เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

         เมื่อตกอยู่ในภาวะ “อกหัก” อาการที่มักพบ
คือ เสียน้ำตา ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เจ็บแปลบจี๊ดใจ ครุ่นคิดต่าง ๆ นานา
ความเจ็บปวดดังกล่าว อาจารย์หยกฟ้า อิศรานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ ว่า
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ UCLA ศึกษาว่าคนเราอกหักสมองส่วนไหนทำงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับความรู้สึกตรงนี้
พบว่าเป็นสมองส่วนเดียวกันกับเวลาที่เราได้รับการบาดเจ็บทางร่างกาย ก็จะรู้สึกว่าเจ็บปวดรวดร้าว

           สำหรับวิธีเบื้องต้นในการรับมือกับภาวะอกหัก ในกรณีที่เพิ่งอกหัก หรือ อกหักได้ไม่นาน
อาจารย์หยกฟ้า ได้ยกตัวอย่าง 5 วิธี คือ “แชร์ริ่ง แบ่งปัน”
อาจจะเล่าให้เพื่อนสนิทฟัง
ระบายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น การได้ระบายออกก็ช่วยลดภาวะเครียดภายในจิตใจลงได้ ได้แชร์ความรู้สึกของเราที่ไม่ดีกับคนอื่น
ความรู้สึกที่ไม่ดีของเราก็จะลดลงภายในใจ เพราะได้พูดออกไปแล้ว พอเราเก็บ
มันอัดอยู่ข้างในไม่รู้จะไประบายกับใคร พอระบายหลาย ๆ คนจะรู้สึกว่าดีขึ้น

          วิธีการที่ 2 คือ “นั่งสมาธิ” ซึ่งเป็นผลการวิจัยของที่จอห์นฮอปกินส์
โดยใจจะสบายขึ้น มีสติรู้อยู่กับตัวเอง ตอนนี้อารมณ์เกิดอะไร
ระงับอารมณ์ของเราที่เกิดขึ้นได้ แล้วก็จะเชื่อมโยงไปถึงข้อที่ 3 คือ “นอนหลับ” ต้องนอนหลับอย่างเพียงพอ
แต่ ! อกหักแล้วมักจะนอนไม่ค่อยหลับ เพราะครุ่นคิด เครียด
แล้วจะทำอย่างไรให้นอนหลับ ก็คือใช้เทคนิคที่ 2 ทำสมาธิ หรือ
ไปออกกำลังกาย ให้เหงื่อออก ได้ใช้พลังงาน ก็จะนอนได้ดีขึ้นกว่าการนั่งเฉย ๆ
จับเจ่าอยู่กับความเครียด อยู่ในห้องอับ ๆ ไม่ดี ไม่ได้ช่วยอะไร ออกไปข้างนอก
เปิดหูเปิดตา

          “เล่นกีฬา ออกกำลังกาย” เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยทำให้อาการอกหักดีขึ้น
เพราะร่างกายจะหลั่งสารโดปามีน เอ็นโดฟินส์ สารที่ช่วยให้มีความสุข

           และเทคนิคที่ 5 นักจิตวิทยาแนะนำว่า
ให้ลองจินตนาการว่าเรามีบทสนทนากับอดีตแฟน อาจเขียนในไดอารี่ส่วนตัวระบายความรู้สึกให้หมด
“แล้วปิดท้ายด้วยการเป็นฝ่ายบอกเลิกเอง”
การสมมติจินตนาการอะไรบางอย่างแบบนี้
ได้แสดงความรู้สึก คำพูดอะไรออกมาบ้าง จะรู้สึกไม่ใช่ถูกกระทำแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีการศึกษาโดยนำคำแนะนำพวกนี้ไปทดลองกับกลุ่มตัวอย่างที่ประสบ
หรือ เผชิญกับปัญหาอกหัก ก็มีบางคนหลุดพ้นจากอาการจับเจ่าลง แล้วก็สามารถไปมีความรักครั้งใหม่ได้

           นอกจากนี้ เวลาอกหักมีงานวิจัยที่บอกว่า ถ้าหลัง 4 เดือนแล้วยังไม่หาย
ควรหาใครปรึกษาได้แล้ว อาจเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาก็ได้ ว่าจะทำวิธีการไหน
หากปล่อยไว้จะไม่เป็นผลดีกับร่างกาย
และจิตใจ เพราะเวลาอกหักมักจะหดหู่ มีความสนใจใส่ใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง
ไม่มีกะจิตกะใจอยากจะทำอะไร แรงจูงใจก็จะเปลี่ยน บางคนไม่อยากกินข้าว
ไม่อยากทำอะไรเลย ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะลดลง เพราะใจไปหมด

           “อกหัก” เป็นภาวะที่ผ่านพ้นได้
อย่าลืมมองผู้ที่รักเรา โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เป็น “อันคอนดิชั่นเนอร์
เลิฟ (Unconditional Love)” จริง ๆ … ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
อย่าลืมรักตัวเอง และครอบครัว.