เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

พสกนิกรชาวน่าน ร่วมรำลึก “รอยพระบาทแรกบนแผ่นดินน่าน” นายกเล็กเวียงสา เล่าความประทับใจไม่รู้ลืม เผยเคยเฝ้าฯรับเสด็จในหลวง-พระราชินี เป็นความทรงจำที่มีค่าที่สุดในชีวิต ล่าสุด ร่วมกันตามหา “พระเก้าอี้” ที่พระองค์ประทับในวันนั้น กลับคืนมาไว้ที่อาคารไม้ประวัติศาสตร์ได้แล้ว …

วันที่ 24 ต.ค.59 นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก นายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน ย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์ “รอยพระบาทแรก ณ น่าน” เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2501 ว่า เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมา ณ ที่ว่าการอำเภอเวียงสา จ.น่าน ซึ่งขณะนั้น นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก อายุประมาณ 12-13 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 แล้วได้ถูกมอบหมายให้เป็นหัวหน้าลูกเสือ เพื่อเข้าร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้ง 2 พระองค์ โดยนายวิโรจน์ ก็ได้ฝึกพูดคำราชาศัพท์ เผื่อว่าพระองค์ท่านจะตรัสถาม โดยในวันนั้นเป็นวันที่จำได้เป็นอย่างดีโดยที่ไม่มีวันจะลืม คือ จะมีข้าราชการ ประชาชนและชนเผ่าต่างๆ ทั่วสารทิศในพื้นที่จังหวัดน่านต่างก็ได้เดินทางมารอเฝ้าฯ รับเสด็จ ทั้ง 2 พระองค์ท่าน จากนั้น ทั้ง 2 พระองค์ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินในอาคารไม้ที่สร้างเป็นที่ว่าการอำเภอเวียงสา และทั้ง 2 พระองค์ก็ได้ประทับที่หน้ามุขของอาคาร

njpus24ncqkx5e1ezilbawml12okls6kkjmivfr2pos

ต่อมา พระองค์ท่านก็ได้เสด็จลงมาทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเข้าเฝ้าฯรับเสด็จ โดยไถ่ถามถึงสารทุกข์ของประชาชน และสิ่งที่นายวิโรจน์ คงจำภาพที่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มาลูบศีรษะชนเผ่าที่มาเฝ้าฯรับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ได้ตรัสถามนายวิโรจน์ ว่า “อยู่โรงเรียนไหน” และด้วยความตื่นเต้นตามประสาเด็ก ถึงแม้ว่าจะฝึกพูดมาเป็นอย่างดี แต่ก็พูดได้เพียง แต่ คำว่า “ขอเดชะ ขอเดชะ ขอเดชะ” ได้อยู่แค่นั้น จนกระทั่งพระองค์ท่านก็ได้ก้มลงแล้ว ทรงกระซิบรับสั่งด้วยพระเมตตาว่า “พูดตามธรรมดาก็ได้” นายวิโรจน์ ได้กล่าวอีกว่า “นั่นเป็นภาพความทรงจำที่มีคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้แล้วในชีวิต และหลังจากนั้น ก็ไม่เคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จพระองค์ท่านอีกเลย”

แต่แรงบันดาลใจที่ตราตรึง เมื่อตนมีโอกาสได้ทำงานรับใช้บ้านเมืองในตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลเวียงสา นายวิโรจน์ ก็ได้ใช้ความสามารถอย่างที่สุดที่จะอนุรักษ์อาคารไม้ประวัติศาสตร์แห่งนี้ไว้ แม้จะมีบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว แต่ก็พยายามทำกลับคืนมาให้เหมือนเดิมมากที่สุด เพื่อทำเป็นนิทรรศการ “อนุสรณ์รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน” นอกจากนี้ ยังได้พยายามติดตาม “พระเก้าอี้” ซึ่งพระองค์ประทับในวันนั้นให้กลับคืนมาไว้ที่อาคารไม้ประวัติศาสตร์แห่งนี้อีกด้วย

njpus24ncqkx5e1ezilbawml12okls3uotgakcrrdi1

นายวิโรจน์ เล่าว่า พระเก้าอี้ที่ทรงประทับ เป็นเก้าอี้ไม้แกะสลักลวดลายเป็นครุฑ ซึ่งหายไปกว่า 10 ปีแล้ว หลังสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ “รอยพระบาทแรกแห่งแผ่นดินน่าน” ขึ้นในปี 2554 ก็ได้พยายามสืบค้น และติดตามสิ่งของเก่าๆ จนในที่สุดเมื่อปี 2557 ก็สามารถติดตามพบเก้าอี้พระที่นั่ง ซึ่งมีผู้เก็บรักษาไว้ จึงได้ขอนำกลับคืนมายังอาคารไม้ดังเดิม

นายวิโรจน์ หวั่นท๊อก ได้กล่าวว่า ชาวอำเภอเวียงสายังคงยึดมั่นในคำสอน และใช้ชีวิตแบบพอเพียง นอกจากนี้ เวลาที่ทำงานเจออุปสรรคมากมาย เหนื่อย และท้อ จะเฝ้ามองดูพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านที่ทรงนั่งพิงล้อรถจี๊ป บนสะพานไม้และทรงงานท่ามกลางความเหนื่อย ซึ่งเป็นภาพที่ชอบมากที่สุดจนนำมาติดตั้งไว้ในห้องทำงาน เพื่อใช้เป็นแรงบันดาลใจ เมื่อต้องเจอปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ทำให้ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนมีกำลังใจที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

สำหรับอาคารไม้ประวัติศาสตร์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2492 และสร้างเสร็จในปี 2495 เป็นที่ว่าการอำเภอสา ปัจจุบันคือ อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสา ที่ยังคงสภาพให้เหมือนเดิมมากที่สุด ถือเป็นอาคารไม้แห่งเดียวในจังหวัดน่าน ปัจจุบันยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านวิถีชีวิต และวัฒนธรรม ซึ่งมีสิ่งของโบราณ เรือขุดน่าน จัดแสดง รวมถึงการดำเนินรอยตามคำสอนด้านเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ที่มา – ไทยรัฐ