เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ทุกวันพระจันทร์เต็มดวงในเดือน 10 ตามปฏิทินฮินดูซึ่งปกติจะตกอยู่ในช่วงเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์  “เทศกาลไทปูซัม” เทศกาลสำคัญที่ชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬทั่วโลกเขาจะเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรำลึกถึง “เทพมุรุกัน” หรือ “พระขันธกุมาร” ความยิ่งใหญ่ของเทศกาลนี้นั้นจะเป็นรองก็แค่ “เทศ กาลดีปาวลี” หรือวันปีใหม่ของชาวฮินดูเท่านั้นเอง

ศาสนาฮินดูนั้นเป็นศาสนาที่มีพัฒนาการมาจากศาสนาพราหมณ์และนับถือเทพเจ้าหลายองค์ แต่ละองค์ในแต่ละยุค แต่ละสมัยก็จะมีบทบาทและตำนานที่แตกต่างกันออกไป ที่คนไทยเรารู้จักกันดีก็เช่น พระพรหม พระศิวะ พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดของฮินดู

ในอาเซียนบวก 6 มีการเฉลิมฉลองเทศกาลไทปูซัมกันมากในอินเดียตอนใต้ซึ่งมีชาวฮินดูเชื้อสายทมิฬอาศัยอยู่มาก ส่วนใน AEC ของเราก็มีการเฉลิมฉลองกันที่มาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเฉพาะที่มาเลเซีย ซึ่งคนของเขามีอยู่ราว ๆ 8% เป็นชาวฮินดูนั้นได้ประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในหลาย ๆ รัฐ อาทิ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ปุตราจายา ยะโฮร์ เนกรีเซมบีลัน เประ ปีนัง และสลังงอร์

ในช่วงเทศกาลนี้ ผู้ที่จะเข้าร่วมพิธีหรือผู้อุทิศตนจะต้องเตรียมจิตใจและร่างกายและดวงวิญญาณให้พร้อมและบริสุทธิ์อย่างเต็มที่ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป บางคนใช้วิธีอดอาหาร บางคนใช้วิธีทานมังสวิรัติ และส่วนมากจะถือศีล สวดมนต์และนั่งสมาธิก่อนจะไปรวมตัวกันที่วัดฮินดู โดยเฉพาะวัดศรีมหามาเรียมมัน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ไชน่าทาวน์ของ มาเลเซียนั่นแหละครับ โดยผู้เข้าร่วมพิธีส่วนมากมักจะนำดอกไม้และผลไม้สีเหลืองและสีส้ม รวมทั้งแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเหลืองและสีส้ม ซึ่งเป็นสีโปรดของพระขันธกุมาร เมื่อถึงเที่ยงคืน ผู้ร่วมพิธีทั้งหมดก็จะเดินเท้าไปยังถ้ำบาตูที่อยู่ห่างออกไปราว 15 กิโลเมตร ซึ่งกว่าจะถึงก็รุ่งเช้าพอดีครับ

ผู้ที่อุทิศตนที่ได้เตรียมร่างกายจิตใจและดวงวิญญาณจนบริสุทธิ์ผุดผ่องแล้วนั้นไม่ได้เดินตัวเปล่านะครับ แต่พวกเขาจะต้องแบกหรือลาก “กาวาดี” ซึ่งมักจะทำจากไม้หรือโลหะแล้วประดับด้วยรูปปั้นเทพเจ้าทั้งหลายที่ชาวฮินดูเคารพนับถือ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือ “เทพมุรุกัน” ส่วนบนศีรษะเขาก็จะทูนหม้อบรรจุนมไปด้วย

ผู้อุทิศตนหลายคนจะอยู่ในสภาพเหมือนเจ้าเข้าสิง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นบรรดาญาติพี่น้องก็จะช่วยกันประคองพาร่างที่โดนเจ้าเข้าสิงพาเดินไปในขบวน ผู้อุทิศตนบางส่วนก็จะทรมานตัวเองเพื่อบูชาเทพเจ้าด้วยการเจาะตามร่างกายตัวเองด้วย ห่วงแหลมโดยไม่รู้สึกเจ็บปวด ภาพก็จะคล้าย ๆ เทศกาลกินเจที่ภูเก็ตบ้านเรา เพียงแต่ผู้คนจะเบียดเสียดมากกว่ามาก เพราะทุกปีจะมีชาวฮินดูเข้ามาร่วมพิธีนี้นับล้านคนเลยทีเดียว

สถานที่สำคัญของเทศกาลไทปูซัมที่มาเลเซียนี่อยู่ที่จุดหมายปลายทางคือ “ถ้ำบาตู” ที่มีรูปปั้นเทพมุรุกันสูง 42.7 เมตร อยู่นี่แหละครับ กว่าผู้เข้าร่วมพิธีจะเดินเข้าไปถึงจุดที่ทำพิธี พวกเขาจะต้องเดินขึ้นบันไดหิน 272 ขั้น ซึ่งแค่เดินขึ้นตัวเปล่า ๆ ก็ยากอยู่แล้ว แต่นี่ต้องเดินเท้ามาไกลถึง 15 กิโลเมตรเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมง แล้วยังต้องขึ้นบันไดอีก 272 ขั้น แถมผู้อุทิศตนยังต้องแบกหรือลาก “กาวาดี” มาด้วยอีกต่างหาก ดังนั้นหากร่างกายจิตใจและดวงวิญญาณไม่บริสุทธิ์และเต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าแล้วละก็ ไม่มีทางมาถึงจุดที่จะทำพิธีแน่นอน

หากสนใจจะไปชมเทศกาลไทปูซัมละก็ผมแนะนำให้เตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจนะครับ เพราะภาพผู้อุทิศตนที่มีเจ้าเข้าสิงและผู้อุทิศตนที่ทรมานตัวเองด้วยการเจาะร่างกายส่วนต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่คุ้นเคยหรือใจไม่ถึงนี่ถึงกับเข่าอ่อนได้ง่าย ๆ เลยนะครับ ที่สำคัญนอกจากชาวฮินดูนับล้านคนแล้วยังมีนักท่องเที่ยวอีกมากมายที่จะเข้ามาเบียดเสียดกับท่านผู้อ่าน ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมจริง แต่ผมว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตเราควรจะได้ไปอะเมซิ่งกับ “เทศกาลไทปูซัม”ที่มาเลเซียกันนะครับ

ภาพจาก – new china

เรียบเรียง – เกษมสันต์ วีระกุล