เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

การรับรู้ข่าวร้าย หรือเหตุการณ์ที่สะเทือนใจนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครก็เป็นเรื่องยากในการทำใจด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ  เรื่องราวเกี่ยวกับความเศร้า ความสูญเสียร้ายแรง ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ที่ทำให้น้ำตาท่วมแผ่นดินไทย เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมานั้น สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต และสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้โดยตรง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคนใกล้ชิดและลูกหลานที่ต้องดูแล แม้ส่วนตัวจะกำลังเศร้าอยู่ด้วยก็ตาม และวันนี้เราจึงนำ 5 วิธีปลอบใจ ผู้สูงวัยมาฝากกัน ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

1. หากิจกรรมให้ทำ

วิธีปลอบใจ

วิธีปลอบใจ ผู้ใหญ่ในบ้านข้อแรกนี้ ขอเริ่มต้นด้วยการหากิจกรรมต่างๆ ให้ท่านทำ เลือกกิจกรรมที่ท่านชอบ หรือที่ท่านสนใจเป็นพิเศษ เช่น การชวนท่านดูหนังสบายๆ คลายเครียด ปลูกต้นไม้ ทำสวน เดินเล่น หรือจะพาไปเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็ยังได้ แต่หัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมนั้นอยู่ที่ ‘คุณ’ เพราะคุณหรือคนใกล้ชิด ควรไปทำกิจกรรมเหล่านั้นร่วมกับท่านด้วย ในเวลาที่หัวใจกำลังโศกเศร้า การได้ออกไปเปิดหู เปิดตา หรือออกไปสูดกลิ่นอายธรรมชาติ ก็นับว่าเป็นการเยียวยาจิตใจที่ดีอีกวิธีหนึ่งเลยล่ะ

2. อยู่เคียงข้างไม่ห่างหาย

วิธีปลอบใจ

คุณไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าลึกๆ แล้ว ผู้ใหญ่ในบ้านของคุณ ท่านเสียใจหรือได้รับความกระทบกระเทือนใจจากความสูญเสียนั้นๆ มากน้อยขนาดไหน ผู้ใหญ่บางท่านอาจแสดงออกด้วยการร้องไห้ แต่บางท่านอาจมีอาการเงียบขรึม ไร้ซึ่งเสียงสะอื้นใดๆ แต่ไม่ว่าพวกท่านจะแสดงความเสียใจออกมาในรูปแบบไหน คุณต้องทำความเข้าใจว่า ‘ทุกการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ ยังไงก็มีความโศกเศร้าคละเคล้าอยู่เสมอ’ ดังนั้นการได้รับความอบอุ่นจากคนใกล้ชิด จึงเป็นการเยียวยาทางจิตใจที่ดีที่สุด พยายามอยู่ใกล้ๆ ท่านไว้ ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็หมั่นไปหา ไปเยี่ยมเยียนท่านเสมอ อย่าปล่อยให้พวกท่านต้องรู้สึกอ้างว้าง เปล่าเปลี่ยว ไร้ที่พึ่ง เพราะความรู้สึกว่างเปล่าเหล่านั้น จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ท่านรู้สึกหดหู่และเสียใจกับความสูญเสียมากยิ่งขึ้นไปอีก

3. กอดบ่อยๆ ค่อยเบาใจ

วิธีปลอบใจ

‘การกอด’ เป็นภาษากายที่ช่วยส่งต่อความอบอุ่น ความห่วงใย ความคิดถึง และอีกหลากหลายความหมาย บ่อยครั้งที่คนเราจะมอบอ้อมกอดให้กับคนที่กำลังเศร้า หรือคนที่กำลังร้องไห้ เพื่อเป็นการปลอบใจเขาเหล่านั้น ผู้สูงอายุในครอบครัวของเราที่เพิ่งเผชิญกับความสูญเสียมา ก็ต้องการอ้อมกอดแห่งกำลังใจ จากลูกหลานและคนใกล้ชิดด้วยเช่นกัน ดังนั้นการกอดท่านบ่อยๆ จะช่วยเป็นการเติมความอบอุ่นให้หัวใจ แถมยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย

4. อย่าห้ามความเศร้า

วิธีปลอบใจ

การบอกพวกท่านว่า ต้องเข้มแข็ง อย่าเศร้า อย่าร้องไห้ นั้นฟังดูเป็นสิ่งที่พูดง่าย แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีใครอดกลั้นที่จะไม่เศร้าได้จริงๆ หรอก เมื่อเป็นอย่างนั้นก็อย่าห้ามไม่ให้พวกท่านเศร้าเลยค่ะ น้ำตาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย  การที่ท่านแสดงออกถึงความโศกเศร้า ขณะที่มีคุณและคนอื่นๆ ในครอบครัวอยู่เคียงข้างนั้น ย่อมดีกว่าการที่ท่านต้องแอบไปนั่งร้องไห้เพียงลำพังเป็นไหนๆ เพราะฉะนั้นอย่าห้ามความเศร้า พยายามบอกว่ายังมี ‘เรา’ อยู่ด้วยกันเสมอจะดีกว่า

5. ไม่มีใครหายไปไหน

วิธีปลอบใจ

คนที่จากไปเขาไม่เคยหายไปไหน พ่อหลวง ร.9 ของเราก็เช่นกัน ท่านยังคงเฝ้ามองพวกเราจากบนฟากฟ้า และท่านจะยังคงอยู่ในใจของเราไปตลอดชั่วนิรันดร์ แม้มองไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาก็ไม่ได้แปลว่า ‘ไม่มีจริง’ คำพูดปลอบใจเหล่านี้อาจฟังดูเหมือนเป็น วิธีปลอบใจ ที่จับต้องไม่ได้ แต่หากจะว่ากันในด้านของความรู้สึกแล้ว สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการเติมน้ำหล่อเลี้ยงเข้าไปในจิตใจ ที่สามารถช่วยสร้างกำลังใจให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังได้ในคราวเดียว

 

ในเวลาที่คนในบ้านเศร้าใจ คนที่จะปลอบใจได้ดีที่สุดก็คือ ‘คนในบ้าน’ อีกเช่นกัน การปลอบโยนหรือให้กำลังใจนั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ของทุกๆ คนที่ต้องช่วยกัน เพราะในนาทีนี้บ้านหลังใหญ่อย่างประเทศไทยของเรา กำลังต้องการ ‘กำลังใจ’ และทุกคนสามารถหยิบยื่นให้แก่กันได้ อย่าปล่อยให้ความเศร้าทำให้เราละเลยความรู้สึกคนที่อยู่ข้างๆ เป็นกำลังใจให้กันและกันนะคะ

ที่มา – daily.rabbit