เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แม้พระองค์จะทรงเริ่มศึกษาภาษาไทยเมื่อพระชนมพรรษา 13 -14 พรรษาก็ตาม แต่ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านภาษาผ่านงานพระราชนิพนธ์จำนวนมาก บางส่วนได้ถูกนำมาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์แอนิเมชั่นและละครเวที

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านภาษา เรียกได้ว่าทรงเป็นนักภาษาที่เชี่ยวชาญพระองค์หนึ่ง ทรงรับสั่งภาษาต่างประเทศได้ถึง 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน ซึ่งพระปรีชาสามารถนี้เป็นที่ประจักษ์เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ทรงใช้ภาษาต่างประเทศทั้ง 3 ภาษาได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงภาษาไทย

แม้พระองค์จะประทับอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงเริ่มศึกษาภาษาไทยเมื่อมีพระชนมพรรษา 13-14 พรรษาก็ตาม แต่พระองค์ทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านภาษาผ่านงานพระราชนิพนธ์ และงานแปลจำนวนมาก ซึ่งผลงานพระราชนิพนธ์และงานแปลบางส่วน ได้ถูกนำมาถ่ายทอดทั้งในรูปแบบของภาพยนตร์แอนิเมชั่น และละครเวที เป็นต้น

พระองค์ทรงจดบันทึกประจำวันโดยสม่ำเสมอ พระราชนิพนธ์เรื่องแรกของพระองค์ ได้แก่ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิตเซอร์แลนด์, พระราชานุกิจรัชกาลที่ 8 เรื่องต่อมาคือ “พระมหาชนก” ซึ่งพระองค์ทรงค้นคว้าเรื่องจากพระไตรปิฎก เพื่อเป็นของขวัญแด่พสกนิกร เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกให้มีความเพียรและวิริยอุตสาหะ

ทรงนิพนธ์ดัดแปลงและใช้สำนวนที่เข้าใจง่ายกะทัดรัด แล้วยังทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยสำนวนที่สละสลวย พร้อมทั้งทรงสอนวิธีขยายพันธุ์มะม่วง นอกจากนี้บทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ยังได้มีการนำมาดัดแปลงเป็นละครเวที ละครเพลง หรือแม้แต่ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ และออกอากาศทางช่องฟรีทีวี เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

“พระมหาชนก” ที่ยิ่งใหญ่อีกผลงานหนึ่ง คือ ละครเวทีเพลงกลางน้ำ “พระมหาชนก เดอะ ฟีโนมีนอน ไลฟ์ โชว์” ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ แสง สี เสียง เอฟเฟกต์ต่างๆ บนเวทีการแสดงยาวถึง 100 เมตร นำแสดงโดย ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ พระเอกหนุ่มผู้ล่วงลับ รับบทเป็น  “พระมหาชนก” ร่วมด้วยนักแสดงมากความสามารถ

อาทิ แคทรียา อิงลิช รับบท มณีเมขลา เป็นต้น โดยการแสดงรอบสุดท้าย ทางคณะผู้จัดงานเพิ่มความพิเศษภายใต้ชื่อการแสดง  “พระมหาชนก เดอะ ฟินาเล่ ไลฟ์ โชว์”  ซึ่งจะมีศิลปินเพลงแจซซ์ระดับโลก รวมถึงศิลปินดาราชื่อดังของไทย อาทิ ลูกหว้า พิจิกา และ แบงค็อก บิ๊ก แบนด์ (Bangkok Big Band) มาร่วมบรรเลงบทเพลงพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เวทีกลางทะเลสาบ สวนเบญจกิติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อีกด้วย

นอกจากนี้ ทางสำนักพระราชวัง ยังได้นำบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มาดัดแปลงทำเป็นภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น จัดฉายขึ้นที่โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากมาย โดย พระมหาชนก ฉบับแอนิเมชั่นนี้ ได้ถูกแบ่งเป็น 3 ตอน และจัดฉายทางโทรทัศน์ เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้เรียนรู้สาระจากบทพระราชนิพนธ์ ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความเพียร การใช้สติปัญญา และการศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตต่อไป

ส่วนพระราชนิพนธ์เล่มล่าสุด คือ เรื่องทองแดง ที่ทรงพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับความเป็นมาของทองแดง ซึ่งได้กลายเป็น “คุณทองแดง” จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทรงยกย่องว่า “ทองแดง”  เป็นสุนัขที่มีความกตัญญูต่อ แม่มะลิ ซึ่งเป็นแม่นม ทรงสอนให้มีความกตัญญูนั่นเอง พระราชนิพนธ์ เรื่องทองแดง เล่มนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ จากเรื่องราวของสุนัขทรงเลี้ยงยอดกตัญญูใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำไปสู่ภาพยนตร์แอนิเมชั่น “คุณทองแดง ดิ อินสไปเรชั่นส์” โดย วินิจ เลิศรัตนชัย และสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล

เป็นเรื่องราวของ 3 สุนัขฮีโร่ ถ่ายทอดออกมาเป็น 3 ภาพยนตร์แอนิเมชั่น ประกอบด้วย เรื่องราวของ 1. “หมาวัด” จากแรงบันดาลใจในความกตัญญูของ “คุณทองแดง” สร้างวีรกรรมแปรเปลี่ยนให้ “จร” หมาวัดกลายเป็นฮีโร่ 2. “ทองหล่อ” จากแรงบันดาลใจในความจงรักภักดีของ“คุณทองแดง” เป็นต้นแบบให้ “ทองหล่อ” ฝันที่จะเป็นสุนัขแห่งบอดี้การ์ด และ 3. “คอปเปอร์เพื่อนรัก” จากสุนัขไร้ค่ามาเป็นสุนัขทรงเลี้ยง จากเศษเหล็ก เศษนอต เศษสปริง ที่ถูกทิ้งขวาง ถูกชุบชีวิตและหัวใจโดย “น้องสนิม” ให้กลายมาเป็นสุนัขหุ่นยนต์

นอกจากผลงานพระราชนิพนธ์ ยังมีงานพระราชนิพนธ์แปล ได้แก่ เรื่อง “นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ (A Man Called Intrepid)” ของ วิลเลียม สตีเวนสัน เป็นภาษาไทย ซึ่งแสดงถึงพระวิริยอุตสาหะของพระองค์ ตลอดจนสะท้อนถึงการทำความดี ไม่จำเป็นต้องโอ้อวดให้ใครเห็น ซึ่งเป็นพระอุดมคติของพระองค์เอง

ดังนั้นที่เราเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนัก ความจริงหนักมากกว่าที่เราเห็น และพระราชนิพนธ์แปลอีกเรื่องหนึ่งคือ “ติโต” ซึ่งเป็นชีวประวัติของ นายพลติโต นามแฝงของ ประธานาธิบดีโยซิป โบรช ประเทศยูโกสลาเวีย ประพันธ์โดย ฟิลลิส ออติ ซึ่งพระองค์มิได้ทรงแปลคำต่อคำ แต่แปลเอาเนื้อความเป็นสำนวนไทย เพื่อให้เข้าใจดีขึ้น เรื่องนี้เกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการรวมประเทศ ซึ่งต้องผ่านอุปสรรคอย่างมากมาย พระองค์คงอยากจะทรงสอนมิให้ย่อท้อต่ออุปสรรค

ที่มา – เดลินิวส์

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online