เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

หมดยุคแรงงานคน “พีไอเอ็ม” จับมือ “บริษัทหุ่นยนต์ทั่วโลก” เปิดหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์ ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 คาดปี 2561 ทั่วโลกใช้หุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมพุ่ง 2.3 ล้านตัว ในไทยเองก็ใช่ย่อยเป้าหมายใช้กว่า 4 หมื่นตัว ชี้นวัตกรรมโลกพัฒนาไกลเข้าสู่ยุค “หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม” เติบโตแบบก้าวกระโดด ฟันธงอุตสาหกรรมหุ่นยนต์มาแรงแซงอุตสาหกรรมรถยนต์แน่

นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พีไอเอ็ม กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กำลังเป็นที่สนใจเป็นอย่างมากในระดับนานาชาติ และในปีการศึกษา 2560 นี้ พีไอเอ็ม พร้อมเปิดหลักสูตรปริญญาตรี “วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ”  โดยผู้เรียนจะได้มีโอกาสสัมผัสกับนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยที่สุดระดับนานาชาติ พร้อมกับได้คลุกคลีกับเนื้อหา การปฏิบัติงาน และเครือข่ายบริษัทผู้ผลิตชั้นนำของโลกตลอดระยะเวลา 4 ปีของหลักสูตร รวมไปถึงมีโอกาสได้ฝึกนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้จริงกับบริบทของประเทศไทยภายใต้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

จากการคาดการณ์ ในปี 2561 จะมีการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากถึง 2,327,000 ตัวทั่วโลก และ 41,600 ตัวในประเทศไทย (ที่มา: IFR – International Federal of Robotics) ซึ่งเมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของทางรัฐบาลที่เน้นย้ำการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาประเทศ และการที่ “หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม” เป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)      ที่เร่งพัฒนาเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยแบบก้าวกระโดด ทำให้สามารถสรุปได้ว่าโลกมีความต้องการทางด้านหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมสูง และเชื่อว่าในอนาคตอุตสาหกรรมดังกล่าวจะใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งในประเทศไทยก็ได้มีการตื่นตัวในเรื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเห็นได้จากการจัดตั้งคลัสเตอร์หุ่นยนต์ในปีที่ผ่านมา เพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว

 

ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม กล่าวว่า   หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้ตรงกับความต้องการในช่วง 4 – 5 ปีข้างหน้านั้น ขณะนี้ทางพีไอเอ็มกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการสร้างศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่มาพร้อมห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง 4 ส่วน ด้วยเงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้วยห้องปฏิบัติการอย่างครบวงจร ในศูนย์ฯดังกล่าวจะประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ ส่วนที่ 2 ห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติ  ส่วนที่ 3  ห้องปฏิบัติการควบคุมการสั่งงาน (Computer Numerical Control : CNC) และซอฟต์แวร์ระบบหุ่นยนต์  ส่วนที่ 4 ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมทางวิศวกรรม ภายในแต่ละห้องจะมีอุปกรณ์จริงที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนหุ่นยนต์ และนวัตกรรมต่างๆ จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนระดับนานาชาติรวมกว่า 10 หน่วยงาน  สำหรับท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ พีไอเอ็ม (สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์) ถนนแจ้งวัฒนะ โทรศัพท์ 02-832-0200

ที่มา – banmuang