เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

 

๑. ลิเกเก่า คล่องศัพท์

อีกครั้งหนึ่งที่ภาคอีสาน เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้านของราษฎรผู้หนึ่ง ที่คณะผู้ตามเสด็จทั้งหลายออกแปลกใจ ในการกราบบังคมทูลที่คล่องแคล่วและใช้ราชาศัพท์ได้อย่างน่าฉงน เมื่อในหลวงมีพระราชปฏิสันถารถึงการใช้ราชาศัพท์ได้ดีนี้ จึงมีคำกราบทูลว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าเป็นโต้โผลิเกเก่า บัดนี้มีอายุมากจึงเลิกรามาทำนาทำสวน พระพุทธเจ้าข้า..”
มาถึงตอนสำคัญที่ทรงพบนกในกรงที่เลี้ยงไว้ที่ชานเรือน ก็ทรงตรัสถามว่า เป็นนกอะไรและมีกี่ตัว พ่อลิเกเก่ากราบบังคมทูลว่า “มีทั้งหมดสามตัว พระมเหสีมันบินหนีไป ทิ้งพระโอรสไว้สองตัว ตัวหนึ่งที่ยังเล็ก ตรัสอ้อแอ้อยู่เลย และทิ้งให้พระบิดาเลี้ยงดูแต่ผู้เดียว”
เรื่องนี้ ดร.สุเมธเล่าว่าเป็นที่ต้องสะกดกลั้นหัวเราะกันทั้งคณะไม่ยกเว้นแม้ในหลวง

๒. เรียกน้าสิยาย

วันหนึ่งพระองค์ท่านเสด็จฯ เยี่ยมเยียนพสกนิกรของท่านตามปกติที่ต่างจังหวัด ก็มีชาวบ้านมาต้อนรับในหลวงมากมาย ซึ่งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินมาตามลาดพระบาทหลวง ทีนี้ที่แถวหน้าก็มีหญิงชราแก่คนหนึ่งได้ก้มลงกราบแทบพระบาทแล้วก็เอามือของแกมาจับพระหัตถ์ของในหลวง
แล้วหญิงชราท่านนั้นก็พูดว่า ยายดีใจเหลือเกินที่ได้เจอในหลวง แล้วก็พูดกับในหลวงว่ายายอย่างโน้น ยายอย่างนี้ อีกตั้งมากมาย แต่ในหลวงก็ทรงเฉย ๆ มิได้มีพระราชกระแสตอบว่ากระไร
ทีนี้พวกข้าราชบริพารก็มองหน้ากันใหญ่ กลัวว่าพระองค์จะทรงพอพระราชหฤทัยหรือไม่ แต่พอพวกเราได้ยินพระองค์รับสั่งตอบกับหญิงชราคนนั้น ก็ทำให้เราถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหว เพราะพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เรียกว่ายายได้อย่างไร อายุอ่อนกว่าแม่ฉันตั้งเยอะ ต้องเรียกน้าซิ ถึงจะถูก !”

๓. ดินเค็ม

พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่ทางภาคใต้ คือ จังหวัดนราธิวาส ทางใต้นี้มีปัญหาเรื่องดินเป็นกรด มีความเค็ม
พระองค์จึงทรงมีพระราชปุจฉาถามกับชาวบ้านที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จฯ ว่า “ดินหลังบ้านเป็นอย่างไร เค็มไหม” ชาวบ้านก็มองหน้ากันแล้วทำหน้างง ก่อนตอบกลับมาว่า “ไม่เคยชิมสักที”ในหลวงทรงแย้มพระสรวล ทรงมีพระราชดำรัสกับข้าราชบริพารที่ตามเสด็จฯ ว่า “ชาวบ้านแถวนี้เขามีอารมณ์ขันกันดีนะ”

๔. ได้เป็นช่าง

มีเรื่องหนึ่งเคยฟังจากผู้ใหญ่เล่าเมื่อนานมาแล้ว มีช่างไฟทำฝ้าเพดานในวังคนหนึ่งกำลังยืบบนบันได ส่วนหัวอยู่ใต้ฝ้า และมีอีกคนคอยจับบันไดอยู่ด้านล่าง พอดีในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จมา คนอยู่ข้างล่างเห็นในหลวงก็ก้มลงกราบ
คนอยู่ด้านบนมองไม่เห็นและร้องบอกว่า “เฮ้ย จับดีๆ หน่อยสิ อย่าให้แกว่ง”
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ทรงจับบันไดให้ ช่างก็บอกว่า “เออ ดีๆ เสร็จงานนี้จะให้เป็นช่างจริง” พอเสร็จก็ก้าวลงมา และเมื่อเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นคนจับบันไดให้ ถึงกับเข่าอ่อนจะตกบันได รับลงมาก้มกราบ
และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตรัสกับช่างว่า “แหม ดีนะที่ชมว่าใช้ได้ แถมจะปรับตำแหน่งให้เป็นช่างอีกด้วย”

๕. หมอลำ

ครั้งหนึ่งได้มีพิธีการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางนิติศาสตร์
พระองค์ทรงรับสั่งกับมหาดเล็กใกล้ชิดว่า “ฉันได้เป็นหมอความแล้ว”
ต่อมาเมื่อมีการถวายปริญญาทางดิน ก็รับสั่งว่า “ตอนนี้เราเป็นหมอดินแล้ว”
ไม่นานก็มีการถวายปริญญาทางดนตรีอีก จึงรับสั่งว่า “ตอนนี้เราเป็นหมอลำ”

๖. ลอดซุ้ม

ระยะแรกราวปี พ.ศ.๒๔๙๘ เป็นต้นมา คราใดที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวลนั้น จะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งไปยังท้องที่ห่างไกลทุรกันดารย่านหัวหิน หนองพลับ แก่งกระจาน ด้วยพระองค์เอง ทำนองเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕ โดยที่ราษฎรไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่าทรงมาถึงแล้ว
วันหนึ่งทรงขับรถยนต์พระที่นั่งผ่านไปถึงยังบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านหมู่บ้านห้วยมงคล อำเภอหัวหิน ซึ่งราษฎรกำลังช่วยกันตบแต่งประดับซุ้มรับเสด็จกันอย่างสนุกสนานครื้นเครงและไม่คาดคิดว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งส่วนพระองค์
“..ต้องให้ในหลวงเสด็จฯ ก่อนแล้วพรุ่งนี้ถึงจะลอดผ่านซุ้มได้.. วันนี้ห้ามลอดผ่านซุ้มนี้ เพราะขอให้ในหลวงผ่านก่อนนะ..”
ทรงขับรถพระที่นั่งเบี่ยงข้างทางไม่ลอดซุ้มดังกล่าว วันรุ่งขึ้นเมื่อทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหมู่บ้านนี้อย่างเป็นทางการ พร้อมคณะข้าราชบริพารผู้ติดตามและทรงมีพระดำรัสทักทายกับชายผู้นั้นที่เฝ้าอยู่หน้าซุ้มเมื่อวันวานว่า
“วันนี้ฉันเป็นในหลวง..คงผ่านซุ้มนี้ได้แล้วนะ..”

๗. ชื่อเหมือนกัน

การใช้ราชาศัพท์กับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครต่อใครเกร็งกันทั้งแผ่นดิน เพราะเรียนมาตั้งแต่เล็ก แต่ไม่เคยได้ใช้ เมื่อออกงานใหญ่จึงตื่นเต้นประหม่า ซึ่งเป็นธรรมดาของคนทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงาน หรือกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทในพระราชานุกิจต่างๆ นานัปการ
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการเคยเล่าให้ฟังว่า ด้วยพระบุญญาธิการและพระบารมีในพระองค์นั้นมีมากล้นจนบางคนถึงกับไม่อาจระงับอาการกิริยาประหม่ายามกราบบังคมทูล จึงมีผิดพลาดเสมอ แม้จะซักซ้อมมาอย่างดีก็ตาม
ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน มีข้าราชการระดับสูงผู้หนึ่งกราบบังคมทูลรายงานว่า
”ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พลตรีภูมิพลอดุลยเดช ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบบังคมทูลรายงาน…”
เมื่อคำกราบบังคมทูลจบ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงแย้มพระสรวลอย่างมีพระอารมณ์ดีและไม่ถือสาว่า “เออ ดี เราชื่อเดียวกัน”
ข่าวว่าวันนั้นผู้เข้าเฝ้าต้องซ่อนหัวเราะขำขันกันทั้งศาลาดุสิดาลัย เพราะผู้รายงานตื่นเต้นจนจำชื่อตนเองไม่ได้

๘. ทรงพระครรภ์

ครั้งหนึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประชวรนิดหน่อยเกี่ยวกับพระฉวี (ผิวหนัง) มีพระอาการคัน มีหมอโรคผิวหนังคณะหนึ่งไปเข้าเผ้าฯ เพื่อถวายการรักษาคุณ
หมอเป็นผู้เชี่ยวชาญทางโรคผิวหนัง แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญราชาศัพท์ก็กราบบังคมทูลว่า “เอ๋อ…ทรง…อ้า…ทรงพระคันมานานแล้วหรือยังพะยะค่ะ”
ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็ทรงสรวลและตรัสว่า “ฉันไม่ใช่ผู้หญิงนี่ จะท้องได้ยังไง”
แล้วทรงพระกรุณาว่าหมอคงไม่รู้ราชาศัพท์ด้านอวัยวะร่างกายจริงๆ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า “เอ้า พูดภาษาอังกฤษกันเถอะ” เป็นอันว่าก็กราบบังคมทูลซักพระอาการกันเป็นภาษาอังกฤษกันไป

๙. ไกล่เกลี่ย

บางครั้ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็ต้องทรงทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเกี่ยวกับปัญหาครอบครัวด้วยเช่นกัน
ชาวเขาคนหนึ่งได้มากราบบังคมทูลร้องทุกข์ว่า เขาได้ให้หมูสองตัวกับเงินก้อนหนึ่งแก่เมีย แต่เมียพอได้เงินแล้วกลับหนีตามชู้ไป พระองค์ก็ทรงตัดสินว่า สามีจะต้องได้รับเงินชดใช้ และให้ปล่อยภรรยาไปตามใจของเธอ ญาติของทั้งสองฝ่ายก็พอใจ
รับสั่งเล่าด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า “แต่ที่แย่ก็คือ ฉันต้องควักเงินให้ไป…หญิงผู้นั้นก็เลยต้องตกเป็นของฉัน” รับสั่งแล้วก็ทรงพระสรวล สักครู่หญิงผู้นั้นก็นำสุราพื้นเมืองมาถวาย “ถ้าฉันเมาพับไป อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่รู้”