เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

แม้ว่าการออมเงินจะเป็นเรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็สามารถทำได้ ตามแต่ที่เราจะถนัดนั้นมันก็จริงอยู่…แต่ถ้าไม่มีการวางแผนทางการเงินในละช่วงอายุอย่างเหมาะสมแล้วล่ะก็…ย่อมจะก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ เพราะในแต่ละช่วงอายุของคนเราสามารถรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนที่ดีให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและสามารถออมได้ถูกวิธีทำให้มีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอย่างสบาย ๆ

1. ช่วงวัยศึกษาเล่าเรียนหรือวัยก่อนเริ่มทำงาน (อายุ 0 – 21 ปี)


เป็นวัยที่ยังต้องพึ่งคุณพ่อ คุณแม่อยู่ เนื่องจากว่ายังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง เป็นวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรปลูกฝังวินัยด้านการออมให้เป็นนิสัย เพื่อเสริมสร้างอนาคตด้วยการออมอย่างมั่งคั่ง อนาคตที่มั่นคง เน้นเรื่องความเสี่ยงต่ำ ซึ่งการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับวัยนี้ก็คือ การนำเงินออมฝากไว้ในธนาคารเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นฝากออมทรัพย์ 50% ฝากประจำ 40% และวางแผนในการซื้อประกันชีวิตและในส่วนของประกันอุบัติเหตุเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีก 10%


2. ช่วงวัยเริ่มต้นสู่การทำงาน (อายุ 21 – 30 ปี)


เป็นวัยที่กำลังเริ่มเข้าทำงาน เริ่มมีภาระหน้าที่ เริ่มมีรายได้เข้ามาเป็นของตัวเอง แต่เป็นรายได้ที่ไม่มากนัก เป็นวัยที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ดังนั้นความสามารถในการออมเงินที่จะรับความเสี่ยงสูงได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้น เช่น เลือกลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 70% แถมยังนำสิทธิไปลดหย่อนภาษีได้ ซื้อประกันชีวิต 20% และฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 10 % ที่สำคัญต้องศึกษาหาข้อมูลก่อนการลงทุนครั้ง เนื่องจากยังเป็นวัยที่เริ่มเข้าสู่การลงทุน


3. ช่วงวัยเริ่มสร้างครอบครัว (อายุ 31 – 40 ปี)


เป็นวัยที่มีรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับสูง แต่มีความมุ่งมั่นในการก่อร่างสร้างตัวให้กับครอบครัว จึงมีภาระหนี้สิน ดังนั้นการเก็บออมเงินในอนาคตเพื่อวัยเกษียณอายุจึงต้องลดระดับความเสี่ยงลง ทำให้การจัดพอร์ตการลงทุนในวัยนี้ คือกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 50 – 60% ซื้อประกันชีวิต 25 – 30%, ส่วนที่เหลือ 10 – 20% นำไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ หรือฝากประจำ ,พันธบัตรรัฐบาล, กองทุนรวมตราสารหนี้ ,กองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี

4. ช่วงวัยหน้าที่การงานมั่นคง (อายุ 41-55 ปี)


เป็นวัยที่เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น มีการงานและเงินที่มั่นคง แถมยังมีการวางแผนการศึกษาให้กับลูก ๆ เนื่องจากมีรายได้สูงภาระทางการเงินเริ่มลดลง แต่ยังต้องมีความระมัดระวังเรื่องของการก่อหนี้เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นการออมเงินจึงต้องลดสัดส่วนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงลง แต่เป็นการวางแผนเพื่อเกษียณอายุมากขึ้น เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 30% ซื้อประกันชีวิต 30% เป็นเงินฝากประจำ กองทุนรวมตราสารหนี้ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ,กองทุนรวมตลาดเงิน 30% และฝากออมทรัพย์ 10%


5. ช่วงวัยเกษียณอายุ (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป)


เป็นวัยที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่รายได้มาจากเงินบำเหน็จ -บำนาญ เงินออม และผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนตั้งแต่วัยทำงานอยู่ ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากรายจ่ายในชีวิตประจำวันและค่ารักษาสุขภาพ ดังนั้นการออมเงินจึงอยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำ เป็นการรักษาเงินต้นและสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอ เช่น ฝากประจำ หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ 50% ,เงินฝากออมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงิน 30% ,กองทุนรวมหุ้นและกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) 10% และซื้อประกันชีวิต 10%


ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ยังมีมุมมองการลงทุนระยะยาวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เมื่อเรารู้ถึงวิธีการวางแผนการออมเงินและการลงทุนในแต่ละวัยกันแบบนี้แล้ว ก็อย่าลืมนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้คุ้มค่า และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมช่วงเกษียณอายุอย่างมีคุณค่า