วันที่ 26 มีนาคม 2568 น.ส.กัญจน์รัตน์ ศักดิกรธนาศิริ หรือ ไก่ อายุ 50 ปี ชาวอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงการใช้เงินจำนวน 6 ล้านบาท เพื่อโคลนนิ่ง “พะแพง” สุนัขสายพันธุ์เฟรนช์บูลด็อก เพศเมีย อายุ 5 เดือน ซึ่งเป็นสุนัขคู่ทุกข์คู่ยากที่ตายไป ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
กระบวนการโคลนนิ่งครั้งแรกของไทย
น.ส.กัญจน์รัตน์ เล่าว่า พะแพงเป็นเสมือนลูกสาวของตน ก่อนจะเสียชีวิตจากภาวะคุชชิ่ง (Canine Cushing’s Syndrome) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ ตนจึงตัดสินใจติดต่อ น.สพ.ศุภเสกข์ ศรจิตติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์สัตวแพทย์ เพื่อขอให้ช่วยโคลนนิ่งพะแพงกลับมา
ก่อนดำเนินการโคลนนิ่ง น.สพ.ศุภเสกข์ ได้สอบถาม น.ส.กัญจน์รัตน์ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) หากเธอเสียชีวิต ใครจะดูแลสุนัขโคลนนิ่ง ซึ่งเธอได้ทำพินัยกรรมให้ผู้ดูแลสุนัข 16 ตัว รวมถึงพะแพง ไว้เรียบร้อยแล้ว และ 2) เธอจะสามารถรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมได้หรือไม่ ซึ่งเธอยอมรับว่าเข้าใจข้อโต้แย้งและยินดีน้อมรับความคิดเห็นต่าง ๆ แต่สำหรับเธอ พะแพงเป็นสุนัขที่อยู่เคียงข้างในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จึงยอมจ่ายเงินก้อนโตเพื่อให้ได้กลับมา
หลังได้รับคำตอบ น.สพ.ศุภเสกข์ จึงดำเนินการเก็บเซลล์จากบริเวณหลังใบหูของพะแพง และส่งไปยังประเทศเกาหลีใต้ เพื่อให้ ศ.ดร.ฮวาง วู ซุก ผู้เชี่ยวชาญด้านโคลนนิ่งดำเนินกระบวนการเพาะเลี้ยงเซลล์และขยายจำนวน
อุปสรรคและความสำเร็จของกระบวนการโคลนนิ่ง
ในช่วงแรกของการทดลอง พบว่าลูกสุนัขหลังคลอดไม่สามารถหายใจเองได้และเสียชีวิต จึงต้องใช้เทคนิคการตัดต่อพันธุกรรม กระบวนการนี้ใช้เวลานานกว่าหนึ่งปีและสำเร็จในครั้งที่ 5 ทำให้พะแพงกลายเป็นสุนัขโคลนนิ่งที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมตัวแรกของประเทศไทย
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านบาท โดย 3 ล้านบาทเป็นค่าโคลนนิ่ง ส่วนค่าตัดต่อพันธุกรรม ศ.ดร.ฮวาง วู ซุก ไม่คิดค่าบริการ ซึ่งปกติอาจมีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท เนื่องจากเห็นถึงความรักที่ น.ส.กัญจน์รัตน์ มีต่อพะแพง
พะแพงกลับมา พร้อมความทรงจำเดิม
หลังจากพะแพงอายุ 4 เดือน น.ส.กัญจน์รัตน์ได้พบกับเธอเป็นครั้งแรก โดยพะแพงจ้องมองเธอประมาณ 1 นาที ก่อนแสดงอาการจำเธอได้ และที่น่าประหลาดใจที่สุดคือสามารถเข้าใจคำสั่งภาษาไทยได้ ซึ่งตรงกับที่คุณหมอเคยแจ้งว่า สุนัขโคลนนิ่งจะคงลักษณะภายนอก สี และพฤติกรรมบางอย่างจากต้นแบบไว้ รวมถึงความทรงจำบางส่วน
ยอมรับคำวิจารณ์ แต่เชื่อว่าเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
น.ส.กัญจน์รัตน์ ระบุว่า ตนยอมรับว่ามีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ หลายคนมองว่าเป็นการฝืนธรรมชาติ แต่เธอเชื่อว่าโคลนนิ่งเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเป็นวิธีการที่ช่วยให้เธอได้พบกับสิ่งที่รักอีกครั้ง โดยไม่ได้เบียดเบียนใคร และหวังว่าผู้คนจะเคารพการตัดสินใจของเธอ
ส่วนร่างของพะแพงตัวเดิม ขณะนี้ยังถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพแช่เย็น และจะฝังในพื้นที่บ้านของเธอเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม
ข่าวที่น่าสนใจ
ผลการลงมติ ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ นายกฯ แพทองธาร 2568 มีมติไว้วางใจด้วยคะแนน 319 ต่อ 162 คะแนน
by TVPOOL ONLINE