เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

พระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะกรรมการบริหารและคณะเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

พระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาประมงชายฝั่ง ประมงน้ำกร่อย และประมงน้ำจืดนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดให้มีกิจกรรมการทดลองค้นคว้าวิจัยทางด้านการประมงในศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ศึกษาพัฒนาภูพาน จังหวัดสกลนคร หรือศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริให้ศึกษาและพัฒนาด้านการประมง ซึ่งมิใช่การศึกษาวิจัยทางด้านวิชาการชั้นสูง แต่ต้องศึกษาในด้านวิชาการที่จะนำผลมาใช้ในท้องที่และสามารถปฏิบัติจริงได้ เป็นการเชื่อมระหว่างการค้นคว้าวิจัยกับการประกอบอาชีพของเกษตรกร เพื่อให้ราษฎรธรรมดาทั่ว ๆ ไปที่ไม่มีความรู้มากนักสามารถทำได้ ดังพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

“ควรดำเนินการพัฒนาการประมงให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศ โดยการพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาและส่งเสริมให้ราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ ทั้งการประมงและการปลูกพืชผักบริเวณรอบ ๆ หนองน้ำด้วย เพราะการขุดบ่อน้ำขึ้นใหม่มักประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือถ้าน้ำท่วม ปลาก็จะหนีไปหมด”

การพัฒนาการประมงตามแนวพระราชดำริมิใช่มีเพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยต่อการศึกษาค้นคว้าในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปลาอยู่เสมอ เช่น การรักษาพันธุ์ปลาบางชนิดมิให้กลายพันธุ์ โดยขอให้ดำเนินการด้านพัฒนาพันธุกรรมเพื่อรักษาต้นพันธุ์ไว้ด้วย มิใช่เป็นการผลิตเพื่อนำไปปล่อยอย่างเดียว เป็นต้น หรือในกรณีที่ปลาบางชนิดซึ่งเป็นปลาที่หายากและมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนลดน้อยลงจนอาจสูญพันธุ์ได้ เช่น ปลาบึกที่มีอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงเท่านั้น ก็ทรงห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และทรงให้ค้นคว้าหาวิธีการที่จะอนุรักษ์พันธุ์ปลาชนิดนี้ไว้ให้ได้ ซึ่งก็ทรงให้กำลังใจแก่ผู้ค้นคว้าตลอดเวลา จนในที่สุดก็สามารถผสมเทียมพันธุ์ปลาชนิดนี้ได้สำเร็จในที่สุด

และในบางกรณีก็ทรงแนะนำให้ศึกษาทดลองดูว่า จะใช้ปลาบางชนิดกำจัดน้ำเสียได้หรือไม่ ทั้งนี้ทรงเคยสังเกตเห็นว่ามีปลาหลายชนิดอาศัยอยู่ในน้ำเสียได้ และบางชนิดก็อาศัยอยู่ในน้ำดี แต่มักจะว่ายไปในบริเวณน้ำเสียสักครู่ก็ออกมา จึงทรงตั้งสมมติฐานว่า ปลาเหล่านี้น่าจะเข้าไปกินสารอินทรีย์ในบริเวณน้ำเสียนั้นจนอิ่ม หรือทนต่อสภาพน้ำเสียไม่ไหวก็ว่ายกลับออกมา ซึ่งการทดลองดังกล่าวปรากฏผลว่า สมมติฐานที่ทรงตั้งไว้นั้นถูกต้อง และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจำกัดน้ำเสียได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้ นอกจากจะมีต้นทุนต่ำแล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตการประมงจากแหล่งน้ำเสียได้อีกด้วย

นอกจากการพัฒนาศึกษา ค้นคว้าในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการประมงแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ยังทรงห่วงใยถึงการจับปลาของประชาชนด้วย โดยมีพระราชดำรัสให้พิจารณาศึกษาการวางระเบียบบริหารเกี่ยวกับการจับปลาในแหล่งน้ำ รวมทั้งเทคนิคในการควบคุมการจับปลาด้วย และในเวลาเดียวกันกับที่มีการจับปลา ก็ควรมีการลงทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงปลา ถ้าสามารถศึกษาและทำให้การจับปลาเป็นระเบียบเรียบร้อยได้โดยไม่มีการแก่งแย่งเอาเปรียบกัน ไม่ทำลายพันธุ์ปลา ปลาก็จะไม่สูญพันธุ์ สามารถจับปลาได้โดยตลอด ก็จะเป็นทางที่เหมาะสมและได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับแหล่งน้ำอื่น ๆ ดังที่ได้เคยมีพระราชกระแสรับสั่งว่า

“ได้ปล่อยปลามาหลายปีแล้ว และปลาก็เติบโตดี มีการจับปลาร่ำรวยกันไป แต่ว่าผู้ที่ร่ำรวยไปไม่ใช่เป็นชาวบ้านที่อยู่แถวนั้น เป็นพวกที่เรียกว่า เป็นนายทุนเป็นส่วนมาก ฉะนั้นถ้าอยากใช้ทรัพยากรในด้านประมง จะต้องจัดเป็นระเบียบ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าปล่อยพันธุ์ปลาให้ดีหรือเลี้ยงปลาให้เติบโตดี สำคัญว่าตามธรรมชาติเราปล่อยปลาลงไปแล้ว มันจะผสมพันธุ์หรือไม่ผสมพันธุ์ก็แล้วแต่ แต่ว่ามันก็เติบโตตามธรรมชาติ เมื่อเติบโตมากแล้วก็ใช้การได้ ปัญหาอยู่ที่ในด้านบริหารด้านจับปลา เรื่องเพาะปลานี้ก็เป็นหน้าที่ของสถานีประมงต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว สำหรับศูนย์ศึกษานี้ ก็รู้สึกว่าต้องให้เป็นเรื่องชีวิตของเกษตรกรในด้านการประมงที่จะสามารถหาประโยชน์ได้ ตั้งตัวได้ และก็ควรจะตั้งเป็นกลุ่ม จะได้สามารถที่จะหาตลาดได้สะดวก ไม่มีการทะเลาะ ไม่มีการแก่งแย่งกัน และไม่ทำลายพันธุ์ปลาด้วย”

จากการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับว่าได้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและความเป็นอยู่ของราษฎรให้สูงขึ้น ราษฎรมีอาหารโปรตีนจากปลาบริโภคกันอย่างทั่วถึง เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งโปรตีนได้เป็นอย่างดี

อาจกล่าวได้โดยสรุปว่า ประโยชน์ระยะสั้น ราษฎรได้รับความรู้และเทคนิคในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หลักการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ และมีอาหารสัตว์น้ำบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ช่วยราษฎรที่ยากจนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น สำหรับในอนาคตหรือประโยชน์ในระยะยาวนั้น คาดว่าเมื่อราษฎรมีประสบการณ์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมากขึ้น ก็จะสามารถผลิตสัตว์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำให้เพียงพอต่อการส่งออก ทำรายได้เข้าประเทศปีละหลายพันล้านบาท อันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างฐานะเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น

ที่มา – หนังสือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับงานพัฒนา