เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

สำหรับคนทั่วไปเขาอาจเป็นเพียงชาย พิการแต่งกายมอซออาศัยอยู่ในชุมชนแออัดบ้านปูน เขตบางพลัด กรุงเทพฯ…

แต่สำหรับเด็กเร่ร่อนและคนในชุมชนแห่งนี้ เขาคือ “พ่อคนที่ 2” คือ ครูผู้เสียสละที่มุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชน พร้อมทุ่มเททั้งชีวิตและจิตใจให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย…

ชาวชุมชนย่านใต้สะพานพระรามแปดแห่งนี้เรียกเขาว่า “ครูเชาว์”

ครูเชาว์-เชาวลิต สาดสมัย มีความคิดที่อยากจะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเด็ก คนแก่ และผู้คนที่ด้อยโอกาสมาตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเป็นเด็กพิการกำพร้าอาศัยอยู่ในบ้านราชาวดี

แรงบันดาลใจที่ทำให้เขามีความคิดเช่นนี้ เกิดขึ้นจากคำพูดของคุณยายขอทานที่เขาพบระหว่างที่เดินไปโรงเรียนตั้งแต่สมัยเรียนประถม เขาเข้าไปถามคุณยายว่า ทำไมมานั่งขอทาน และคำตอบที่ได้รับคือ ลูกหลานทิ้งหมดแล้ว… “วันนั้นผมมีข้าวเปล่ากับไข่ต้มอยู่ในกล่องข้าวก็เลยให้คุณยายไป คุณยายพูดว่า ขอให้หลานเจริญๆนะ เป็นคำพูดที่ผมไม่เคยได้รับมาก่อน ตั้งแต่วันนั้นผมเลยตั้งปณิธานว่า ผมต้องเรียนหนังสือ เพราะถ้าไม่ได้เรียน ตัวผมก็จะเหมือนเด็กทั่วไปที่ต้องออกมาเร่ร่อน และจะต้องเรียนให้จบเพื่อมาทำงานช่วยเหลือเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการต่อไป”

 

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาขาพลศึกษา ครูเชาว์ก็ไม่ทิ้งความตั้งใจเดิม ครูจึงเลือกที่จะไม่ไปสอนหนังสือตามโรงเรียนเช่นคนอื่น แต่เลือกที่จะเป็น “ครูข้างถนน” ด้วยเหตุผลว่าในโรงเรียนมีพร้อมทุกสิ่งแล้ว มีครูประจำชั้น มีครูแนะแนว ฯลฯ ในขณะที่เด็กในชุมชนไม่มีอะไรเลย

ครูเชาว์ ได้เป็นครูอาสาของ กทม.อย่างที่ตั้งใจไว้ และได้ขอย้ายออกจากบ้านราชาวดีมาใช้ชีวิตด้วยตนเอง หลังจากที่ได้เริ่มงานที่ทุ่งครุ ทำงานอยู่ 3 เดือน…ครูประจำอยู่ที่ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ลาออก ครูเชาว์จึงขอย้ายมาประจำที่นี่ เขายอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้คนในชุมชน

“เมื่อก่อนสภาพศูนย์ไม่ใช่เป็นศูนย์เด็กเล็กเลย เป็นที่เก็บขยะของแม่ค้าและชาวบ้านแถวนี้ เขาจะเอาขยะมาโยนไว้ด้านหลังศูนย์ ผมจึงคิดว่า สิ่งแรกต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นก่อน ก็มาตัดหญ้า เก็บขยะ ส่วนภายในศูนย์ก็ค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ คิดรูปแบบของศูนย์ จนอย่างที่เห็นในปัจจุบันคิดเองหมด”

ศูนย์ที่ครูเชาว์พัฒนาในระยะแรกมีเด็กเข้ามาใช้บริการเพียง 3 คน แต่เมื่อเด็กทั้งสามกลับบ้านก็ไปเล่าให้พ่อแม่และเพื่อนฟังว่าได้ทำกิจกรรมอะไรที่ศูนย์บ้างคนก็เริ่มให้ความสนใจ

“แรกๆ พ่อแม่ก็ยังไม่ยอมรับ เขามองผมว่า คนนี้เหรอจะเป็นครู ตามมานั่งเฝ้าดูว่าเราทำอะไรให้เด็กๆ บ้างแต่ผมไม่เคยท้อ หลังจากที่พ่อแม่เห็นเขาก็ค่อยๆ ยอมรับและบอกต่อกันไป”

คำบอกเล่า ปากต่อปาก จากเด็ก 3 คน ก็กลายเป็น 30 คน และ 60 คนในปัจจุบัน

“ตอนนั้นที่ศูนย์ก็ไม่มีอุปกรณ์อะไร มีบางหน่วยงานเข้ามาช่วยบอกว่า ต้องมีเงิน ต้องมีอย่างโน้นอย่างนี้ก่อน แต่ผมคิดว่า เราต้องทำให้ตัวเองมีคุณค่า ต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน ทำให้สังคมรู้ว่าเราทำอะไรอยู่ สำหรับผมคนที่ทำงานด้านเด็กไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรมาก ไม่ต้องรออะไรด้วย สำคัญอยู่ที่ ต้องมีหัวใจ”

ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 ในวันนี้สะอาด ร่มรื่น ด้านหลังมีแปลงเกษตรเล็กๆ ที่เด็กๆ สามารถนำผักที่ปลูกกลับไปให้พ่อแม่ประกอบอาหารได้ แปลงเกษตรนี้ครูเชาว์ยังใช้เป็นที่ฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็กที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลอีกด้วย

เมื่อศูนย์ฯ พัฒนาก้าวหน้าสามารถดูแลเด็กได้จนเป็นที่ยอมรับแล้ว ครูเชาว์เริ่มมองลึกไปถึงครอบครัวของเด็กๆ เหล่านั้น…“เด็กๆมักจะเล่าถึงที่บ้านให้ฟังก็เริ่มตามไปดูที่บ้าน เริ่มจากไปนั่งคุยหาข้อมูลกับพ่อแม่ ซึ่งไม่ใช่แค่วันสองวันแต่เราต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าเขาจะยอมเปิดใจให้ข้อมูลที่แท้จริง แรกๆถูกด่าว่ามายุ่งอะไร ก็บอกเขาว่า ลูกเขามีปัญหาจึงต้องเข้าไป เขาไม่เชื่อว่าผมเป็นครู เพราะผมแต่งตัวธรรมดา ปกติครูจะต้องแต่งตัวดี แต่ผมคิดว่า ถ้าเราแต่งตัวดีแต่คุณภาพของตัวเองไม่ได้ดีพอก็ไม่ได้ มันไม่ใช่สไตล์ผม”

จากการลงไปถึงต้นตอของปัญหา ช่วยเหลือแก้ไขให้บางอย่างลุล่วงไปได้ ผลที่ได้รับไม่ใช่แค่เพียงการเรียนของเด็กดีขึ้น หากยังต่อเนื่องไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยอมปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวเอง ไปในทางที่ดีพร้อมๆ กันไปด้วย ทั้งยังมีเด็กเกเรที่เคยหนีเรียนอีกไม่น้อยเปลี่ยนใจเดินมาหาครูด้วยความรู้สึกว่า…อยากเรียน

“วิชาการเป็นแต่ตัวหนังสือที่เขียนขึ้น แต่การพาเขาไปเห็นภาพจริง ให้เห็นคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือแล้วเป็นอย่างไรมันชัดเจนกว่า ใช้เวลาร่วม 4 เดือน พาไปดูเด็กกำพร้า เด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กเร่ร่อนใต้สะพาน เด็กที่อยู่ข้างถนน ให้เห็นว่าเป็นอย่างไร แล้ววันหนึ่งเด็กคนนี้คนที่เคยไม่อยากเรียนก็เดินเข้ามาหาบอกว่าอยากเรียน”

นอกจากการศึกษาที่ครูให้ความสำคัญแล้ว ครูยังร่วมกับประธานชุมชนเปิด “ศาลาธรรม” ให้เด็กๆ ได้สวดมนต์ตอนเช้า เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในใจ…“ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กได้เข้าวัดมากขึ้น ทุกวันนี้ เด็กเน้นแต่วัตถุ เข้าวัดต้องขอพรให้ตัวเองได้โน่นได้นี่ แต่ไม่คิดว่าทำไมเราไม่ทำให้ตัวเองดีแล้วตัวเองก็จะได้อย่างที่ขอเอง คนเราถ้าลงมือปฏิบัติแล้วจะมี
ความภูมิใจ แม้จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตามแต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำ”

นอกจากเด็กแล้ว ครูเชาว์ยังจัดพื้นที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ให้เป็นที่พักให้กับคนเร่ร่อน คนพิการ และยังมีความคิดว่า ในอนาคตจะใช้ห้องว่างของบ้านเช่าหลังที่อาศัยอยู่เปิดเป็นศูนย์พักพิงของเด็กเร่ร่อน โดยจะให้อยู่ได้ไม่เกิน 3 สัปดาห์ พูดคุยถึงปัญหาความต้องการของเด็ก เช่น อยากเรียนต่อก็จะช่วยเหลือให้ได้เรียน

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนแห่งนี้ แม้จะต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย แต่ครูเชาว์ไม่เคยคิดว่าสิ่งต่างๆเหล่านั้นเป็นข้อจำกัดและไม่เคยท้อถอยยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าทำงานต่อไป เพราะมีพ่อหลวงของปวงชนชาวไทยเป็นตัวอย่าง…“ตั้งแต่เด็กๆ ผมจำได้ว่าผมเห็นท่านใส่แว่นตา เห็นท่านช่วยเหลือประชาชน ไปช่วยชาวเขา ตอนนั้นผมยังไม่รู้หนังสือแล้วก็ไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร แต่มารู้เมื่อโตขึ้นว่าท่านคือในหลวง ท่านเป็นจุดเปลี่ยนให้กับชีวิตของผม เป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า ขอเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ตอบแทนผืนแผ่นดินเกิด”

“อยากบอกคนที่กำลังท้อใจว่า คุณไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่ยังมีพ่อแม่มีครอบครัวที่เป็นห่วง ขณะที่คุณท้อก็มีคนท้อมากกว่าคุณ สิ่งที่สำคัญ อยากให้ดูแบบอย่างจากในหลวงว่าท่านทำงานมาตลอด 60 ปี ตอนนี้ท่านอายุ 80 กว่าท่านก็ยังทำงาน อยู่โรงพยาบาลก็ยังทำ อยากให้มองท่านเป็นต้นแบบ”

“สำหรับตัวผมเองตอนนี้คิดว่าสำเร็จไปขั้นหนึ่ง แต่ถ้าจะประสบความสำเร็จที่สุดก็ต่อเมื่อเด็กที่ผมดูแลสามารถเรียนจบปริญญาตรีมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือจุดสูงสุดที่รออยู่ ส่วนตัวผมเองผมพอแล้ว”

แม้ปัญหาในสังคมไทยจะมีมากมาย ผู้คนมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น แต่ครูเชาว์มองว่า สังคมไทยยังเป็นสังคมที่พร้อมจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือกันอยู่เสมอ เพียงแต่การช่วยเหลือนั้นควรจะหาข้อมูลให้แม่นยำและตรงกับความต้องการอย่างแท้จริงจะทำให้ความช่วยเหลือนั้นเป็นประโยชน์สูงสุด

เรื่องราวของครูเชาว์จึงเสมือนเป็นสะพานเชื่อมความหวัง ที่แม้จะเป็นส่วนเล็กๆ ของสังคม หากสิ่งที่ได้รับน่าจะออกดอกผลงดงาม พร้อมจะเบ่งบานเป็นความหวังใหม่ให้กับสังคมไทยได้ในอนาคต

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online