เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ในงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภคที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างงานซีอีเอสที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกานั้น โตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์แนวคิดที่พัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยของโตโยต้าในแคลิฟอร์เนียหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ของ “คาลตี้”

ในงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อผู้บริโภคที่ถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างงานซีอีเอสที่จัดขึ้นเมื่อต้นเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกานั้น โตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์แนวคิดที่พัฒนาขึ้นในศูนย์วิจัยของโตโยต้าในแคลิฟอร์เนียหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ของ “คาลตี้” เพื่อเป็นตัวแทนของวิสัยทัศน์ของโตโยต้าที่มีต่อรถยนต์แบบขับเคลื่อนอัตโนมัติในปี ค.ศ. 2030 นั่นเอง

ชื่อของรถคันนี้คือ “คอนเซปต์-ไอ” แม้ดูแปลกประหลาดและโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองก็ไม่ค่อยปลาบปลื้มเท่าใดนัก แต่โตโยต้า ยืนยันว่าแนวคิดในการสร้างรถคันนี้ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวยไร้สาระแน่นอน เพราะคอนเซปต์-ไอ นั้นสร้างขึ้นจากด้านในออกมายังด้านนอก โดยเน้นหนักไปที่ระบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างรถ-ผู้ขับขี่-สิ่งแวดล้อมโดยอาศัยสมองกลอัจฉริยะที่มีชื่อเรียกว่า “ยูอิ” หรือ Yui ซึ่งจะเป็นหัวใจ ของการพัฒนาไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองของโตโยต้าในอนาคต

โปรเจคท์นี้เริ่มต้นขึ้นในเดือน ก.พ. ปี ค.ศ. 2015 และใช้เวลาอีกกว่า 5 เดือนในการระดมสมองหาไอเดียที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดสำหรับรถยนต์แห่งอนาคต ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นดูมีเหตุมีผล อาทิ แม้ว่ารถในอนาคตจะมีความสามารถที่จะวิ่งได้ด้วยตัวเอง แต่พวกเขายังเชื่อว่าพวงมาลัยยังควรจะมีอยู่ต่างไปจากรถแนว คิดของหลาย ๆ ค่ายที่พยายามจะทำพวงมาลัย “หดซ่อน” ได้เพราะพวกเขาเชื่อว่าในชีวิตจริงหากมีกรณีฉุกเฉินพวงมาลัยที่ซ่อนอยู่จะกางออกมาใช้ไม่ทันท่วงที แต่ในรูปแบบของพวกเขานั้น แม้คุณจะยังคงวางมืออยู่บนพวงมาลัย แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่คุณอาจจะเผอเรอ ตัวรถเองนั้นก็สามารถเข้าแทรกแซงได้ในโหมดที่เรียกว่า “ผู้พิทักษ์” หรือการ์เดี้ยนโหมด และหากคุณต้องการที่จะควบคุมเองก็สามารถทำเองได้เช่นกัน

รูปแบบการทำงานของ “ยูอิ” นั้นทีมงานนักออกแบบของโตโยต้า พยายามค้นหารูปแบบที่เหมาะสมและดูมีความเป็นธรรมชาติในการสื่อสารตอบโต้กับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นแบบ “หัวของหุ่น” หรือ “ภาพตัวการ์ตูน 3 มิติ” แต่มาลงเอยที่รูปแบบภาพเคลื่อนไหวแบบ 2 มิติ ที่เรียบง่ายตามทฤษฎีที่ “วอลท์ ดิสนีย์”  ได้เคยคิดค้นเอาไว้ตั้งแต่ยุค 1930 ในด้านการเคลื่อนไหวให้ดูมีชีวิตชีวาโดยภาพที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียง “แสง” รูปทรงคล้ายเจลลี่ที่เคลื่อนที่ไปมาสอดคล้องกับจังหวะและอารมณ์ที่ดูเป็นธรรมชาติในเวลานั้น (ท่านสามารถหาชมภาพของระบบ “Yui” ได้ทาง youtube เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น)

ระบบยูอินั้นถือเป็นศูนย์กลางของการสื่อสารทั้งหมดแต่นอกจากที่จะ “ทำงาน” ให้ลุล่วงไปแล้ว สิ่งที่ยูอิแตกต่างจากคอมพิวเตอร์ทั่วไปก็คือมันพยายามที่จะ “เข้าใจ” ในตัวของผู้ขับขี่ด้วยว่าหงุดหงิดหรือร่าเริงและปลอบประโลมหรือเฮฮาไปกับเราในช่วงเวลานั้น ๆ ผ่านทางเซ็นเซอร์ไบโอเมตริกนานาชนิดในวิถีที่เป็นธรรมชาติในแบบที่เพื่อนมีให้กับเพื่อน อาทิ เมื่อมันจับสัญญาณได้ว่าเรากำลังเดินเข้ามาใกล้รถมันก็จะกะพริบตา (ไฟหน้า) ทักทายเรา หรือ หากมันสังเกตได้ว่าเรารู้สึกอ่อนเพลียมันก็จะเลือกเส้นทางที่ถนนขรุขระน้อยหรือเส้นทางที่นั่งสบายที่สุดให้เราโดยอัตโนมัติ ถือได้ว่าระบบ “ยูอิ” เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่มีทักษะในการขับที่หลากหลาย รวมไปถึงสภาพร่างกายที่แตกต่างสามารถเพลิดเพลินไปกับการเดินทางในรูปแบบที่ผ่อนคลายและอบอุ่นจากการมีเพื่อนร่วมทางที่รู้ใจ

ส่วนการออกแบบตัวถังภายนอกนั้น มีความพยายามที่จะใส่องค์ประกอบที่หลากหลายเข้าไปบนตัวรถ อาทิ ประตูแบบกรรไกรที่ฐานด้านล่าง “ใส” ที่นักออกแบบเชื่อว่าจะทำให้เรารู้สึกถึงการเคลื่อนที่ได้มากขึ้นและเพิ่มความ
ตื่นเต้นในการขับขี่ ไปจนถึงการใช้องค์ประกอบเล็ก ๆ ซ้ำ ๆ มาเรียงต่อกันด้านท้ายรถที่พวกเขาเรียกว่า “หางของดาวหาง” เพื่อช่วยลดน้ำหนักทางสายตาและเพิ่มความรู้สึกของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกด้วย

เรียกได้ว่าเป็นคำตอบให้กับเหล่านักออกแบบที่สงสัยว่าในอนาคต หากรถยนต์วิ่งได้ด้วยตัวเองแล้วล่ะก็ เราจะขาดปฏิสัมพันธ์กับมันไปและมองมันเป็นเพียงเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นหนึ่งหรือไม่และยังคงมี “ความรู้สึก” กับมันอยู่อีกหรือเปล่า โตโยต้า คอนเซปต์-ไอ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามันดูน่าใช้และยังสนุกกับมันได้แน่นอน

ที่มา – ภัทรกิติ์ โกมลกิติ