เกาะติดข่าวดาราก่อนใคร

กดติดตาม “ทีวีพูล”

banner

ชี้ชะตาธุรกิจสิ่งพิมพ์ รวยรินกว่าทีวีดิจิตอลเยอะ

     เคยเห็นนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดอารมณ์หงุดหงิดกับสื่อที่มาสัมภาษณ์ใช่มั้ยครับ ท่านยัวะกับข้อสงสัยที่พูดไปแล้วเหมือนไม่เข้าใจ แล้วนำมาถามซ้ำ ในอดีต เสธ.หนั่น ก็เคยปิดปากไม่พูดกับนักข่าวเป็นอาทิตย์มาแล้ว เพราะพูดแล้วพูดอีกไม่เข้าใจซะที เรื่องคณะรัฐบาลกับสื่อมวลชนงอนกันเป็นเรื่องปกติและเกิดขึ้นตลอด นับแต่นี้ก็อย่าแปลกใจที่จะเห็นนายกประยุทธ์จะเหวี่ยงวีนกัสื่อเป็นระลอก

     สื่อมวลชนไม่ใช่ไม่รู้กับสิ่งที่ท่านพูดไป แต่ถามย้ำอีกทีเพื่อเป็นการยืนยันหรือคอนเฟิร์มว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อยากได้ยินจากปากชัดๆ นายกรัฐมนตรีทุกท่านมีปัญหากับนักข่าวหมด เพียงแค่ไม่เอามาเป็นอารมณ์นานๆ

      นักข่าวคือคนที่รู้แต่เอาสิ่งที่รู้มาถามเพื่อความกระจ่างเท่านั้นเอง ไม่คิดมาก อารมณ์ก็ไม่เสีย ถ้าอารมณ์เสียก็เหมือนพูดแทงใจดำนักข่าวบ่อยครับ

      การทำข่าวสมัยนี้สะดวกกว่าสมัยก่อนเยอะ ก่อนจะเขียนเรื่องอะไรถามกูเกิ้ลได้หมด เพียงแค่ว่าเราอยากเอาความจริงที่เป็นจริงนำเสนอจริงๆ หรือเปล่าเท่านั้นเอง

      บางทีก็เป็นคอลัมนิสต์ประเภทมวยที่ต่อยเอาใจคนดู ไม่สนกติกาหรือถูกกติกาแต่ต่อยเอามันบางคนเขียนทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ใช่ข้อมูลจริงก็เขียน เพราะแทงใจคนที่เข้าใจในมุมนั้นๆ เช่นกรณีช่อง 3 กับ กสทช. ครั้งนั้น คนกสทช.พูดชัดเจนถึงข้อขัดแย้ง 1, 2, 3, 4 และตอบข้อสงสัยของช่อง 3 ละเอียด 1, 2, 3, 4 แต่เวลาสื่อบางฉบับเขียนก็ไม่เอาข้อมูลนั้นมารายงาน เอาอย่างที่ตัวเองคิด

      หัวใจของข่าวที่ขายได้คือ ความขัดแย้งและเห็นต่าง ข่าวไหนแรงๆ สื่อไม่อยากให้จบเร็ว  ยิ่งคนเป๋ก็ยิ่งกระจายประเด็นออกไป… คือเป็นธรรมชาติของความเป็นข่าว พฤติกรรมผู้บริโภคข่าวในยุคนี้จึงเปลี่ยนแปลงไป

      ไทยรัฐ-เดลินิวส์-เนชั่น สื่อยักษ์ใหญ่ที่เป็นหลักของประเทศจึงเบนเข็มเข้าประมูลทีวีดิจิตอล ในอนาคตไม่นานนี้วิกฤตสิ่งพิมพ์จะเกิดอย่างแน่นอน ใครอยู่ในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ลองถามฝ่ายจัดจำหน่ายดูว่ายอดขายตกไปกี่เปอร์เซ็นต์-ทุกฉบับยอดตกหมด

      วิธีคิดของไทยรัฐ-เดลินิวส์ คือวิธีคิดที่เป็นโมเดลใหม่ของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ เขาปรับตัวและขยายฐานในขณะที่ยังเป็นเบอร์ 1 -เบอร์ 2 อยู่ เพราะสื่อยักษ์ทั้ง 2 เข้าใจดีว่า ข่าวทีวีเร็วกว่าข่าวหนังสือพิมพ์

      ข่าวทีวีมีภาพ-มีเสียง มีอารมณ์ร่วมกับข่าวนั้นๆ แต่ข่าวหนังสือพิมพ์มีมิติเดียวคือซื้อมาอ่านผ่านๆ แล้ววาง บางทีข่าวจากปากคนเดียวกัน ในทีวีพูดอีกอย่าง แต่หนังสือเขียนอีกอย่างก็มี และในที่สุดก็นำไปสู่การฟ้องร้องต่อกัน อย่างที่เห็นๆ

      ผมเชื่อว่าธุรกิจสิ่งพิมพ์คงจะอยู่ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นสื่อที่จับต้องได้  สื่อทีวีพูดแล้วก็หายไปกับอากาศ มันก็เหมือนขับรถเกียร์กระปุกกับเกียร์ออโต้ ขับได้เหมือนกันแต่สะดวกสบายต่างกัน

      เวลานี้สื่อที่น่าห่วงเคยคิดว่าทีวีดิจิตอลน่าห่วงว่าใครจะไป-ใครจะอยู่ เพราะประมูลสูง แข่งขันกันสูง โฆษณาขายไม่ได้ราคา จะอยู่กันได้อย่างไร แต่ความเป็นจริงสื่อที่น่าห่วงมากๆ ว่าใครจะอยู่จะไปคือสื่อสิ่งพิมพ์ต่างหาก เพราะยอดจำหน่ายเกือบทุกประเภทสิ่งพิมพ์ตกลงไปมากกว่า 50%

      หนังสือพิมพ์รายวันกระอักกว่า พวกยักษ์ๆ อาจไม่สะเทือนมาก ประเภทที่รองๆ ลงมาเหมือนรากเลือด โฆษณาก็เหือดแห้งยิ่งกว่าทะเลทรายยอดขายดิ่งเหว ค่าใช้จ่ายคงเดิม อย่าแปลกใจเลยถ้าจะมีบางเล่มเลย์ออฟพนักงาน ยอมจ่ายล่วงหน้า 3 เดือน เพื่อรักษาสถานะตัวเองไว้

      แล้วสื่อทีวีดิจิตอลล่ะ จะอยู่จะไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เป็นคำถามที่ทุกคนแคลงใจที่สุด เพราะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ สเกลธุรกิจ  ที่ต้องใช้เงินประดับหลายพันล้าน เป็นธุรกิจที่ธนาคารเข้ามามีบทบาททั้งสิ้น ทั้ง 24 สถานีที่ประมูล ไม่เว้นแม้กระทั่งช่อง 3 – ช่อง 3 เจ้าเก่าที่เงินมหาศาล
     ธนาคารเขามีทางออกให้กับลูกค้าเขาอยู่แล้วว่า ทิศทางที่ควรจะเป็นอยู่ตรงไหน และเก็บอย่างไร อย่าห่วงทีวีดิจิตอลเลย  ผมห่วงและใจหายในธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ใกล้ตัวเองมากกว่า

      ไหนๆ ก็พูดถึงสื่อแล้วขอเติมเรื่องทีวีดิจิตอลอีกนิดครับ ทีวีดิจิตอลเดินทางมา 1 ปีแล้ว ผู้บริหารสถานีที่คิดแบบตัวเอง ต้องมาคิดใหม่ในเชิงบริหารในปี 2558 จากที่เคยซื้อซีรีส์ฝรั่ง-ซีรีส์เกาหลี จากที่เขาเคยขายเรื่องละ 2-3 แสนบาท มีบางช่องที่ไปซื้อเขาเรื่องละ 5-6 ล้านบาท ตุนซีรีส์ไว้กั๊กคนอื่นก็ต้องทบทวนใหม่ เงินจมหลายร้อยล้าน-แต่ก็เป็นกำลังใจให้ขายโฆษณาได้คุ้มทุนนะครับ

      ทีวีดิจิตอล-ลงทุนสูงในระยะเริ่มต้น “ความแพง” อยู่ที่เครื่องไม้เครื่องมือ สตู-กราฟฟิก ถ้าเซ็ตลงตัวแล้วก็เหลือค่าใช้จ่ายไม่ถึง 10 ล้าน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แค่รู้จักบริหารเงิน-บริหารคนก็เพียงพอแล้ว ธุรกิจนี้เขาวัดกันที่สมองและความพยายาม

      จำคำพูดผมไว้เลยสิ่งที่คาดไม่ถึงจะเกิดขึ้นในธุรกิจทีวีดิจิตอลแบบ “ช็อกซีนีม่า” สิ่งที่คิดอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็เป็นได้

     Tony Aigner