เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ เป็นช่วงที่ประชาชนคนไทยจะเดินทางไปท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การเดินทางสัญจรในช่วงเทศกาลดังกล่าวนี้ ผู้ใช้รถใช้ถนนจึงควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อความปลอดภัยของตนเองครอบครัว และเพื่อนร่วมทาง

จากกรณี รถทัวร์เช่าเหมาคันนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานคร ตกเหวที่บริเวณเขาพลึง ต.บ้านด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ จนทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บ 20 ราย ส่วนอุบัติเหตุใหญ่อีกครั้ง คือ รถบรรทุกน้ำมันพลิกคว่ำรถบรรทุกเสียหายทั้งคัน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และเป็นอุบัติเหตุรถบรรทุกน้ำมันพลิกคว่ำเป็นรายที่ 2 ของปีนี้ โดยเหตุเกิดที่บริเวณเขาขาด ต.น้ำอ่าง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ จึงได้สรุปเส้นทางเลี่ยงการจราจรติดขัด และ 10 จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้เดินทาง ดังนี้

กองบังคับการตำรวจทางหลวง (บก.ทล.) เปิดเผยถึง เส้นทางเลี่ยงการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ได้แก่

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 1 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนวิภาวดีรังสิต (ทางหลวงหมายเลข 31) หรือ ใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เข้าถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ถึงต่างระดับบางปะอิน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 241 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 2 : จากลงทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ถึงต่างระดับคลองหลวง เลี้ยวซ้ายเข้า ถนนคลองหลวง-เชียงราก (ทางหลวงหมายเลข 3214) เลี้ยวขวาถนนปทุม-บางปะหัน (ทางหลวงหมายเลข 347) ถึงอำเภอบางปะหัน เลี้ยวซ้ายเข้าถนน สายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ ภาคเหนือ (ระยะทาง ประมาณ 241 กม.)

เส้นทางที่ 3 : จากกรุงเทพมหานครใช้ทางด่วนศรีรัช ต่อเนื่องทางด่วนอุดรรัถยา จนสุดทาง ด่วนที่ด่านบางปะอิน ข้ามสะพานลงบรรจบถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวน ตะวันตก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ถึงต่างระดับเชียงรากน้อย เลี้ยวซ้าย เข้าถนนบางปะอิน – บางปะหัน (ทางหลวงหมายเลข 347) เดินทางสู่อำเภอ บางปะหัน เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้า จังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทาง ประมาณ 238 กม.)

เส้นทางที่ 4 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนบรมราชชนนี (ทางหลวงหมายเลข 338) เลี้ยวขวา เข้าถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ถึง ต่างระดับบางบัวทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางบัวทอง–สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท เข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) ที่อำเภอมโนรมย์ มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์เพื่อ เดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 277 กม.) เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 5 : ใช้ถนนรัตนาธิเบศร์ (ทางหลวงหมายเลข 302) ถึงต่างระดับบางใหญ่ เลี้ยวขวาเข้าถนน กาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ถึงต่างระดับ บางบัวทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางบัวทอง–สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท เข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) ที่อำเภอมโนรมย์มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 262 กม.)

เส้นทางที่ 6 : จากถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ผ่านด่านธัญบุรี ลงต่างระดับคลองหลวง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนคลองหลวง-เชียงราก (ทางหลวงหมายเลข 3214) เลี้ยวขวาถนนปทุม- บางปะหัน (ทางหลวงหมายเลข 347) ถึงอำเภอบางปะหัน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 241 กม.)

เส้นทางที่ 7 : จากถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก: ทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9) มุ่งหน้าถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน ขึ้นต่างระดับบางปะอิน เข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้า จังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทาง ประมาณ 259 กม.)

เส้นทางที่ 8 : จากถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก: ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ) มุ่งหน้าถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ข้ามสะพานต่างระดับหน้า มหาวิทยาลัยสงฆ์ ฯ ลงถนนพหลโยธิน (ด้านมุ่งหน้าสระบุรี) ถึงอำเภอ วังน้อย ใช้เส้นทางคู่ขนาน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนโรจนะ (ทางหลวงหมายเลข 309) มุ่งหน้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้ามแยกต่างระดับอยุธยา เลี้ยงซ้ายเข้าสู่ถนน สายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเดินทาง สู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 269 กม.)

เส้นทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคใต้

เส้นทางที่ 1 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนพระราม 2 (ทางหลวงหมายเลข 35) ผ่านจังหวัด สมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแยกวังมะนาว เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข4) มุ่งหน้าจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคใต้ (ระยะทางประมาณ 162 กม.)

เส้นทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคใต้

เส้นทางที่ 2 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านจังหวัด นครปฐม จังหวัดราชบุรี มุ่งหน้าจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคใต้ (ระยะทางประมาณ 191 กม.)

เส้นทางที่ 3 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนบรมราชชนนี (ทางหลวงหมายเลข 338) เลี้ยวขวา เข้าถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) ผ่านจังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี มุ่งหน้าจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคใต้ (ระยะทางประมาณ 196 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 1 : ใช้ถนนวิภาวดีรังสิต (ทางหลวงหมายเลข 31) หรือ ใช้ทางยกระดับโทลล์เวย์ เข้าสู่ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ผ่านจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาใช้ ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเดินทาง สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 265 กม.)

เส้นทางที่ 2 : ใช้ทางด่วนศรีรัช ต่อเนื่องทางด่วนอุดรรัถยา จนสุดทางด่วนที่ด่านบางปะอิน ข้ามสะพานลงบรรจบถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก : ทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9) เลี้ยวขวาเข้าถนนกาญจนาภิเษก จนถึงต่างระดับบางปะอิน เข้าสู่ ถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ผ่านจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาใช้ ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมาเพื่อเดินทาง สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 273 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 3 : ใช้ถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) มุ่งหน้าสู่ต่างระดับบางปะอิน เข้าถนนพหลโยธิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ผ่านจังหวัดสระบุรี เลี้ยวขวาใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้า จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 280 กม.)

เส้นทางที่ 4: ใช้ถนนกาญนาภิเษก (วงแหวนตะวันออก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) มุ่งหน้าสู่ต่างระดับบางปะอิน (ทางหลวงหมายเลข 1) ข้ามสะพานต่างระดับ หน้ามหาวิทยาลัยสงฆ์ฯ ลงถนนพหลโยธิน (ด้านมุ่งหน้าสระบุรี) ผ่านจังหวัด สระบุรี เลี้ยวขวาใช้ถนนมิตรภาพ (ทางหลวงหมายเลข 2) มุ่งหน้าจังหวัด นครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 286 กม.)

เส้นทางที่ 5: ใช้ต่างระดับรังสิต ไปตามถนนรังสิต-องครักษ์ (ทางหลวงหมายเลข 305) ตรงไปจังหวัดนครนายก เลี้ยวขวาเข้าถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33) มุ่งสู่กบินทร์บุรี ถึงสี่แยกกบินทร์บุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนกบินทร์บุรี–ปักธงชัย (ทางหลวงหมายเลข 304) มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 328 กม.) เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 6: ใช้ถนนรามอินทรา-สุวินทวงศ์ (ทางหลวงหมายเลข 304)ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนมสารคาม อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอปักธงชัย มุ่งหน้าจังหวัด นครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 324 กม.)

เส้นทางที่ 7 : ใช้ถนนมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7) เลี้ยวซ้ายถนนสิริโสธร (ทางหลวงหมายเลข 314) มุ่งสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา เลี้ยวขวาถนนเลี่ยง เมืองฉะเชิงเทรา (ทางหลวงหมายเลข 365) ใช้ถนนฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 304) ผ่านอำเภอนาดี อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอ ปักธงชัย มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 313 กม.)

เส้นทางที่ 8 : ใช้ถนนมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7) เลี้ยวซ้ายถนนสิริโสธร (ทางหลวงหมายเลข 314) มุ่งสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา เลี้ยวขวาถนนเลี่ยงเมือง ฉะเชิงเทรา (ทางหลวงหมายเลข 365) ใช้ถนนฉะเชิงเทรา กบินทร์บุรี (ทางหลวงหมายเลข 304) เลี้ยวขวาเข้าถนนเขาหินซ้อน สระแก้ว (ทางหลวง หมายเลข 359) ผ่านจังหวัดสระแก้ว เข้าถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนตาพระยา-บุรีรัมย์ (ทางหลวงหมายเลข 348) ผ่านอำเภอ ตาพระยา อำเภอละหานทราย บรรจบทางหลวงหมายเลข 24 ที่ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 385 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันออก

เส้นทางที่ 1 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนศรีนครินทร์ ถนนมอเตอร์เวย์ (ทางหลวงพิเศษ หมายเลข7) มุ่งหน้าเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออก (ระยะทางประมาณ 127 กม.)

เส้นทางที่ 2 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนเทพรัตน (ทางหลวงหมายเลข 34 ) มุ่งหน้าจังหวัดชลบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออก (ระยะทางประมาณ 78 กม.) หรือใช้ทางด่วนบูรพาวิถี (ทางด่วนสายบางนา – ชลบุรี ) ลงเชื่อมต่อถนน เทพรัตน (ทางหลวงหมายเลข 34) หลักกิโลเมตรที่ 53 มุ่งหน้าจังหวัดชลบุรี เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออก (ระยะทางประมาณ 78 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สู่ภาคตะวันออก

เส้นทางที่ 3 : จากกรุงเทพมหานครใช้ถนนสุวินทวงศ์ (ทางหลวงหมายเลข 304) ผ่าน จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ถนนสุขประยูร (ทางหลวงหมายเลข 315 ) ผ่านอำเภอ พนัสนิคม มุ่งหน้าอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบ้านบึง แกลง (ทางหลวงหมายเลข 344) มุ่งหน้าอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อเดินทางสู่ ภาคตะวันออก (ระยะทางประมาณ 200 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากภาคใต้ สู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 1 : จากต่างระดับวังมะนาวใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เลี้ยวซ้าย เข้าถนนมาลัยแมน (ทางหลวงหมายเลข 321) ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี ( ทางหลวงหมายเลข 340 ) มุ่งหน้าจังหวัดชัยนาท เข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) ที่อำเภอมโนรมย์มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทางประมาณ 268 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากภาคใต้ สู่ภาคเหนือ

เส้นทางที่ 2 : จากจังหวัดนครปฐม ใช้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงหมายเลข 4) เลี้ยวซ้ายถนน บรมราชชนนี( ทางหลวงหมายเลข 338 ) เลี้ยวซ้ายเข้าถนนกาญจนาภิเษก (วงแหวนตะวันตก : ทางหลวงพิเศษหมายเลข 9) ถึงต่างระดับบางบัวทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 340) ผ่าน จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาท เข้าถนนสายเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 32) ที่อำเภอมโนรมย์ มุ่งหน้าจังหวัดนครสวรรค์เพื่อเดินทางสู่ภาคเหนือ (ระยะทาง ประมาณ 291 กม. )

เส้นทางการเดินทางจากภาคตะวันออก สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 1 : จากแยกหนองปรือ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ใช้ถนนสัตหีบ-เขาหินซ้อน (ทางหลวงหมายเลข 331 ) เลี้ยวขวาเข้าถนนฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 304) ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี อำเภอนาดี และ อำเภอปักธงชัย มุ่งหน้าจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเดินทางสู่ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (ระยะทางประมาณ 259 กม.)

เส้นทางการเดินทางจากภาคตะวันออก สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เส้นทางที่ 2 : จากแยกหนองปรือ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ใช้ถนนสัตหีบ-เขาหินซ้อน (ทางหลวงหมายเลข 331) เลี้ยวขวาเข้าถนนฉะเชิงเทรา-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 304) ถึงแยกเขาหินซ้อน เลี้ยวขวาถนนเขาหินซ้อน-สระแก้ว (ทางหลวงหมายเลข 359) เลี้ยวขวาถนนสุวรรณศร (ทางหลวงหมายเลข 33) มุ่งหน้าอำเภออรัญประเทศ เลี้ยวซ้าย ถนนอรัญประเทศ-บุรีรัมย์ (ทางหลวงหมายเลข 348) มุ่งหน้าจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อเดินทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ระยะทางประมาณ 366 กม.)

เตือน 10 เส้นทางอันตราย เกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

เตือน 10 เส้นทางอันตราย เกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.ทางหลวงเส้นวังน้อยอยุธยา กิโลเมตรที่ 70 2.ทางขึ้นเขาแก่งคอยสระบุรี

ภาคใต้ 3.ทางหลวงหมายเลขที่ 35 เส้นพระราม 2 เพราะประชาชนจะใช้ความเร็วในการขับรถค่อนข้างมาก ทำให้เกิดอุบัติเหตุชนท้ายหรือรถตกข้างทางเป็นจำนวนมาก 4.ทางหลวงหมายเลขที่ 41 เส้นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร เนื่องจากเป็นภูเขาและโค้งที่เยอะจนทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย และแต่ละครั้งก็สร้างการสูญเสียที่ค่อนข้างรุนแรง

ภาคเหนือ 5. ทางหลวงหมายเลขที่ 32 ที่จะผ่านทางจังหวัดอุทัยธานีและนครสวรรค์เพื่อขึ้นไปยังจังหวัดอื่น ผู้ใช้รถใช้ถนนควรศึกษาการเดินทางให้ละเอียดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นด้วย 6.ทางหลวงหมายเลข 11 (พิษณุโลก-เด่นชัย) จากจังหวัดพิษณุโลก ผ่านจังหวัดอุตรดิตถ์  “เขาพลึง-เขาขาด” 2 จุดอันตราย ที่เกิดเหตุร้ายแรง ทั้งทัวร์ตกเหวดับ 18 เจ็บ 20 รถน้ำมันคว่ำไฟไหม้วอด เป็นเส้นทางที่ขึ้นเขาลงเขา หากผู้ขับขี่ไม่ชำนานเส้นทาง หรือชำนาญทางหากประมาทก็มักเกิดอุบัติเหตุขึ้น และบริเวณเขตเมืองแพร่ ถนนสายเอเซีย 101 เส้นทางแพร่-น่าน-พะเยา-เชียงราย ช่วงบริเวณเนินโจ้โก้แม่หล่าย เป็นทางขึ้นลงเนิน และเข้าโค้ง ประกอบกับช่วงนี้หมอกหนา มักเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนลดความเร็ว และบริเวณสามแยกกอเปา ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่ มีการปรับปรุงถนนสามแยกกอเปา จาก 4 เลน เหลือ 2 เลน มีสิ่งกีดขวาง รถบรรทุกวิ่งผ่านตลอดเวลา 7.ทางหลวงหมายเลข 118  สายเชียงใหม่-เชียงราย ตั้งแต่ดอยนางแก้ว อำเภอเวียงป่าเป้า ไปจนถึงบ้านปางแฟน อำเภอดอยสะเก็ด กว่า 10 กิโลเมตร เป็นทางลงเขาลาดชัน และคดเคี้ยวในบางจุดใช้ความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะหากขับเร็วและผู้ขับขี่ไม่ชินเส้นทางอาจเสี่ยงเกิดอันตราย ที่ผ่านมาจุดนี้เกิดมีสถิติเกิดอุบัติเหตุแล้วกว่า 300 ครั้ง

ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรีที่เป็นประตูสู่ภาคนี้ ต้องระวัง 3 จุด คือ 8.ถนนทางเบี่ยงเข้าถนนเลี่ยงเมืองใกล้เคียงกับทางเข้านิคมอมตะนคร เนื่องจากสภาพถนนสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 9.ถนนสาย 344 ที่เป็นทางลัดไปสู่จังหวัดระยอง เนื่องจากถนนเป็นหลุมเป็นบ่อทำให้รถที่ขับมาด้วยความเร็วเสียหลัก และ 10.ถนนมอเตอร์เวย์ กิโลเมตรที่ 53 บริเวณเขาเขียว ซึ่งจุดนี้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งโดยเฉพาะรถตู้โดยสาร เนื่องจากส่วนใหญ่ขับรถด้วยความเร็วสูง

ผวจ.อุตรดิตถ์ กำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุ

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กำหนดแนวคิดหลักในการรณรงค์ว่า “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร เลิกดื่ม เลิกขับเร็ว ร่วมใจใส่หมวกนิรภัยทำดีเพื่อพ่อ” โดยกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของในด้านคน ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และในด้านถนนปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของถนนให้ปลอดภัย แล้วเสร็จ ภายในไม่เกินวันที่ 29 ธันวาคมนี้ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงช่วงเขาขาด เขาพลึง ซึ่งทางแขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1 ได้ทำการทาสีแดงบนพื้นถนนพร้อมด้วยข้อความเพื่อเตือนให้ผู้ที่ใช้รถใช้ถนนได้ระมัดระวังเพราะเป็นทางขึ้น-ลงเขาประมาณ 4 กิโลเมตร หวั่นจะเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย

แขวงทางหลวงอุตรดิตถ์ที่ 1เร่งทาสีแดงบนพื้นถนน

”อีกทั้งติดสัญญาณป้ายการจราจรเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ได้สั่งการให้บริษัทขนส่งแจ้งทางบริษัทของเอกชนหยุดวิ่งรถบรรทุกโดยเฉพาะรถบรรทุกอ้อยระหว่างวันที่ 30 ธันวาคมนี้-3 มกราคม 2560 ตามคำสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 3 และมีบริการตรวจรถก่อนใช้มีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมข้างทาง สัญญาณไฟส่องสว่าง บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ทางร่วมทางแยกต่างๆ นอกจากนี้ ให้สถานพยาบาลเตรียมพร้อมมาตรการฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.อดิศักดิ์ น้อยประเสริฐ ผบก.ภ.จว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ตำรวจทุก สภ.ตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัด ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเคร่งครัดและนอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการตรวจจับความเร็วบนเขาพลึงและเขาขาด เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ เพราะได้มีวันหยุดติดต่อกันหลายวันช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีประชาชนมาท่องเที่ยวมากกว่าวันปกติและยังเน้นให้ตำรวจ จราจร ต้องประจำตามแยกต่างๆ ของถนนสายทางหลวงที่ 11 พิษณุโลก-เด่นชัย เพราะถนนเส้นดังกล่าวจะมีรถสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก ในช่วง 7 วันอันตราย

ด้าน พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 เป็นเทศกาลเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนเป็นจำนวนมาก ทางกองบังคับการตำรวจทางหลวง ได้มีการวางแผนรับมือกับการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว โดยเน้นดูแลจุดเสี่ยงทั้งถนนสายหลักและสายรอง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานต่างๆ ในการร่วมลดความเสี่ยงในอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้รถตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นให้บริการตรวจเช็กสภาพแบตเตอรี่รถยนต์ พร้อมมอบน้ำดื่มสะอาดจำนวนกว่า 12,000 ขวด และผ้าเย็นกว่า 25,000  ผืน สำหรับผู้เดินทางใช้รถใช้ถนน ณ จุดพักรถ จำนวน 2 จุด ได้แก่ หน่วยบริการประชาชนตำรวจทางหลวงวังมะนาว และหน่วยบริการประชาชนตำรวจทางหลวงวังน้อย

พล.ต.ต.สมชาย เกาสำราญ

สุดท้ายนี้ขอฝากถึง พี่น้องประชาชนในการตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมก่อนออกเดินทาง เพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ใช้รถใช้ถนนในช่วงเทศกาล และอีกเรื่องที่ต้องฝากย้ำเตือนอีกครั้งคือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ขณะขับขี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ในสังกัดจะมีความเข้มงวดในทุกจุดตรวจ และหากพบผู้ฝ่าฝืนก็จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป.

ที่มา – ไทยรัฐ