เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ถนนจากฝันของพ่อ สู่อนาคตที่ดีของลูก

ถนนรัชดาภิเษก เป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพมหานคร เริ่มจากสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ผ่านสะพานกรุงเทพ ตัดผ่านถนนพระรามที่ 3 ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 9 ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ข้ามสะพานพระราม 7 เข้าเขตอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตัดกับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ลอดใต้สะพานพระราม 6 เข้าเขตกรุงเทพมหานคร รวมกับถนนจรัญสนิทวงศ์ และมาบรรจบที่ทางแยกท่าพระ

ถนนสายนี้สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ หลังจากที่ทรงได้เห็นแบบอย่างการจราจรในประเทศสหรัฐอเมริกา คราวที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทรงนำมาเป็นจุดเริ่มพระราชดำริที่จะสร้างถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ จนเมื่อ พ.ศ. 2514 รัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก

“ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน…”

พระราชดำรัสตอบจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทัพบก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ที่กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษกที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี

พ่อของแผ่นดินนั้น พระองค์ไม่ต้องการพระบรมราชานุสรณ์ หรือการยกย่องสรรเสริญใด ๆ แต่สิ่งที่พระองค์ต้องการก็คือประโยชน์สุขของส่วนรวม  ทรงเข้าพระราชหฤทัยและทรงเห็นใจชาวกรุงที่ต้องประสบกับปัญหาการจราจร จึงมีพระราชดำรัสให้จัดสร้างถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯ เพื่อลดความหนาแน่นของสภาพจราจรในบริเวณกลางเมือง

%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%8a%e0%b8%94%e0%b8%b2%e0%b8%a0%e0%b8%b4%e0%b9%80%e0%b8%a9%e0%b8%81-%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b2
จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2514 ให้จัดสร้างถนนวงรอบขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 25 ปี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2514 โดยรัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนวงรอบว่า “ถนนรัชดาภิเษก” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุงเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2514 บริเวณแนวถนนตัดจากสะพานกรุงเทพผ่านถนนเจริญกรุงและต่อเชื่อมจนครบวงแหวน ปัจจุบันถือเป็นถนนวงแหวนรอบใน โดยมีถนนกาญจนาภิเษก (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) เป็นถนนวงแหวนรอบนอก ถนนวงแหวนรอบในส่วนที่ 1 เริ่มจากทางแยกท่าพระถึงถนนเพชรบุรี ส่วนที่ 2 จากถนนพระรามที่ 4 ถึงทางแยกท่าพระ รวมระยะทางประมาณ 45 กิโลเมตร และมีพิธีเปิดถนนรัชดาภิเษกใน พ.ศ. 2519

อย่างไรก็ตาม ถนนรัชดาภิเษกหลังจากเปิดใช้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งต่อมาในสมัยรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสเร่งรัดการสร้างถนนรัชดาภิเษก ซึ่งประธานองคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ได้เขียนบทความ เรื่อง “พระบารมีคุ้มเกล้าฯ” ซึ่งใจความบางส่วนได้กล่าวถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในส่วนที่เกี่ยวข้องกับถนนรัชดาภิเษกไว้ว่า

“ถนนสายนี้เริ่มสร้างมาหลายปีแล้วยังไม่เสร็จเรียบร้อย ยังไม่ครบวง ให้เร่งสร้างให้เสร็จโดยเร็วด้วย” ขณะนั้น ถนนสายนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างช่วงสี่แยกอโศกกับถนนพหลโยธิน รัฐบาลจึงได้เร่งรัดให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ และรัฐบาลชุดต่อ ๆ มาก็ได้รีบเร่งดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนองพระราชดำริ จนสำเร็จเป็นวงแหวนถนนรัชดาภิเษกโดยสมบูรณ์ ในปี 2536

ปัจจุบัน ถนนวงแหวนรัชดาภิเษกช่วยแก้ปัญหาการจราจรคับคั่งในเมืองหลวงเห็นผลได้อย่างชัดเจน และยังช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สัญจรเข้า-ออกระหว่างใจกลางเมืองกับชุมชนส่วนนอก ตลอดจนผู้ที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถเดินทางผ่านกรุงเทพฯ โดยไม่ต้องผ่านใจกลางเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น

ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงมีแก่ปวงชนชาวไทยนั้นมีมากมาย น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยของพระองค์ท่านนั้นมิได้ทรงมีเฉพาะต่อชาวชนบทในท้องถิ่นทุรกันดารเท่านั้น หากแต่ทรงมีต่อประชาชนชาวไทยทั่วทุกคน ทุกพื้นที่ อย่างรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยพระบรมราชวินิจฉัยที่กว้างไกล มีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน