เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

จัดระเบียบทางเท้าสยามฯ ไม่ง่าย! ผู้ค้าปักหลักประท้วง เหตุทำเลใหม่ไม่เหมาะสม วอนผู้บริหารบ้านเมืองลงมาดูความเดือดร้อน ขณะที่แอดมินเพจดังต่อต้านแผงลอย มองว่าจะจัดระเบียบสำเร็จต้องขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลัก…

จากกรณีที่กรุงเทพมหานคร มีการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าบริเวณสยามสแควร์ และยกเลิกจุดผ่อนผันตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 59 หลังยืดระยะเวลาให้จากเดิมที่จะสิ้นสุดในวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา จนส่งผลให้เกิดความชุลมุนวุ่นวาย เนื่องจากสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มผู้ค้า แม้ว่า กทม.จะหาพื้นที่รองรับให้ไปค้าขายบริเวณใต้ทางด่วนพงษ์พระราม ซึ่งรองรับผู้ค้าได้ประมาณ 620 ราย และจะยังไม่เก็บค่าเช่าในเบื้องต้นก็ตาม โดยกลุ่มผู้ค้าอ้างว่าทำเลใหม่ไม่มีความเหมาะสม

NjpUs24nCQKx5e1EzT3bIYa911rTrNTGWvuUmiOpyb2

ตามรายงานข่าวระบุว่าตลอดทั้งวันที่ 5 ต.ค. ยังคงมีผู้ค้าบางส่วนนำราวเหล็กติดป้ายข้อความ นั่งปักหลักเพื่อรอเจรจากับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โดยบางส่วนอยากพูดคุยกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ด้านแอดมินเพจ ‘กลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย’ (ไม่ประสงค์ออกนาม) ซึ่งมีเจตนารมณ์ต่อต้านการขายของบนทางเท้า เปิดเผยกับทีมข่าวว่า 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้การจัดระเบียบทางเท้าเป็นไปอย่างยั่งยืน ได้แก่

1. เจ้าหน้าที่รัฐเอาจริงมากแค่ไหน เพราะบางจุดที่เคยจัดระเบียบ อาทิ สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต, หน้าเมเจอร์ รัชโยธิน ปัจจุบันกลุ่มผู้ค้าเริ่มกลับมาแล้ว ซึ่งหากเป็นไปได้ควรแก้ไขกฎหมายด้วย เนื่องจากบางร้านในแต่ละวันขายได้หลักหมื่น แต่เสียค่าปรับเพียง 2,000 บาทเท่านั้น

2. ผู้ซื้อผู้บริโภค ควรปรับตัวไม่ซื้อ ไม่อุดหนุน เพราะหากไม่มีคนซื้อ ผู้ขายก็อยู่ไม่ได้

3. ผู้ค้าควรมีจิตสำนึกว่า การตั้งร้านค้ากีดขวางเป็นการริดรอนสิทธิ์คนที่ใช้ทางเท้าอยู่หรือไม่ หากประชาชนที่สัญจรลงไปเดินบนถนน และเกิดอุบัติเหตุรถชนจะรับผิดชอบไหวมั้ย

แอดมินเพจกลุ่มคนไทยฯ ยังระบุอีกว่า ส่วนตัวเคยไปหยอดถามผู้ค้าย่านสยามสแควร์ว่า หากสนใจมาขายของบ้างต้องเสียเงินเท่าไร ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ จ่ายค่าปรับรายวันให้เจ้าหน้าที่เทศกิจ แต่ต้องมีค่าเซ้ง เมื่อถามกลับว่าค่าเซ้งจ่ายให้ใคร ผู้ค้าก็เลี่ยงตอบคำถาม

สำหรับกรณีที่มีประชาชนบางส่วนมองว่า การจัดระเบียบดังกล่าวจะเป็นการบีบให้คนเข้าห้างสรรพสินค้ามากขึ้นหรือไม่นั้น แอดมินเพจดังกล่าวมองว่า ทุกคนควรทำตามกฎหมาย มิเช่นนั้นจะเป็นการตัดโอกาสคนค้าขายที่ทำอย่างถูกต้อง เพราะผู้ค้าแผงลอยบางส่วนก็ไม่ใช่คนยากจน มีรถหรูมาลงของก็มีให้เห็นจนเรื่องเป็นชินตา

“แผงลอยจะมาช่วงเย็น พนักงานบางคนในย่านดังกล่าว ห่วงว่าของกินราคาถูกจะหายไป ต้องถามกลับว่าแล้วมื้อเช้า มื้อกลางวันกินกันที่ไหน เอาจริงๆ อย่างห้างสยามพารากอน ก็มีฟู้ดคอร์ทสำหรับพนักงาน และอาหารที่ขายกันตามแผงลอยช่วงเย็นของทุกวันราคาก็ไม่ถูกนะ” แอดมินเพจกลุ่มคนไทย ไม่เอาหาบเร่ แผงลอย กล่าวทิ้งท้าย

99

ที่มา – thairath