เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

เมืองพิษณุโลก (ยุคอยุธยา) มีวัดพุทไธศวรรย์ สถาปนาโดยพระบรมไตรโลกนาถ เลียนอย่างวัดพุทไธศวรรย์ อยุธยา (ซึ่งมีนิทานบอกว่าเดิมเป็นเวียงเหล็กของพระเจ้าอู่ทอง วีรบุรุษในตำนานของกลุ่มสยาม ฟากตะวันตก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

วัดพุทไธศวรรย์ เมืองพิษณุโลก อยู่ที่ไหน? ผมเคยตั้งคำถามโดยเดาสุ่มไปว่าเป็นวัดจุฬามณีได้ไหม? เพราะสร้างโดยพระบรมไตรโลกนาถ และโคลงยวนพ่ายไม่กล่าวถึง แต่ออกชื่อวัดพุทไธศวรรย์

อ. ประภัสสร์ ชูวิเชียร อธิบายพร้อมแสดงหลักฐานน่าเชื่อถืออย่างยิ่งว่า วัดพุทไธศวรรย์ เมืองพิษณุโลก ปัจจุบันคือวัดวิหารทอง อยู่ฝั่งตะวันตกแม่น้ำน่าน (ตรงข้ามวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)

เนื้อหาวิชาการทั้งหมด จะยกมาแบ่งปัน ต่อไปนี้

ชื่อวัดพุทไธศวรรย์ ในยวนพ่ายโคลงดั้น

โคลงยวนพ่าย หรือลิลิตยวนพ่าย เป็นวรรณคดียอพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1991-2031) ได้รับการยอมรับว่าแต่งขึ้นร่วมสมัยกับเหตุการณ์จริงในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 จึงมีความน่าเชื่อถือ

ส่วนต้นของเรื่องยวนพ่ายเป็นการพรรณนาพระราชประวัติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไล่เรียงตั้งแต่พระราชสมภพ มาจนถึงเหตุการณ์เมื่อเกิดกรณีขัดแย้งกับล้านนา พระองค์เสด็จมาประทับ ณ เมืองพิษณุโลก (ขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าเมืองชัยนาท) ทรงผนวช แล้วทรงลาผนวช โคลงบทต่อจากนั้นกล่าวว่า

๏ ปางสร้างอาวาศแล้ว ฤๅแสดง
คือพุทไธสวรรยหมาย ชื่อชี้
ปางถกลกำแพงพระ พิศณุโลกย แล้วแฮ
อยู่ช่างพระเจ้าฟี้ เฟื่องบร

ถอดความสั้นๆ ว่า ทรงสร้างวัดแห่งหนึ่งชื่อ วัดพุทไธศวรรย์ จากนั้นก็ทรงโปรดให้ก่อกำแพงเมืองพิษณุโลกจนแล้วเสร็จ
เป็นที่น่าสงสัยว่า วัดพุทไธศวรรย์ที่กล่าวถึงในโคลง จะหมายถึงวัดพุทไธศวรรย์ที่พระนครศรีอยุธยาหรือไม่ เนื่องจากเอกสารพระราชพงศาวดารหลายฉบับก็กล่าวตรงกันว่าวัดแห่งนี้สร้างมาก่อนแล้วโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20

วัดพุทไธศวรรย์ อยู่ที่พิษณุโลก

เหตุการณ์ที่โคลงยวนพ่ายกล่าวถึงนั้น ครอบคลุมอยู่ในระยะที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถยังทรงประทับอยู่ที่เมืองชัยนาท-สองแคว จึงเชื่อได้ว่าวัดที่กล่าวถึงนี้จะต้องถูกสร้างขึ้นที่นั้นด้วย ทั้งนี้ในขณะนั้นเมืองพิษณุโลกยังคงแบ่งออกเป็นเมืองฟากตะวันตกคือสองแคว กับฟากตะวันออกคือชัยนาท โคลงบทเดียวกันนี้แสดงให้เห็นว่าในระยะใกล้เคียงกับการสร้างวัดชื่อพุทไธศวรรย์ ได้มีการก่อกำแพงเมืองขึ้นใหม่เพื่อล้อมรอบเมืองสองแควและชัยนาทเข้าจนเป็นเมืองเดียวกัน ชื่อว่า พิษณุโลก

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ สันนิษฐานว่าวัดพุทไธศวรรย์ที่กล่าวถึงนั้นอยู่ที่เมืองพิษณุโลก แต่จะเป็นที่ใดท่านยังมิได้ระบุแต่ฝากให้ค้นคว้ากันต่อไป

ข้อน่าสงสัยต่อมา ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์(พงศาวดารอยุธยาที่ชำระในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) กล่าวถึงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสร้างวัดจุฬามณีขึ้นเพื่อการผนวชในปี พ.ศ.2007-2008 แต่ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างวัดชื่อพุทไธศวรรย์เลย จึงมีการสันนิษฐานกันว่าวัดจุฬามณีแห่งนี้เองคือวัดพุทไธศวรรย์ในโคลงยวนพ่าย

วัดจุฬามณี ไม่ใช่วัดพุทไธศวรรย์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม ได้วิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมและปูนปั้นปรางค์วัดจุฬามณี จ. พิษณุโลกไว้โดยละเอียด ได้ผลการกำหนดอายุตรงกับที่กล่าวในพงศาวดารว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับช่วงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

แม้อายุสมัยจะสอดรับกัน แต่ข้อมูลทางเอกสารบ่งชี้ว่าวัดจุฬามณีไม่ควรเป็นวัดพุทธไศวรรย์ เพราะนอกจากชื่อที่ต่างกันแล้ว ในจารึกที่ติดอยู่กับผนังมณฑปพระพุทธบาทของวัดจุฬามณี (จารึกในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) ยังออกชื่อตรงกันกับตัวโบราณสถานว่าวัดจุฬามณี แสดงว่าความทรงจำของชื่อวัดได้ตกทอดอยู่ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 23 ขณะเดียวกัน ข้อมูลสำคัญในโคลงยวนพ่าย ได้ลำดับเหตุการณ์ว่า วัดพุทไธศวรรย์นั้นสร้างหลังจากทรงลาผนวชแล้ว ผิดกับวัดจุฬามณีที่ทรงสร้างขึ้นก่อนทรงผนวช หรือคงสร้างเพื่อเตรียมจะทรงผนวชที่วัดจุฬามณีนี่เอง

ศาสตราจารย์ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อ พ.ศ. 2007 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถต้องทรงออกไปผนวชยังวัดเล็กๆ อย่างวัดจุฬามณี ก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกของราชสำนักเมืองเหนือที่จะกระทบกระเทือนหากพระองค์ทรงผนวชในวัดหลวงดังเช่นวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเชื้อพระวงศ์ฝ่ายสุโขทัยมายาวนาน สะท้อนว่าในระยะแรกที่พระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว-ชัยนาท-พิษณุโลกนั้น พระองค์ยังทรง “เกรงใจ” พระญาติวงศ์ข้างเมืองเหนืออยู่มาก ด้วยเหตุนี้ จึงอาจเป็นสาเหตุที่ไม่ปรากฏเนื้อหาการสร้างวัดจุฬามณีในโคลงยวนพ่าย เนื่องจากถือเป็นงานเล็กๆ ที่เป็นพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ แต่ในทางกลับกัน การสร้างวัดพุทไธศวรรย์ย่อมจะต้องเป็นงานขนาดใหญ่ระดับงานหลวงซึ่งมีผู้รับรู้กันโดยทั่วไป

ดังนั้น วัดจุฬามณีที่พิษณุโลกจึงไม่น่าใช่วัดพุทไธศวรรย์ที่ระบุในยวนพ่าย

มีอะไรบ่งชี้ความเป็นวัดพุทไธศวรรย์?

เราอาจใช้ข้อมูลเท่าที่มีในโคลงยวนพ่ายและบริบทมาเพื่อสร้างกรอบเพื่อบ่งชี้ความเป็น “วัดพุทไธศวรรย์” ที่สมเด็จพระบรมไตรสร้างขึ้นได้ ดังนี้

1. เป็นวัดที่สร้างในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เพราะโคลงระบุว่าสร้างหลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงลาผนวชไม่นาน และควรจะเป็นก่อนปี พ.ศ.2017-2018 อันเป็นสงครามชี้ขาดระหว่างอยุธยากับล้านนาที่เมืองศรีสัชนาลัย อันเชื่อว่าเป็นเรื่องราวหลักที่ถูกกล่าวถึงในโคลงยวนพ่าย

2. เป็นวัดขนาดใหญ่ระดับวัดหลวง ซึ่งควรจะต้องอยู่ภายในตัวเมืองพิษณุโลก และควรอย่างยิ่งที่จะอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ซึ่งเป็นส่วนที่ราชวงศ์สุพรรณภูมิได้มีอำนาจอยู่ มิใช่ฝั่งตะวันออกอันเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และองค์พระพุทธชินราชของฝ่ายสุโขทัยอยู่ก่อนแล้ว

3. น่าจะเป็นวัดที่มีพระปรางค์เป็นประธาน เนื่องจากชื่อวัดอาจเทียบเคียงกับวัดพุทไธศวรรย์ที่อยุธยาซึ่งมีปรางค์ประธานตามระบบของวัดในสมัยอยุธยาตอนต้น
4. เป็นวัดที่มีงานศิลปกรรมแบบแผนตามแบบศิลปะอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 กล่าวอย่างง่ายๆ คือยังมีเค้าของงานศิลปกรรมแบบอยุธยาตอนต้นอยู่บ้าง แต่อาจคลี่คลายเข้าสู่ช่วงอยุธยาตอนกลาง

จากกรอบที่ตั้งไว้กว้างๆ นี้ จะพอมองเห็นว่า วัดวาอารามโบราณในเมืองพิษณุโลก ทางฝั่งตะวันออกส่วนใหญ่มีร่องรอยงานช่างแบบสุโขทัย เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุองค์เดิมที่อาจเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (คงถูกปฏิสังขรณ์เป็นปรางค์ในปี พ.ศ. 2025) องค์พระพุทธชินราช วัดเจดีย์ยอดทอง

ขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกนั้นเคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังจันทน์ซึ่งเชื่อว่าเป็นศูนย์อำนาจของทางอยุธยา/สุพรรณภูมิ และมีโบราณสถาน 2 แห่ง คือ วัดวิหารทอง กับวัดศรีสุคต ตั้งอยู่เป็นวัดหลวงใจกลางเมืองในอาณาบริเวณของพระราชวังจันทน์ด้วย วัดทั้งสองแห่งจึงน่าพิจารณามากกว่าที่อื่นๆ

วัดวิหารทอง พิษณุโลก คือวัดพุทไธศวรรย์ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

วัดวิหารทอง ปรากฏซากฐานขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นทิศตะวันออกเข้าสู่มุขด้านหน้า ส่วนฐานที่เหลืออยู่เป็นฐานบัวลูกฟักอยู่ในผังยกเก็จอันเป็นระเบียบฐานของพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา รูปแบบที่น่าสังเกตคือมีการใช้ลวดบัวลูกแก้วอกไก่อันเป็นอิทธิพลศิลปะล้านนาที่พบมากในศิลปะอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 ผังของวัดมีฐานปรางค์ตั้งอยู่กึ่งกลาง และมีวิหารคู่ขนานกันด้านหน้าทางทิศตะวันออก

ส่วนวัดศรีสุคต เป็นโบราณสถานขนาดย่อมกว่า ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกวัดวิหารทอง ยังหลงเหลือฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ทรงระฆัง ซึ่งส่วนบนพังทลายไปหมดแล้ว มีปูนปั้นรูปพระสาวกเดินลีลารอบฐาน อันเป็นอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย เช่นที่ฐานไพทีวัดมหาธาตุ สุโขทัย

เนื่องจากการถูกทิ้งร้างมานาน ชื่อของโบราณทั้งสองในปัจจุบันคงถูกเรียกขึ้นใหม่เป็นสามานยนามอย่างเช่นวัดร้างโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ชื่อวัดวิหารทองกับวัดศรีสุคตจึงไม่น่าเป็นชื่อเดิมของวัดทั้งสองแห่ง

พิจารณาจากขนาดของวัดวิหารทองที่มี จึงเข้ากรอบข้อมูลของวัดพุทไธศวรรย์ที่ตั้งไว้ เช่น ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่านบริเวณใกล้กับพระราชวังจันทน์จึงเป็นวัดหลวง สิ่งก่อสร้างเป็นพระปรางค์ขนาดใหญ่ และรูปแบบศิลปกรรมโน้มเอียงไปในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ซึ่งผิดกับวัดศรีสุคตที่มีเจดีย์ทรงระฆังอิทธิพลสุโขทัย และยังมีขนาดเล็กกว่า
ดังนั้น ในที่นี้จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่โบราณสถานวัดวิหารทอง จะหมายถึงวัดพุทไธศวรรย์ที่ระบุในโคลยวนพ่ายว่าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

วัดพุทไธศวรรย์ สร้างพร้อมเมืองพิษณุโลก แล้วถูกหลงลืมไป

น่าสังเกตว่า การสร้างวัดพุทไธศวรรย์เป็นเหตุการณ์ใกล้เคียงกับการก่อกำแพงเมืองและรวมเมืองสองแควกับชัยนาท (ฝั่งตะวันตกกับตะวันออกแม่น้ำน่าน) เข้าด้วยกัน สถาปนาขึ้นเป็นเมืองพิษณุโลก วัดแห่งนี้จึงน่าจะเป็นสัญลักษณ์การรวมศูนย์กลางแห่งใหม่ขึ้นโดยเน้นพื้นที่ฝั่งตะวันตกที่เคยอยู่ในอำนาจของราชวงศ์สุพรรณภูมิขึ้นมา

ขณะเดียวกับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุของฝั่งตะวันออกนั้นยังคงเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ดั้งเดิมอยู่ คงต้องรอจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2025 ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงสามารถมีบทบาทกับราชสำนักฝ่ายเหนือได้อย่างเต็มที่ จึงได้ย้อนกลับไปสถาปนาอำนาจขึ้นที่พื้นที่ของราชวงศ์สุโขทัย ได้แก่การปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนมหาธาตุให้เป็นทรงปรางค์ตามอย่างอยุธยา

จึงเชื่อว่าเมื่อนั้นเอง ที่วัดพุทไธศวรรย์ของพระองค์ได้ลดความสำคัญลงจนต้องทิ้งร้างไปในสมัยหลังจนไม่มีผู้ใดจดจำชื่อเดิมได้ จึงหลงเหลือหลักฐานอยู่ในเอกสารโคลงยวนพ่ายเท่านั้น ขณะเดียวกันกับที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุและองค์พระพุทธชินราชยังถูกนับถือสืบกันลงมา ซึ่งคงเป็นเพราะการขึ้นมามีบทบาทอีกครั้งของราชวงศ์ฝ่ายเหนือที่พิษณุโลกหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั่นเอง

by TVPOOL ONLINE

TV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool OnlineTV Pool Online