เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สืบเนื่องจากพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ ทรงพบเห็นความแร้นแค้นของบางพื้นที่ในประเทศไทยที่ประสบกับภาวะความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำอันเนื่องมาจากความผันแปรของฤดูกาลและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคและบริโภครวมไปถึงการขาดน้ำสำหรับทำการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก เกษตรกรชาวไร่ชาวนามักประสบกับความเดือดร้อนแสนสาหัส เนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้แหล่งน้ำแห้งขอดพืชพันธุ์เสียหาย

ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ท่าน ทรงเล็งเห็นว่าน่าจะมีวิธีที่จะทำฝนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากของราษฎรที่ประสบภัยแล้ง ในปีพุทธศักราช 2499 พระองค์จึงพระราชทานโครงการพระราชดำริฝนหลวงแก่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตร รับสนองพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อมไปดำเนินการศึกษาค้นคว้าวิจัยและลงมือพัฒนากรรมวิธีการทำฝนให้บังเกิดผลโดยเร็ว

ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ได้สนองพระราชดำริดังกล่าว โดยลงมือทำการศึกษาวิจัยเอกสารทางวิชาการด้านการทำฝนเทียมของต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา จนกระทั่งปีพุทธศักราช 2512 ดร.แสวง กุลทองค ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัยนั้น ได้รับเอาพระราชดำริฝนหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาจัดตั้งโครงการค้นคว้าและพัฒนาการทำฝนเทียมขึ้น และมอบหมายให้ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นหัวหน้าโครงการฯ ส่วนเจ้าหน้าที่ของโครงการได้ยืมตัวมาจากกองเกษตรวิศวกรรม กรมการข้าว (กรมวิชาการเกษตร) หน่วยบินเกษตร (กองบินเกษตร) กองเกษตรสัมพันธ์ (กองเกษตรสารนิเทศ) และกองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาจัดตั้งเป็นคณะปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น

การปฏิบัติการทดลองทำฝนหลวงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พุทธศักราช 2512 โดยทำการโปรยน้ำแข็งแห้งใส่กลุ่มเมฆบนท้องฟ้าเหนือบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปรากฏว่าหลังจากปฏิบัติการประมาณ 15 นาที ก้อนเมฆได้รวมตัวกันอย่างหนาแน่น และสีของฐานเมฆเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเทาเข้ม แต่ไม่มีฝนตก เพราะจุดสังเกตไม่ดีพอที่จะติดตามสังเกตผลได้ในระยะไกล

ในช่วงต้นพุทธศักราช 2514 ได้มีการทดลองปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก แต่เนื่องจากในปีพุทธศักราช 2514 เกิดภาวะฝนแล้งรุนแรงขยายเป็นวงกว้าง ชาวนาในเขตจังหวัดพิจิตรและนครสวรรค์ได้รวมตัวกันขอพระราชทานฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้สั่งการให้คณะปฏิบัติการฝนหลวงดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว นับจากนั้น การทดลองค้นคว้าและพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงก็ได้ดำเนินการควบคู่กับการปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรมาโดยตลอด

ด้วยความสำคัญและปริมาณความต้องการให้มาปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือได้ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น เพื่อให้งานปฏิบัติการฝนหลวงสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้กว้างขวางและบังเกิดผลลัพธ์มากยิ่งขึ้น รัฐบาลจังได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พุทธศักราช 2518 ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้เป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป

เทคโนโลยีการทำฝนของประเทศไทยที่พัฒนาก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยแท้ และไม่เพียงแต่มีพระราชดำริขึ้นมาเท่านั้น พระองค์ยังทรงทำการวิจัยและค้นคว้าทดลอง การพัฒนากรรมวิธี และติดตามความก้าวหน้าทั้งด้านวิชาการและทรงปฏิบัติการด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังพระราชทานข้อแนะนำในทางเทคนิคที่ถูกต้องรวมถึงการวางแผนก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการทำฝนหลวง และปรับแผนปฏิบัติการให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ประสบภัยแล้งเพื่อให้ได้ผลอยู่เป็นนิตย์ พระราชกรณียกิจดังกล่าวนี้เป็นที่ประจักษ์แจ้งและจารึกอยู่ในสำนึกของปวงชนชาวไทยทุกชนชั้น

จากการเริ่มต้นจวบจนปัจจุบัน การปฏิบัติการฝนหลวงถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ สามารถช่วยเหลือแก้ไขสภาวะแห้งแล้งให้แก่เกษตรกรในแต่ละภาคได้เป็นจำนวนมาก ช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานรวมถึงการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้นยังปฏิบัติการเพื่อบรรเทามลพิษในอากาศ เช่นการเผาไร่นาในช่วงฤดูร้อนหรือการเกิดไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและทำให้เกิดมลพิษ ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทำฝนในเขตร้อนในภูมิภาคอาเซียน และเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนให้แก่ประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

ที่มา – จักรพันธ์ุ กังวาฬ

by TVPOOL ONLINE