ำ เป็นสัดส่วนผสมเพิ่ม ตัวซอสจะไม่เหมือนกันความหนืดข้นไม่เหมือนกันเลย ถ้าใส่แล้วมาวางเรียงกันชิม รสชาติจะแตกต่างแบบสัมผัสได้เลย ของเราจะเข้มข้นเท่ากับเหมือนซื้อของแบรนด์อื่นมาผสมกัน 2 ขวดเลยครับ ของเราไม่ใส่แป้ง เป็นวีแกน มีฮาลาล ของเรารับรองลูกค้าทั่วโลก 80 ประเทศ ทำให้เรามีเอกสารเยอะแยะมากมายที่จะสามารถส่งออก และเพื่อการันตีปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ตอนนี้ห่านบินมีมากกว่า 30 รสชาติ ในประเทศไทยมี 5 รสชาติ รสชาติออริจินอลคือขายดีที่สุด”
“เชฟแพท” พ่วงตำแหน่งพรีเซ็นเตอร์ของ “ซอสศรีราชาห่านบิน” ทำคอนเทนท์สายแอดเวนเจอร์ทั่วโลก
“เป็นในส่วนของ Marketing department ที่เชฟจะต้องสื่อสารแบรนด์ออกมาให้ชัดเจนว่าแบรนด์ของเราแตกต่าง และไม่เหมือน ให้มองกลับมาว่าเราฉีกกรอบ ออกมานอกกรอบของซอสพริกศรีราชาเลย วิธีคิดของเราจะคิดแบบไทยผสมต่างชาติในความต้องการ อย่างเอาศรีราชาไปใส่ในต้มยำ เวลาคนไทยมองอาจจะเอ๊ะยังไง แต่สำหรับฝรั่งมันเป็นไปได้ เหมือนเราไปอเมริกาแล้วไปกินผัดกะเพรา แต่มันไม่ใช่ใบกะเพรา เป็นใบโหระพาแทน ถามว่าทานได้ไหม ทานได้ครับ แต่แค่รสชาติไม่เหมือน แต่คนอเมริกาชอบโหระพาหรือกะเพรา คนที่นั่นชอบโหระพามากกว่านะ เรามีซอสรสออริจินัลที่ทำให้คนออริจินัลทาน และในแต่ละประเทศที่มีลิ้น เทสในรสชาติที่ไม่เหมือนกัน เราก็ทำซัพพอร์ตเขา มันคือการทำ Exposure ของเรามากขึ้น เพราะเรามีทั้ง ศรีราชาอินเดีย ศรีราชาเกาหลี ศรีราชาญี่ป่น ศรีราชาไทย เราจะมีรสชาติของแต่ละชาติ”
ทราบมาว่าเชฟยังมีอีกหนึ่งโปรเจ็คท์ที่ทำร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ของจุฬาฯเป็นอีกโปรเจ็คท์ที่เชฟทำงานให้ เป็นแลป “เส้นไข่ขาว (Eggyday)” ตอนนี้เชฟดูในเรื่องของการที่เอาตัวเส้นไปปรุงในรสชาติที่เหมาะกับคนที่กินอาหารเฮลตี้ เป็นเชฟที่ปรึกษาของแลปของมหาวิทยาลัย มาแก้ปัญหาในเรื่องของคนที่ไม่กินแป้ง มันไม่ต้องแช่ตู้เย็น วางข้างนอกเป็นเดือนได้เลย โดยที่ไม่เสีย เส้นไข่ขาวเป็นเส้นแบบเส้นก๋วยเตี๋ยวเลย จะมีช่วงที่ทำงานเชฟแล้วคุมน้ำหนักยาก ก็จะมีช่วงที่คุมตอนไปต่างประเทศ เชฟจะพกไปด้วย ไปกินบนเครื่องบิน อีกอันที่เป็นเมนพ้อยต์เลยด้วยความี่เชฟชอบกินไข่ แล้วไปปีนเขา ปกติไปปีนเขา 4-5 วัน อาหารที่แบกไปมันน้ำหนักเยอะ เราเหนื่อย ต้องการพวกโปรตีน ไข่มากิน มันหาไม่ได้ เพราะมันจะเสียก่อน แต่พอมาเป็นเส้นไข่ขาวที่บรรจุในแพ็ค มันไม่ต้องแช่ เชฟพกไป 10 ซองบนเขา หิวเมื่อไหร่ก็ฉีกกิน ไม่ต้องตั้งกองไฟด้วย มันกินได้เลย เชฟก็ทำหมี่เย็นกิน แล้วก็มีซอสขวดเล็กๆ พกไปบีบใส่แล้วก็กิน แล้วเวลาไปเราก็ไปคนเดียว ไม่มีใครกล้าไปกับเชฟ
ทำเองทุกอย่างเลยถ่ายคลิป บินโดรน ตอนบินไปมันไม่น่ากลัวนะ แต่ตอนปีนตอนขึ้นเขาก็จะโหดๆ หน่อย”
จากเรื่องเล่าในวัยเด็กสู่จุดเริ่มต้นการทำงานในสายอาชีพที่รัก “เชฟแพท” ผ่านมาทุกรูปแบบของจริง แบบนี้แล้วเป้าหมายต่อไปของเจ้าตัวจะเป็นยังไงต่อไป
“หลักการดำเนินชีวิตของเชฟ ต้องบอกว่าเป็นวิถีของคนฟินแลนด์ที่เขาเรียกว่า SISU เป็นเหมือนคำสอนที่มีแต่โบราณ SISU มันไม่ได้มีความหมายตรงตัว แต่หลักๆ คือแปลตามที่เข้าใจ ทั่วกันคือ “เราพึ่งตัวเอง และอยากทำอะไรก็ทำ ก็คือชีวิตไม่มีกำแพง อะไรเราก็ทำได้ ขอแค่ให้เราทำก่อน” ต่อให้มีกำแพง SISU ก็จะบอกว่าเราจะพยายามฝ่าไปให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เราจะมุ่งไป ต่อให้มีคนบอกว่าอย่าทำ ต้องบอกว่าจุดหนึ่งของชีวิตที่ทำให้เชฟรู้สึกว่าเป็นความโชคดีมาก คือต่อให้มีคนมาบอกเชฟว่าอย่าทำ ไม่คุ้ม ไม่ดี แต่เราไม่เคยฟัง ขอลองทำ และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ในหลายๆ ครั้งนะครับ มันจะมีคำพูดหนึ่งที่เชฟชอบมากๆ เลย “ถ้าเราจะออกไปเที่ยวรอบโลก แล้วมีคนมาบอกว่าอย่าทำเลย เราอย่าไปฟังคนที่ไม่เคยทำ” เชฟจำคำนี้ได้เลย เป็นคำปิดที่เชฟชอบมาก
เป้าหมายต่อไป ต้องบอกว่าในระยะ 11 ปีเชฟทำลายเป้าหมายตัวเองมา 3-4 ครั้งแล้ว ครั้งแรกตอนที่หางานที่ทำแล้วรู้ว่าตัวเองจะทำงานยึดมั่นด้านไหน ตอนที่เข้ามหาวิทยาลัยละดรอปเพื่อไปทำอินเทิร์น แล้วไม่ได้เรียนต่อเลย เป้าหมายที่สอง Interior Design ก็ได้ทำแล้ว เป้าหมายที่สามอยากทำเรื่องพิธีกรก็ได้ทำแล้ว เป้าหมายที่สี่เดินทางรอบโลกก็ได้แล้ว ซึ่งในวัย 27 ของเราเราทลายเป้าหมายที่เราอยากทำตั้งเป้าไว้ แต่ถ้าถามตัวเองเป้าหมายต่อไปคือความสงบครับ ความสงบของจิตใจ ตอนนี้ไม่ได้มีอะไรที่อยากมีเพิ่มขนาดนั้น ทุกอย่างมันโอเคไปได้ดีของมัน เราอายุน้อยเลยยังไม่ได้มีเป้าหมายใหม่เร็วๆ นี้ เป้าหมายตอนนี้รักษาให้มันคงที่ ไม่ต่ำกว่าเดิม มีแต่สูงขึ้นกว่าเดิมครับ (ยิ้ม)”
หลังจากได้พูดคุยกับ “เชฟแพท” ในวันนี้ ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ หากเราตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างแท้จริง เชื่อว่าสิ่งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีความฝันไปถึงเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน!
by TVPOOL ONLINE