เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ที่วัดร้องขุ่น อ.เมือง จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2554 ผู้ก่อสร้างวัดร่องขุ่น เปิดเผยว่า ตนเป็นผู้ที่รักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯมาตั้งแต่เกิด โดยเคยทราบเรื่องการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังหลายจังหวัด รวมถึงที่ จ.เชียงราย โดยทรงช่วยเหลือชาวไทยที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงและด้านอื่นๆ มากมาย เมื่อตนเติบโตขึ้นและได้มีโอกาสไปเรียนด้านการวาดรูปหรือจิตรกรรมจึงได้รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงชอบการวาดภาพและยังทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างมากอีกด้วย

ตนยังเรียนวิทยาลัยเพาะช่างว่าจะขอมีโอกาสถวายงานด้านศิลปะเพื่อพระองค์สักครั้งหนึ่งในชีวิต ตนจึงได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนด้านศิลปะอย่างแข็งขัน ต่อมาเมื่อจบมหาวิายาลัยศิลปากร จึงได้รับทราบจากอาจารย์ของตนซึ่งเคยเข้าเฝ้าพระองค์ว่าขณะนั้นยังไม่มีศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตรกรรม สถานปัตยกรรมและปฏิมากรรม โดยศิลปะที่มีอยู่เป็นศิลปะที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตเท่านั้น ยิ่งทำให้ตนพยายามตั้งใจจะสร้างผลงานทางศิลปะเพื่อให้อยู่คู่รัชกาลที่ 9

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า แรงบันดาลใจดังกล่าวยังทำให้ตนได้เลือกเรียนวิชาศิลปะไทย เพื่อที่จะสร้างงานศิลปะสมัยใหม่ โดยตนได้อุทิศตนด้วยการเดินทางไปวัดพุทธประทีป ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและร่วมกับรุ่นน้องคนหนึ่งวาดรูปศิลปะร่วมสมัยเพื่อถวายพระองค์โดยใช้เวลาสร้างสรรค์ผลงานเป็นเวลา 4 ปี เมื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ก็ทรงมีพระราชนิพนธ์หนังสือพระมหาชนก และได้รวบรวมจิตรกรรมที่เป็นศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 จากศิลปินทั้งหมด 8 คน ตนจึงได้มีโอกาสได้ถวายงานพระองค์ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมในตอนพระมหาชนกออกเรือแล้วเรือแตก ว่ายน้ำ 7 วัน 7 คืน ซึ่งตนเห็นว่าเป็นตอนที่ดีที่สุดด้วยจึงเป็นความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณต่อตนอย่างล้นพ้นหาที่สุดไม่ได้

อย่างไรก็ดี การที่ตนได้มีโอกาสถวายงานในหนังสือพระมหาชนกนั้นทำให้ตนได้ล่วงรู้หลายเรื่อง โดยเฉพาะได้เห็นพระองค์ทรงตรวจงานที่มีอยู่เป็นจำนวนมากอย่างละเอียด เมื่อตนได้ถวายงานแทบเบื้องพระยุคลบาทก็ได้นำรูปเข้าถวายทีละชิ้นเพื่อให้พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งทำให้ตนได้ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง ทรงมีความทุ่มเทและละเอียดอ่อน

“จากนั้นมาผมก็ยอมถวายชีวิตตัวเอง ตั้งใจว่าเมื่อเสร็จจากงานหนังสือพระมหาชนกแล้วก็จะกลับบ้านที่ จ.เชียงราย แล้วมาทุ่มเทเพื่อสร้างงานศิลปะสมัยใหม่ประจำรัชกาลของพระองค์ให้มีความยิ่งใหญ่ เพื่อจะได้ตอบแทนในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จนในปัจจุบันได้ทำให้มีวัดร่องขุ่นที่มีผลงานทางศิลปะที่ยิ่งใหญ่ให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางชมศิลปะในสมัยของพระองค์ และผมก็จะทำต่อไปจนวันตาย” อาจารย์เฉลิมชัย กล่าว

ที่มา – bangkokbiznews.com